เมื่อวัดบันดาลใจ ใครๆ ก็อยากเข้า
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ภาพประกอบจากแฟนเพจวัดบันดาลใจ
วัดในประเทศไทยเรามีประมาณ 4 หมื่นวัด แต่สังเกตหรือไม่ว่า ทุกวันนี้คนไม่ค่อยเข้าวัดกัน หรือเข้าวัดน้อยเสียยิ่งกว่าน้อย แบบว่านานๆ เข้าที จนหลายวัดดูสภาพเหมือนวัดร้างเข้าไปทุกวันๆ แล้วการที่คนเข้าวัดนั้น ส่วนใหญ่ถ้าไม่ไปงานบวชก็งานศพ หรือไปในเวลามีเทศกาลสำคัญๆ เช่น วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันสำคัญเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีไทยที่วัดจัดงานขึ้นมา เป็นต้น
ทำไมคนไม่ค่อยเข้าวัด?
บางคนอาจบอกว่า ก็วัดไม่มีอะไรให้ทำนี่ เช่น กิจกรรมปฏิบัติธรรมที่ทุกวัดควรต้องมี แต่มีเฉพาะบางวัดและมีจำนวนน้อยมากที่จัดกิจกรรมนี้เป็นหลัก ซึ่งประชาชนไปวัดตอนไหนก็สามารถเข้าไปปฏิบัติได้ ทำให้หลายคนไม่เข้าวัดแต่เลือกไปสถานปฏิบัติธรรมต่างๆ ของเอกชน หรือมูลนิธิต่างๆ แทน เพราะคิดว่าเอื้อต่อการปฏิบัติธรรมของตัวเอง
บางคนอาจมองว่า พื้นที่วัดกลายเป็นลานจอดรถไปแล้ว ทั้งไม่สะอาด ไม่มีต้นไม้ ไม่มีพื้นที่สีเขียว เข้าไปก็ร้อน สู้ไปห้างดีกว่าเย็นสบาย บางวัดสิ่งปลูกสร้างก็ใช้วัสดุไม่เข้ากับความเป็นวัด ซาไปทำลายคุณค่าและสร้างทัศนะอุจาดให้วัด บางวัดก็เป็นพุทธพาณิชย์จนแทบหาคุณค่าของวัดที่แท้จริง คือ เป็นที่
พึ่งและพัฒนาจิตใจประชาชนไม่มี เห็นมีแต่ส่วนใหญ่ทำหน้าที่ทางสังคม เช่น เป็นที่เผาศพสวดศพแค่นั้น แต่หน้าที่ที่เป็นแก่นแท้ของวัดแทบไม่มีให้เห็น
วัดบันดาลใจ
ประมาณ 3 ปีมานี้ได้เกิดโครงการหนึ่งชื่อ "วัดบันดาลใจ" ขึ้นมา แล้วโครงการที่ว่านี้ก็กำลังช่วยพลิกฟื้นความเป็นวัดที่แท้จริงกลับมา ด้วยการออกแบบวัดใหม่ ให้เป็นรมณียสถานด้วยการปรับพื้นที่กายภาพของวัดให้เอื้อต่อการเรียนรู้และพักผ่อนหย่อนใจ และสร้างกิจกรรมในวัดให้เอื้อต่อการพัฒนาสติปัญญาและจิตใจของประชาชน
โครงการวัดบันดาลใจเกิดจากมุมมองและความคิดริเริ่มของ "ธีรพล นิยม" ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) และผู้ก่อตั้งสถาบันอาศรมศิลป์ ที่มองเห็นความเปลี่ยนไปของวัดที่เมื่อก่อนวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวบ้านเวลามีงานบุญ งานหลวง งานราษฎร์ วัดคือที่พบปะหารือ ส่วนเจ้าอาวาสและพระสงฆ์ในวัดก็เป็นขวัญกำลังใจและชี้นำทางสติปัญญา แต่ปัจจุบันบทบาทของวัดเริ่มถดถอยลงมาก บางวัดแทบไม่มีเลย ทำให้คนไม่ค่อยเข้าวัด ที่น่าห่วงหลายวัดกลายเป็นพุทธพาณิชย์ไป
"ความที่ผมเป็นสถาปนิก ทำยังไงจะพลิกฟื้นความเป็นวัดที่แท้จริงกลับคืนมา ก็เชื่อว่าการปรับพื้นที่กายภาพของวัดให้เอื้อต่อการเรียนรู้และพักผ่อนหย่อนใจด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และสร้างกิจกรรมต่างๆ ในวัดให้เอื้อต่อการพัฒนาสติปัญญาและจิตวิญญาณ ซึ่งในด้านกายภาพต้องอาศัยสถาปนิกมาช่วยในการออกแบบวัด ผมจึงชักชวนสถาปนิก วิศวกร สมาคม สถาปนิกสยามฯ สมาคมภูมิสถาปนิกฯ วิศวกรรมสถาน และบริษัทสถาปนิกต่างๆ มาเป็นอาสาสมัครเครือข่ายช่วยกันออกแบบให้กับวัดต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ขณะที่ในด้านจิตวิญญาณก็เชิญมูลนิธิหอจดหมายเหตุท่านพุทธทาสฯ ที่เก่งในเรื่องกิจกรรมเข้ามาช่วยในการจัดกิจกรรมต่างๆ ในวัด และได้ กสทช.มาช่วยในด้านไอที ซึ่งโครงการนี้ได้ทุนสนับสนุนโครงการจาก สสส."
