เยาวชน`นักคิดจิตอาสา`
ที่มา:มติชน
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เยาวชน'นักคิดจิตอาสา' ผุด 'ที่นอนหลอด' แก้ผู้ป่วยติดเตียง โครงการจิตอาสาระดับประเทศ Gen A (Empower Active Citizen) 2016 "พลังพลเมืองจิตอาสาเปลี่ยนประเทศ"
ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2547และจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุยิ่งยวดในอีก 15 ปีข้างหน้า นั่นคือจะมีประชากรที่เป็นผู้สูงอายุในสัดส่วนร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด แน่นอนว่าต้องมีปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมาย หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นเรื่องของปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งมีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหา ด้วยป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น ใน ส่วนของผู้ป่วยอัมพาตจะมีการนอนติดเตียงเป็นเวลานาน ทำให้เกิดปัญหาแผลกดทับ เนื่องจากอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายสัมผัสกับเตียงเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้อากาศถ่ายเทไม่สะดวก และเกิดการอับชื้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาอีกมากมาย อาทิ ภาวะขาดอาหารรุนแรง การติดเชื้อรุนแรงในระบบทางเดินหายใจ และในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ เยาวชน นักคิดจิตอาสาใน โครงการที่นอนหลอด SUPPORT โรงเรียนบ้านนา "นายกพิทยากร" จ.นครนายก ที่ได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 28 โครงการจิตอาสาระดับประเทศ Gen A (Empower Active Citizen) 2016 "พลังพลเมืองจิตอาสาเปลี่ยนประเทศ" ภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิธรรมดี และองค์กรภาคีเครือข่ายทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมต่างๆ อาทิ บริษัท โสสุโก้ แอนด์ กรุ๊ป (2008) จำกัด และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเวทีให้เยาวชนได้แสดงพลังสร้างสรรค์โครงการจิตอาสาช่วยเหลือสังคมตามศักยภาพที่มีอยู่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคมให้ดียิ่งขึ้น
จากปัญหาสู่การคิดค้นผลงานที่สร้างสรรค์ น้องๆ คณะยุวอาสาในโครงการที่นอนหลอด SUPPORT โรงเรียนบ้านนา "นายกพิทยากร" ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของแนวทางการรักษาผู้สูงอายุที่มีอาการป่วยนอนติดเตียงเป็นเวลานาน ทำให้เกิดแผลกดทับตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ด้วยการใช้ที่นอนที่มีวัสดุทำจากหลอดเป็นส่วนประกอบสำคัญ หรือเรียกว่า "ที่นอนหลอด" ให้แก่ผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่ อ.บ้านนา จ.นครนายก โดยสอนวิธีประดิษฐ์ที่นอนหลอดแก่กลุ่มโรงเรียน ผู้สูงอายุในชุมชน รวมถึง อสม.ในชุมชน ซึ่งเป็นการนำวัสดุเหลือใช้มาสร้าง เป็นผลงานที่มีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น และช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย อีกทั้ง ยังเป็นการลดขยะมูลฝอยในชุมชนและโรงเรียน เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้แก่กลุ่มยุวอาสาในการช่วยเหลือผู้สูงอายุรวมถึงผู้ป่วยในชุมชนอีกด้วย
น้องบิว หรือ พลอยไพลิน วรวงษ์ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนบ้านนา "นายกพิทยากร" หัวหน้าโครงการที่นอนหลอด SUPPORT เล่าว่า "จุดเริ่มต้นของการทำโครงการ จิตอาสาในครั้งนี้ เป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของ โรงพยาบาลบ้านนาในการทำที่นอนหลอด โดยปกติแล้วทางโรงพยาบาลจะติดต่อกับธนาคารขยะของโรงเรียน เพื่อไปทำที่นอนหลอดให้แก่ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยนอนติดเตียงในโรงพยาบาล โดยจะทำเฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น ทว่าไม่มีบุคลากรเพียงพอในการผลิต จึงไม่เพียงพอต่อ ความต้องการของผู้ป่วยที่อยู่นอกโรงพยาบาล หรือในชุมชน กลุ่มน้องบิวจึงได้นำความรู้เรื่องการทำที่นอนหลอดนี้ ไปต่อยอด และสอนเพื่อนๆ น้องๆ ในโรงเรียนจนประสบความ สำเร็จ และปัจจุบันได้นำองค์ความรู้นี้ไปถ่ายทอดต่อให้แก่กลุ่มเครือข่ายจิตอาสาในพื้นที่ อาทิ โรงเรียนผู้สูงอายุบ้านนา องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านนา และประสานงานกับ โรงพยาบาลบ้านนา อนามัยชุมชน และ อสม.แล้วถึงมูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในการเป็นอีกหนึ่งกำลังสนับสนุนที่จะคอยช่วยเหลือผู้สูงอายุ และผู้ป่วยคนอื่นๆ ในชุมชน"
น้องบิวเล่าอีกว่า "ตอนนี้มีสมาชิกในชมรมที่ทำที่นอนหลอดในโรงเรียน 90 คน ที่คอยช่วยเหลือกัน ในส่วนของขั้นตอนการทำที่นอนหลอดนั้น เริ่มจากการรับบริจาคหลอดจากโรงเรียน ร้านค้า ร้านอาหารในชุมชนที่ใช้แล้วมาล้างทำความสะอาด แล้วนำมาตากให้แห้ง หลังจากนั้นนำหลอดมาตัดให้ได้ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร เสร็จแล้วนำมา ยัดใส่ผ้าที่ตัดเย็บเป็นรูปทรงหมอนให้เรียบร้อย แล้วส่งมอบให้กับผู้สูงอายุในชุมชน และศูนย์ผู้พิการในอำเภอ ได้ผลตอบรับที่ดีจากผู้สูงอายุ และผู้พิการที่มีปัญหาเรื่องแผล กดทับจากการนั่ง และนอนเป็นเวลานาน หลังจากที่ได้ใช้ที่นอนหลอดนี้ ปัญหาเรื่องแผลกดทับก็ทุเลาลง และหายเป็นปกติภายในหนึ่งเดือน รู้สึกดีใจที่ช่วยเหลือ ผู้ป่วยที่มีอาการนอนติดเตียง ทำให้ผู้ป่วยมี กำลังใจในการใช้ชีวิต เป็นอีกกำลังใจหนึ่งที่ ทำให้กลุ่มยุวจิตอาสาโรงเรียนบ้านนา มีแรง ผลักดันในการทำกิจกรรมเพื่อผู้อื่น"
นายบุญยัง รอดประเสริฐ อายุ 82 ปี รองผู้อำนวยการโรงเรียนผู้สูงอายุ ต.บ้านนา กล่าวว่า "รู้สึกดีใจที่ได้เห็นเด็กเยาวชนรุ่นใหม่ ออกมาทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ผมจะนำความรู้ที่ได้จากการอบรมในครั้งนี้ ไปต่อยอดในการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นที่เหมาะสมกับกลุ่มวัย แจกจ่ายให้กับผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ที่ต้องการใช้ที่นอนหลอดแต่มีฐานะยากจน ในชุมชน และถ้าเหลือจากการแจกจ่ายก็จะนำ ไปขายเพื่อสร้างรายได้ให้กับกลุ่มโรงเรียนผู้สูงอายุต่อไป" อีกไม่กี่ปี ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ หากทุกคนในสังคมร่วมด้วยช่วยกัน ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ จะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เข้มแข็ง และน่าอยู่ต่อไป