เยาวชนสงขลา นำเสนอการจัดการขยะด้วย ‘ของเล่น’

        ทีมเยาวชน ม.ราชภัฏสงขลายึดแนวคิดพัฒนาเมืองเชิงสร้างสรรค์ โชว์ฟอร์มระบบจัดการขยะด้วย ‘ของเล่น’


เยาวชนสงขลา นำเสนอการจัดการขยะด้วย ‘ของเล่น’ thaihealth


        เป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่นอกจากจะเข้ากระแสรักษ์โลกช่วยลดโลกร้อนได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังเป็นกิจกรรมช่วยกระชับความสัมพันธ์ให้กับชุมชนอีกด้วย สำหรับ “โครงการระบบการจัดการขยะเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนเก้าเส้ง” ผลงานการสร้างสรรค์ของทีมเยาวชนมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา หนึ่งในโครงการชนะเลิศจาก “โครงการส่งเสริมพื้นที่ชุมชนสร้างสรรค์ด้วยพลังเยาวชน : Love Your Local Love Your City” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


        “อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล” ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวว่า เป็นเวลากว่า 10 เดือนแล้ว ที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำ “โครงการส่งเสริมพื้นที่ชุมชนสร้างสรรค์ด้วยพลังเยาวชน : Love Your Local Love Your City” ที่มีเป้าหมายให้เยาวชนในสถาบันอุดมศึกษาในภูมิภาคได้มีโอกาสเรียนรู้และเปิดรับประสบการณ์ต่อแนวคิดการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ และให้โอกาสในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านการออกแบบบริการ มาใช้ในการพัฒนาโครงการพื้นที่สร้างสรรค์ในชุมชนได้จริงจากเยาวชน 14 ทีมต้นแบบ จาก 14 สถาบันการศึกษาในเครือข่ายของ miniTCDC (โครงการกระจายโอกาสสร้างแหล่งเรียนรู้สู่ภูมิภาค) โดย “โครงการระบบการจัดการขยะเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนเก้าเส้ง” จากนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ถือเป็น 1 ใน 3 โครงการดีเด่นที่ได้รับคัดเลือกและได้รับทุนสนับสนุนให้ลงมือจัดทำโครงการในพื้นที่จริงจนบรรลุเป้าหมาย ณ ชุมชนเก้าเส้ง ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา


      “ผลงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ถือเป็นส่วนหนึ่งความสำเร็จของ Love Your Local Love Your City ของทีมต้นแบบในเครือข่ายของ miniTCDC แสดงให้เห็นว่าพวกเขาได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ มีการระดมความเห็นจากชุมชน วิเคราะห์ปัญหา และเสนอแนวทางแก้ปัญหาของชุมชนในรูปแบบโครงการที่สามารถพัฒนาต่อยอดให้เกิดขึ้นจริง โดยโครงการที่ได้รับคัดเลือกจะมาถึงจุดนี้ได้ ต้องผ่านการนำเสนอต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้เกิดความเชื่อมั่นรับรู้ถึงตรรกะและการแก้ปัญหาของชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยโครงการนั้นๆ จะต้องมุ่งสู่การยกระดับสุขภาวะกายและสุขภาวะจิตใจ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อให้โครงการที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคตนั้นมีความยั่งยืน”


       สำหรับ “โครงการระบบการจัดการขยะเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนเก้าเส้ง” เป็น 1 ใน 3 โครงการดีเด่นที่ได้รับทุนสนับสนุนให้ลงมือจัดทำโครงการในพื้นที่จริง โดยเป็นผลงานของนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จากการลงสำรวจพื้นที่ใกล้ชายหาดชลาทัศน์ พบว่าปัญหาขยะเกิดจากคนในชุมชนนำมารวมทิ้งเป็นจุดเดียว โดยปราศจากการนำไปยังจุดรถขยะของเทศบาลมาเก็บ ส่งผลให้น้ำในคลองเน่าเสีย อีกทั้งปัญหาเดียวกันยังเป็นการจำกัดพื้นที่ของสนามเด็กเล่นสำหรับเด็กเล็กและสนามฟุตบอลสำหรับเยาวชนอีกด้วย