9 วัดนำร่อง
หลักในการทำงานของโครงการคือ เริ่มต้นด้วยการทำวัดนำร่องที่มีความพร้อมที่ต้องการให้ไปออกจริงๆ 9 วัดในปีแรก ประกอบด้วย วัดพระธาตุพนม จ.นครพนม วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ วัดนางชี กรุงเทพฯ ฝั่งธน วัดชลประทานรังสฤษดิ์ จ.นนทบุรี วัดภูเขาทอง จ.พระนครศรีอยุธยา วัดสุทธิวราราม กรุงเทพฯ วัดศรีทวี จ.นครศรีธรรมราช วัดป่าโนนกุดหล่ม จ.ศรีสะเกษ และวัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จ.พระนครศรีอยุธยา แต่ไม่น่าเชื่อว่าปีแรกจะมีวัดสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก
"ย้อนไปเมื่อ 3 ปีที่แล้วอันเป็นปีแรกของโครงการ เราต้องการแค่ 9 วัดนำร่องเท่านั้น แต่พอจัดสัมมนาแนะนำโครงการครั้งแรกเพื่อที่จะให้เกิดการเรียนรู้กันในระหว่างอาสาสมัคร สถาปนิก ผู้ทำกิจกรรมและวัดต่างๆ ปรากฏมีวัดเข้าร่วมสัมมนา 200 วัดรวมวัดในต่างประเทศด้วย และมี 100 กว่าวัดที่ต้องการให้เราออกแบบให้ แต่รับทั้งหมดไม่ไหวจึงเลือกมา 31 วัด เนื่องจากมีสถาปนิกประมาณ 40 คนก็แบ่งกันไปออกแบบแต่ละวัด ทำควบคู่ไปกับวัดนำร่องของโครงการ 9 วัด รวม 40 วัด"
ธีรพล กล่าวว่า สามปีที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัครที่เป็นสถาปนิก ภูมิสถาปนิก วิศวกร นักออกแบบมืออาชีพ และคนจัดกิจกรรมมาช่วยพัฒนาวัด และจากการทำงานอย่างต่อเนื่องนี้โครงการได้รวบรวมความรู้มาจัดตั้งเป็น Knowledge Center เพื่อให้คำแนะนำกับวัดอื่นๆ ที่สนใจพัฒนาตามแนวทางวัดบันดาลใจสามารถเริ่มได้ด้วยตัวเอง และหวังว่าองค์กรสงฆ์จะเห็นคุณค่าและประโยชน์ของโครงการ และสนับสนุนให้วัดต่างๆ มีทิศทางการพัฒนาที่เกื้อกูลชีวิตของผู้คน
"ผมอยากให้ผู้คนลองจินตนาการดูว่า วัดในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีอยู่ 1,300 แห่ง ถ้าแต่ละวัดมีพื้นที่สัก 5 ไร่ หากปรับเปลี่ยนพื้นที่เหล่านั้นให้ร่มรื่น เราจะได้ปอดของกรุงเทพฯ ถึง 6,500 ไร่ เหมือนมีสวนลุมพินีเพิ่มมา 20 แห่ง ส่วนการเป็นที่พึ่งทางสติปัญญาและจิตใจนั้นก็คงขึ้นกับคุณภาพของพระสงฆ์ในแต่ละวัดซึ่งเป็นสิ่งที่ค่อยเป็นค่อยไปตามเหตุปัจจัย" ผู้ริเริ่มโครงการชวนคิด
วัดสุทธิวราราม โฉมใหม่ได้ใจทุกคน
หากใครไปวัดสุทธิวราราม กรุงเทพฯ (1 ใน 9 วัดนำร่องโครงการวัดบันดาลใจ) ในเวลานี้จะเห็นความเปลี่ยนแปลงมากมายในทางที่สร้างสรรค์เป็นที่จรรโลงจิต วัดมีความร่มรื่น น่าเข้าไปอย่างยิ่ง แต่ถ้าให้นึกย้อนภาพวัดสุทธิฯ ที่ผ่านมา คนจะมองเลยว่าไม่มีอะไรนอกจากงานศพ สวดศพทุกวัน และไม่ค่อยมีกิจกรรมอะไรที่ประชาชนเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วย ลานวัดก็เป็นลานจอดรถ ไม่มีพื้นที่สีเขียว มีแต่ลานปูน กำแพงโบสถ์ก็กินพื้นที่วัดจากวัดที่แคบอยู่แล้วยิ่งแคบหนักเข้าไปอีก
