เมื่อรู้สึก…รัก (พวก) เรา ไม่เท่ากัน

เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลจาก : แฟนเพจสาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล


ข้อมูลสัมภาษณ์ : ครูเม เมริษา ยอดมณฑป


ภาพโดย ณัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th


เมื่อรู้สึก...รัก (พวก) เรา ไม่เท่ากัน  thaihealth


"แกมันลูกสุดที่รัก…ทั้งพ่อทั้งแม่และทุกคนในบ้านก็มีแต่คนรักแกกันทั้งนั้นแหละ…ไม่มีใครรักฉันหรอก" นี่คงเป็นปัญหาสุดคลาสสิกติด 1 ใน 3 ของครอบครัวไทยที่มีลูกมากกว่า 1 คนขึ้นไปต้องเคยเจอ


ปัญหานี้แทบจะเป็นปัญหายอดฮิตที่เหล่าลูก ๆ ในครอบครัวที่มีพี่น้อง 2 คน 3 คน หรือฝาแฝดมักจะเอามาคุย มาระบายให้ฟังกัน ในบางครอบครัวอาจจะแก้ปัญหาให้เบาบางได้ในช่วงวัยเด็ก แต่ในบางก็ครอบครัวก็อาจไม่สามารถคลี่คลายปมปัญหาดังกล่าวให้ทุเลาลงไปได้ จนเกิดเป็นความรู้สึกที่ติดอยู่ภายในใจมาถึงตอนโต และกลายเป็นตัวบั่นทอนความรู้สึกและความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมถึงสร้างความบาดหมางระหว่างพี่ น้อง และในฐานะลูกที่มีต่อพ่อแม่ได้


เนื่องในเทศกาลวันแม่แห่งชาติ “ทีมเว็บไซต์ สสส.” จึงชวนทุกคนมาไขความลับที่ฮิตตลอดกาลนี้ ผ่านบทความเรื่อง "เมื่อรู้สึก…รัก (พวก) เรา ไม่เท่ากัน" เพื่อเป็นแนวทางในการเลี้ยงลูกและเข้าใจลูกค่ะ


บ่อเกิดของความน้อยใจในครอบครัว


เนื่องจากบ้านที่มีลูก 2 คนขึ้นไป พ่อแม่และผู้ปกครองจะต้องทุ่มเทเวลา ให้ความสนใจกับลูกที่มีปัญหาหรือลูกคนที่อยู่นอกกรอบค่อนข้างเยอะกว่า ทั้งการสอนการบ้าน จัดตารางสอน ชวนทำงานศิลปะ พูดให้กำลังใจ ให้รางวัลหรือคำชมเมื่อทำในสิ่งที่ถูกต้องหรือสำเร็จ นี่จึงทำให้พ่อแม่ไม่ได้ทุ่มเทเวลาในการดูแลลูกที่มีพฤติกรรมดี ที่สามารถดูแลตัวเขาเองได้ดีอยู่แล้ว จนลูกคนนี้เกิดความรู้สึกน้อยใจ เสียใจ หรือ อิจฉาพี่น้องอีกคนที่ตนไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างเท่าเทียม


เมื่อเกิดความน้อยใจ เสียใจ หรืออิจฉาพี่น้องด้วยกันแล้ว ลูกก็จะเกิดพฤติกรรมถดถอย หรือมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงกว่าก่อน (จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะในเด็กเล็ก หรือพี่น้องที่อายุใกล้เคียงกัน)


เช่น A เป็นพี่คนโตรู้สึกน้อยใจที่พ่อและแม่ดูแลน้อง B ดีกว่า เมื่อ A เกิดพฤติกรรมถดถอยก็เกิดอาการงอแง ไม่อยากทำการบ้านขึ้นมาซะอย่างนั้น นั่นก็เพราะว่า A อยากได้ความสนใจจากพ่อและแม่ อยากให้พ่อและแม่มานั่งทำการบ้านข้างเขาเหมือนกับตอนที่พ่อและแม่สอนน้อง B นั่นเอง