  เยาวชนสงขลา นำเสนอการจัดการขยะด้วย ‘ของเล่น’ thaihealth     จากปัญหาดังกล่าวนำไปสู่การแก้ไข ด้วยการออกแบบ “ระบบ” จัดการขยะผ่านการสร้างประสบการณ์ใหม่ ด้วยเครื่องมือสำคัญอย่าง “ของเล่น” ที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กๆ ในชุมชนได้มีกิจกรรมสนุกๆ ที่มาพร้อมกับการสร้างจิตสำนึกด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็น “รถเข็นคัดแยกขยะ” ตามจุดต่างๆ เพื่อนำมาเข้าสู่กระบวนการคัดแยก โดยขยะรีไซเคิลนั้นจะถูกส่งต่อให้ร้านรับซื้อของเก่า และขยะทั่วไปจะถูกนำไปทิ้งที่ถังเทศบาล โดย “รถถังกู้ชีพ” จะเปลี่ยนการวิ่งเล่นตามพื้นที่ซอกซอยของเด็กๆ ให้มีประโยชน์มากขึ้น เป็นรถเข็นกู้ชีพช่วยเก็บขยะสะสมตามพื้นดิน ลดจำนวนขยะและทำความสะอาดพื้นที่ส่วนรวมให้น่าอยู่กว่าเดิม


       นอกจากนี้ในโครงการเดียวกันนี้ ยังได้ออกแบบระบบธนาคารขยะ เพื่อให้คนในชุมชนเกิดมุมมองใหม่ต่อขยะอย่างมีมูลค่าเพิ่มและเป็นการสร้างรายได้เสริม มีการสนับสนุนร้านรับซื้อของเก่า และส่งเสริมกิจกรรมน้ำหมักจากเศษอาหารสำหรับใช้ในครัวเรือนอีกด้วย รวมถึงการขยายพื้นที่การบำบัดและการทำฝายกั้นคลอง เป็นการมองโอกาสใหม่ท่ามกลางวิกฤติของปัญหา เกิดเป็นความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างคนในชุมชนที่ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน สร้างความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป


       ด้าน น.ส.ชยานันต์ หวานแก้ว หนึ่งในตัวแทนผู้ริเริ่มโครงการระบบการจัดการขยะเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนเก้าเส้ง เล่าถึงการทำงานในโครงการนี้ว่า ทีมของเราเริ่มต้นการออกแบบของเล่นจากการศึกษาเพิ่มเติมจากห้องสมุด TCDC ประกอบกับการศึกษาดูงานที่ปีนัง ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของ สสส. ร่วมกับ TCDC มาเป็นข้อมูลในการออกแบบรูปแบบของถังขยะให้มีสีสันสดใส ดึงดูดความน่าสนใจจากเด็กๆ โดยดัดแปลงจากขยะวัสดุที่มีอยู่ในชุมชนมาตกแต่งเพิ่มเติม


      “เพราะคนในชุมชนไม่ค่อยสนใจว่าจะเก็บหรือทิ้งให้ลงถังขยะ ดังนั้นเวลานำตัวโมเดลของจริงมาตั้งให้ เราจึงออกแบบให้สะดุดตา เพื่อให้น้องๆ แปลกใจว่ามันคืออะไร และเราก็สอนวิธีเก็บขยะมาเล่นกับตัวโมเดล ตอนแรกก็มีรางวัลให้เป็นลูกอมสำหรับน้องๆ ที่เก็บขยะมาลงถัง แต่พอทำไปเรื่อยๆ จนน้องๆ เริ่มสนุกกับถังขยะของเล่น สนุกกับรูปร่างของตัวหุ่นยนต์ น้องๆ ก็อยากเก็บขยะเอง มันไม่ใช่การเก็บขยะอย่างเดียว แต่เหมือนเป็นการป้อนอาหารหุ่นยนต์ เอาขยะมาเลี้ยง ตอนนี้เรามีถังขยะจากเทศบาลเพิ่มขึ้นมาด้วย เราก็มีการเพ้นท์ตัวถังให้เกิดความน่าสนใจขึ้น เพื่อดึงความสนใจของเด็ก”


      ทั้งนี้นักศึกษาคนเดิม ฝากแนวคิดในการทิ้งขยะว่า อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของขยะให้มาก มีการแยกประเภท และทิ้งให้ลงถัง เพราะที่ไหนมีขยะจะส่งผลต่อภาพรวมของชุมชน เป็นภูมิทัศน์ที่ไม่น่าดู และคาดหวังว่าในอนาคตอยากให้มีหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยกันพัฒนาระบบจัดการขยะต่อจากโครงการนี้ต่อไปได้เรื่อยๆ


 


 


      ที่มา: เว็บไซต์บ้านเมือง


     ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code