ทว่า พอได้เจ้าอาวาสที่มีวิสัยทัศน์และมองการณ์ไกลอย่าง พระสุธีรัตนบัณฑิต (สุทิตย์ อาภากโร) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันและยังเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) วัดสุทธิฯ จึงเปลี่ยนไปและมีความโดดเด่นในหลายๆ ด้าน ทั้งในด้านกายภาพ เนื่องจากมีการปรับพื้นที่วัดให้มีพื้นที่สีเขียว และในด้านกิจกรรมก็มีกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ให้นักเรียน ชุมชน และประชาชนทั่วไปเข้ามาร่วมได้ตลอด
พระสุธีรัตนบัณฑิต กล่าวว่า วัดในเมืองส่วนใหญ่ก็จะเห็นสภาพอันหนาแน่นของตึก อาคาร ร้านค้า ลานจอดรถ วัดสุทธิวรารามก็เช่นกันในช่วงแรกมีพื้นที่สาธารณะน้อย ทางวัดจึงคิดว่าน่าจะสร้างวัดให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ของสังคมขึ้นมาใหม่ โดยอาศัยโบสถ์ ศาลาการเปรียญที่มีอยู่มาปรับผังภูมิทัศน์ขึ้นใหม่ โดยหลักคิดในการพัฒนาวัดเพื่อสร้างพื้นที่ทางกายภาพให้สะอาดร่มรื่น สวยงาม เป็นสถานที่สัปปายะเหมาะกับการเรียนรู้ และการเข้ามาพัฒนาจิตใจของประชาชนทุกเพศทุกวัย
กิรินทร์ ตั้งเลิศปัญญา ภูมิสถาปนิกอาสาวัดสุทธิวราราม จากบริษัท ฉมา โซเอ็น เล่าถึงการออกแบบว่า จากการที่พูดคุยกับเจ้าอาวาส ท่านต้องการพัฒนาพื้นที่วัดให้เป็นสวนกลางเมืองและพื้นที่การเรียนรู้ เนื่องจากเห็นว่าผู้คนในละแวกถนนเจริญกรุงไม่มีพื้นที่สาธารณะ ถ้าได้เข้ามาใช้ในวัดที่ร่มรื่นก็เป็นเรื่องดี แต่การที่จะทำอย่างนั้นได้ต้องปรับพื้นที่รอบอุโบสถ
"โบสถ์วัดสุทธิฯ จะอยู่ตั้งตรงกลางวัด มีพื้นที่โล่งทั้งซ้ายและขวา แต่เมื่อก่อนจะมีศาลาสวดศพ และกุฏิ 1 หลังขวางพื้นที่ท่านก็ให้รื้อออก แล้วทุบกำแพงแก้ว (กำแพงรอบโบสถ์) ออกเพื่อให้ออกแบบพื้นที่สวนโดยรอบอุโบสถได้ ในการออกแบบเราได้เสนอท่านเป็น 3 เฟส เพราะความตั้งใจของท่านต้องการเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเขียวทั้งหมด แต่เนื่องจากพื้นที่วัดปัจจุบันเป็นที่จอดรถทั้งหมด ถ้าจะเปลี่ยนทันทีไม่มีพื้นที่จอดรถเลยคนคงจะไม่เห็นด้วย ก็เลยออกแบบเป็นที่สีเขียวและเป็นที่จอดรถด้วย
ท่านบอกอีกว่าเฟสต่อไปจะทำพื้นที่อีกฝั่งของวัดเป็นพื้นที่สวน และในอนาคตถ้าสามารถทำพื้นที่วัดฝั่งตรงข้ามเป็นโรงพยาบาลสงฆ์ได้ก็จะทำพื้นที่ในวัดทั้งหมดเป็นพื้นที่สีเขียว ขณะเดียวกันก็จะเอาที่จอดรถย้ายไปอยู่อีกฝั่งด้วย ดังนั้นจึงพยายามเสนอท่านเป็น 3 เฟสโดยไม่ให้กระเทือนคนในชุมชน และให้ ชุมชนค่อยๆ เรียนรู้กับการเปลี่ยนแปลง ตอนนี้วัดก็ได้สวนสีเขียว"
