เมื่อเผือกกลายเป็นอาชีพ

ที่มา : วิถีชุมชน สร้างเศรษฐกิจฐานราก : ส่งเสริมอาชีพ โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายร่วมสร้างท้องถิ่นน่าอยู่ ประชารัฐ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


เมื่อเผือกกลายเป็นอาชีพ thaihealth


เมื่อเผือกกลายเป็นอาชีพ คนโคกจาน องค์การบริหารส่วนตำบลโคกจาน อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ปลูกเผือกจริงๆ ไม่ใช่ศัพท์สแลงอย่างที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน


จำปา วามะเกต เป็นชายวัยกลางคน ผิวเข้มแดดตัดกับฟันขาวในยามยิ้ม เขาเป็นเกษตรกรอารมณ์ดี เป็นนักดนตรีของวงกลองยาว และเขาคือผู้นำเผือกเข้ามาในหมู่บ้านโนนสว่าง


จำปา ย้อนความให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นเกิดจากการไปหาเพื่อนที่บ้านดอนงัว ตำบลไหล่ทุ่ง อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ในปี 2546 โดยจำปาเห็นว่า พื้นที่มีความใกล้เคียงกันและเผือกก็สามารถสร้างรายได้จึงขอพันธุ์มาทดลองปลูกในพื้นที่บ้านของตัวเอง


“ผมเอาพันธุ์เผือกน้ำมา ช่วงแรกผลผลิตยังไม่ดีเท่าที่ควร แหล่งรับซื้อก็ยังไม่มี ต้องนำไปเร่ขายตามหมู่บ้านต่างๆ ลองผิดลองถูกอยู่ประมาณ 3-4 ปี จนมาเจอตลาดค้าส่งเจริญศรี ที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ทำให้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ผมเริ่มต้นกับพื้นที่ 2 งาน ได้ราว 8,000 ต้น ราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 15 บาท หนึ่งกิโลกรัมได้ 3 ต้น”


เพื่อนบ้านโนนสว่างเห็นจำปาปลูกเผือกได้ผลดี ก็เริ่มขอพันธุ์นำไปปลูกจากเกษตรกร 1 ราย เพิ่มมาเป็น 7 ราย ขณะที่จำปาเองก็เพิ่มพื้นที่ปลูกจาก 2 งาน เป็น 2 ไร่ โดยทำในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ว่างเว้นจากการทำนา


ปี 2554 สมศักดิ์ บุญราศี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 บ้านโนนสว่าง เห็นว่า การขนส่งผลผลิตมีค่าใช้จ่ายสูง จึงทำการประชุมหารือร่วมกับแกนนำหมู่บ้านและเกษตรกรผู้ปลูกเผือก เพื่อแก้ไขปัญหาเกิดการตั้งกลุ่มขึ้นมาช่วยเหลือกันเองในชุมชน รวบรวมเผือกของแต่ละรายส่งขายพร้อมกัน ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งและยังสามารถต่อรองราคากับตลาดได้


ในช่วงที่เผือกราคาตกหรือได้ผลผลิตไม่ดี กลุ่มจะรวมตัวกันแปรรูปเผือกฉาบส่งขายตลาดและร้านค้าทั่วไป ภายในกลุ่มมีการออมเงิน เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำรองให้กับสมาชิกได้กู้ยืมยามจำเป็น ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 21 ราย โดยการรับสมัครนั้นสมาชิกต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแรกเข้าจำนวน 100 บาท/คน และส่งเสริมให้ออมเดือนละ 30 บาท คณะกรรมการด้วยจิตอาสาดำเนินงานตามขั้นตอน


จำปา เสริมอีกว่า กลุ่มใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน เช่น แกลบจากโรงสีอ่อนสีเกษตรอินทรีย์ ซึ่งนำมาโรยหน้าดิน โดยขั้นตอนการปลูกไม่ยุ่งยาก เริ่มจากการไถแต่งหน้าดิน ปรับดินด้วยปุ๋ยหมัก ปูนขาว (ด้วยดินเป็นกรดสูง) คราดให้เรียบ แล้วเริ่มทำการปลูก โดยใช้พันธุ์ที่เตรียมไว้


จำปาเล่าเรื่องด้วยรอยยิ้ม และพาไปชมแปลงเผือกที่เพิ่งลงไว้ และระหว่างรอผลผลิตเติบโต จำปามีรายได้เล็กน้อยจากวงกลองยาวและการขายอาหาร เช่นเดียวกับเกษตรกรบ้านโนนสว่างที่มีอะไรให้หยิบจับเป็นเงินทองตลอดทั้งปี

Shares:
QR Code :
QR Code