หรือ น้อง B เห็นพี่ A ชอบกรี๊ดอาละวาดอยู่เรื่อย ๆ เมื่อขอของเล่นแล้วพ่อกับแม่ไม่ซื้อให้ น้อง B ก็จะซึมซับพฤติกรรมและลองทำตามบ้าง เพราะเวลาที่พี่ A อาละวาดทีไรพ่อกับแม่ก็ต้องตามใจทุกที


หรือ เมื่อก่อนลูก C มีพฤติกรรมดี ว่านอนสอนง่าย ไม่ดื้อ ไม่เถียง แต่อยู่ดี ๆ ลูก C ก็มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เริ่มดื้อและไม่ค่อยฟังพ่อแม่มากขึ้น จึงทำให้ถูกตำหนิหรือถูกทำโทษมากขึ้น เมื่อโดนตำหนิหรือถูกนำไปเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่บ่อย ๆ ก็จะทำให้ C น้อยใจมากขึ้น คิดว่าพ่อแม่รักพี่ ๆ มากกว่า ทำให้เพิ่มความรู้สึกไม่ดีกับพี่ให้มีมากขึ้น และยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ C มองว่าตัวเองไม่มีคุณค่า


เมื่อรู้สึก...รัก (พวก) เรา ไม่เท่ากัน  thaihealth


ทำอย่างไร…เพื่อลดบ่อเกิดของความน้อยใจ?


พ่อและแม่ต้องหมั่นแสดงออกถึงความใส่ใจ หมั่นให้ความรัก ความสนใจและดูแลให้ลูก ๆ รับรู้อย่างเท่า ๆ กัน เพราะหากพ่อและแม่ไม่แสดงออกมาให้ลูกรับรู้ ลูก ๆ ก็จะไม่เข้าใจ และเขาก็จะตีความไปว่าพ่อกับแม่ไม่ได้รัก หรือรักเขาน้อยกว่าลูกคนอื่น ๆ


วิธีการแสดงออกแบบง่าย ๆ และสม่ำเสมอ เช่น ชมให้เขาฟัง เมื่อลูกตั้งใจทำการบ้านและทำได้ด้วยตัวเขาเอง "หนูเก่งมาเลยลูกที่ตั้งใจทำการบ้านวิชาภาษาไทย เห็นไหม หนูเขียนตัวหนังสือเป็นระเบียบไม่ออกนอกกรอบเลยนะคะ"


"พ่อขอบใจ A นะลูกที่ช่วยสอนการบ้านน้อง เราทำได้ดี สอนเก่งมากเลยนะ"


"ลูกเป็นพี่ที่น่ารักมาเลยนะจ๊ะ"


"แม่ภูมิใจที่หนูมีความรับผิดชอบ รู้จักหน้าที่ กลับมาถึงก็ทำการบ้านเองไม่ต้องให้พ่อเรียกเลยดีมากลูก"


นอกจากนี้ต้องหมั่นแสดงออกทางกายภาพ เช่น กอด หอมแก้ม ให้เวลาพิเศษ หรือให้รางวัลกับลูกด้วย แต่หากลูกเริ่มมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเพื่อเรียกร้องความสนใจ พ่อและแม่ควรบอกความรู้สึกและความต้องการกับลูก เช่นพูดว่า "แม่จะชอบมากเลย ถ้าหนูนั่งทำการบ้านเองจนเสร็จแบบที่เคยทำ"


หากลูกสามารถหยุดพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจได้ พ่อแม่อย่างเราก็ต้องอย่าลืมพูดชมในทันที


หรือหากลูกยังไม่หยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมก็ต้องใจแข็ง พ่อแม่ต้องทำเป็นว่าไม่สนใจ พฤติกรรมไม่ดีที่ลูก ๆ แสดงออกมา แล้วพฤติกรรมของลูกก็จะค่อย ๆ กลับมาดีขึ้นเหมือนเดิม


เมื่อรู้สึก...รัก (พวก) เรา ไม่เท่ากัน  thaihealth


ฟังเสียงจากนักจิตบำบัด “ครูเม-เมริษา ยอดมณฑป”


"ไม่ว่าจะเป็นลูกคนที่เท่าไหร่ หรือเป็นลูกคนเดียวก็สามารถรู้สึกเช่นนี้ได้ หากพ่อแม่ไม่มีเวลามาดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควร นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ มีหน้าที่รับฟัง ให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำ เพราะสุดท้ายแล้วลูกย่อมต้องการความรักจากพ่อแม่" ครูเม เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาด้านเด็กและครอบครัว เจ้าของเฟซบุ๊กเพจ ตามใจนักจิตวิทยา กล่าว และว่า โดยส่วนมากความรู้สึกแบบนี้อาจจะพบในกรณีของลูกคนโต เนื่องจากเขาเกิดมาก่อน ได้รับความรัก การดูแลเอาใจใส่ และได้รับเวลาจากพ่อแม่แบบ 100% เต็มมาก่อน เมื่อมีน้องมาแบ่งไปเด็กก็อาจยังไม่เข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลง


ครูเม แนะนำว่า พ่อแม่ควรบอกให้ลูกคนโตเข้าใจว่าเมื่อมีน้องเพิ่มอีก 1 คน ลูกก็จะยังเป็นคนที่พ่อกับแม่รักเหมือนเดิม และความรักจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมเรื่อย ๆ  สิ่งสำคัญไม่ใช่การเน้นย้ำให้พี่คนโตรักน้องหรือดูแลน้องให้มาก ๆ แต่ต้องทำให้เขาเข้าใจว่า น้องที่กำลังจะเกิดมานั้นเป็นเพื่อนเล่นเขาแบบที่พ่อและแม่ไม่สามารถเล่นกับเขาได้ หรือบอกให้เข้าใจว่าการที่มีน้องจะทำให้เกิดเรื่องราวดี ๆ ทั้งนี้ ลูกคนโตจะเริ่มรับรู้ถึงความเปลี่ยนไปก็ต่อเมื่อพ่อแม่เกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิต เช่น แม่ต้องไปตรวจครรภ์ที่โรงพยาบาล แม่ไม่สามารถอุ้มเราได้


ครูเม ยกกรณีตัวอย่างให้ฟัง 1 กรณี ว่า มีเคสที่พ่อแม่พาลูกชายคนโตอายุประมาณ 10 ปีนิด ๆ มาพบด้วยคิดว่าเด็กไม่มีความรับผิดชอบเนื่องจากคุณครูเรียกพบผู้ปกครองเพราะไม่ทำการบ้านส่ง เมื่อได้บำบัดฟื้นฟูก็พบว่า ที่ลูกชายถูกเรียกพบผู้ปกครองก็เพราะว่าไม่กล้าบอกความผิดพลาดของตัวเองให้ที่บ้านรู้ว่าแท้จริงแล้วไม่เข้าใจเนื้อหาที่เรียน เลยทำให้ไม่สามารถทำการบ้านส่งได้ กลัวว่าพ่อและแม่จะรับไม่ได้ กลัวจะโดนว่าสู้น้องไม่ได้ เพราะที่บ้านเขามักพูดเปรียบเทียบตำหนิ ชมน้องสาวว่าฉลาด หัวไว คนโตต้องขยันมาก ๆ จะได้เก่งเท่าน้อง ตรงนี้เลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กรู้สึกด้อยคุณค่า


สสส. เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ส่งเสริมให้ทุกคนในครอบครัวมีเวลาคุณภาพร่วมกัน เช่น อ่านนิทานให้ลูกฟัง สอนลูกทำงานบ้าน ชวนลูกเล่นตามธรรมชาติ เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้นอกจากจะเพิ่มช่วงเวลาความรัก ความผูกพัน และความเข้าใจให้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นโอกาสทองที่จะช่วยพัฒนาทักษะด้านร่างกายและจิตใจได้อีกด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code