ศูนย์การเรียนรู้ในวัด
นอกจากสร้างสวนสีเขียวในวัดแล้ว ยังได้ทำศูนย์เรียนรู้พระพุทธศาสนาและการพัฒนาสังคม เพื่อให้นักเรียน ประชาชนทั่วไป หน่วยงาน องค์กรต่างๆ รวมทั้งชุมชนได้เข้ามาใช้ร่วมกันอีกด้วย ในการนี้ก็ได้อาสาสมัครด้านกิจกรรมของโครงการมาร่วมด้วยช่วยกันในเรื่องของการออกแบบกิจกรรม เช่น กิจกรรม ดูหนังตามหาแก่นธรรม เป็นต้น
พระมหาพร้อมพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้พระ พุทธศาสนาและการพัฒนาสังคม วัดสุทธิวราราม เล่าว่า อย่างกิจกรรมตักบาตรคนเมืองที่จัดทุกวัน เสาร์แรกของเดือนนั้น ในเย็นวันศุกร์จิตอาสาที่ เป็นนักเรียนจะมาช่วยเตรียมของ วันรุ่งขึ้นก็ชวน ผู้ปกครองมาตักบาตร เสร็จงานนั่งกินข้าวร่วมกัน เป็นภาพที่น่ารัก จากคนเข้าร่วมหลักสิบปัจจุบันหลักร้อย ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง ผู้สูงอายุรอบๆ วัด คนมาก็ หลากหลาย บางคนรู้ข่าวจากโซเชียลมีเดีย วัดไม่ได้มองคำว่าชุมชนต้องเป็นคนรอบๆ วัดเท่านั้น และหลังจากเปิดให้บริการ แต่ละวันมีเด็กๆ จำนวนหนึ่งมาใช้ศูนย์การเรียนรู้ ทำการบ้าน อ่านหนังสือ รอพ่อแม่มารับ
"บางครั้งเกิดบทสนทนากับพระอาจารย์ สงสัยอะไรก็ไม่ได้ตอบด้วยธรรมะจ๋า ตั้งแต่เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันรับตำแหน่ง ท่านพูดชัดว่าจะขับเคลื่อนวัดไปในทิศทาง 3 ด้าน คือ เน้นกายภาพให้มีความสะอาดร่มรื่น พัฒนาวัดให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ของคนและชุมชน และพัฒนาด้านจิตปัญญา ตอนนี้เราทำด้านกายภาพแล้ว ทำศูนย์การเรียนรู้แล้ว
ต่อไปด้านจิตตปัญญาเรากำลังทำอยู่ โดยเจ้าอาวาสท่านให้ความสำคัญกับงานศิลปะและต้องการให้งานพุทธศิลป์เป็นเครื่องสื่อสารธรรมะให้กับประชาชน จะเห็นว่า ในโบสถ์ทั้งชั้น 1 ชั้น 2 ท่านได้ให้ศิลปินชื่อดังมาวาดภาพปริศนาธรรมต่างๆ เพื่อให้คนได้มาศึกษาเรียนรู้ อย่าลืมว่า ภาพหนึ่งภาพอธิบายได้ร้อยพันความหมาย" พระมหาพร้อมพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย
ถ้าทุกวัดโดยเจ้าอาวาสมีวิสัยทัศน์ พร้อมที่จะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเชื่อเหลือเกินว่าบทบาทและบรรยากาศของวัดจริงๆ จะกลับมา พระได้ทำหน้าที่ของตัวเอง ชาวบ้านก็จะเข้าวัดด้วยความศรัทธา มิใช่สักแต่เข้าไป เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน