เมื่อน้ำลด ‘ขยะ’ ยิ่งผุด

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


เมื่อน้ำลด 'ขยะ' ยิ่งผุด thaihealth


เมื่อน้ำลด 'ขยะ' ยิ่งผุด 'ปัญหาชุมชน' แบบไหน? 'แก้ยั่งยืน'


"อุทกภัย"เมื่อเกิดขึ้น (อีก) แล้ว นอกจาก'ปัญหา" โดย ตรงที่เกิดจากภัยน้ำแล้ว กับปัญหาอื่นๆ ที่จะ 'เกิดตามมา" ด้วย ก็รวมถึง 'ขยะ" ซึ่งทั้งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และประชาชนเอง ก็ต้องร่วมกันแก้ไขจัดการ ซึ่งกับการที่ 'ประชาชนร่วมกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาขยะ"นั้น ก็ไม่เพียงสำคัญในกรณีที่เกิดอุทกภัย กับช่วงเวลาปกติก็สำคัญเช่นกัน ซึ่งจากข้อมูลโดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยุคปัจจุบันในแต่ละปีในไทยมี "ขยะมูลฝอยชุมชน" เกิดขึ้นประมาณ 26.85 ล้านตัน ถ้าคิดต่อวันก็มีขยะเกิดขึ้นถึง 73,560 ตัน ซึ่งถือเป็น "ตัวเลขขยะที่ไม่น้อย" เลย…


ที่ผ่านมาในไทยก็มีการพยายามลดผลกระทบ ทั้งการหาพื้นที่ฝังกลบขยะใหม่ สร้างโรงกำจัดขยะเพิ่ม รวมถึงแก้ปัญหาที่ต้นทาง คือ "ลดปริมาณขยะ-คัดแยกขยะ" ซึ่งระดับชุมชนก็มีหลายพื้นที่ที่ทำได้ผลดี รวมถึง พื้นที่เทศบาลไผ่กองดิน อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ที่ในชุมชนลุกขึ้น 'จัดการปัญหาขยะล้น"ด้วยตนเอง จนคว้า "แชมป์ชุมชนลดขยะ" ที่นี่มี 'กลไกความสำเร็จ" คือ 'ชาวบ้าน"


ทั้งนี้ ผลงานการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนของเทศบาลไผ่กองดิน อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรีนั้น เกิดขึ้นเมื่อในชุมชนเริ่มประสบปัญหาและผลกระทบจากการที่มี "ขยะมูลฝอยล้นชุมชน" เนื่องจากมีปริมาณขยะที่เกิดขึ้นมากถึงวันละกว่า 1 ตัน ซึ่งปัญหาที่พบคือ การบริหารการจัดการขยะ ชุมชนไม่สามารถจัดการเองได้ จนต้องนำขยะที่เกิดขึ้นไปจ้างให้หน่วยงานภายนอกเป็นผู้กำจัดแทน และทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะเป็นเงินจำนวนมาก ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ก็เป็นกรณีที่พบได้บ่อยๆ โดยในพื้นที่อื่นๆ หลายๆ พื้นที่ก็เกิดกรณีปัญหาในลักษณะนี้เช่นกัน


ต่อมาเมื่อมีโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการคัดแยกขยะที่ต้นทาง ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสุพรรณบุรี ทางชุมชนดังกล่าวจึงได้ส่ง 'แผนจัดการขยะมูลฝอยของชุมชน"เข้าร่วมประกวด โดยในช่วงก่อนหน้านี้ทางเทศบาลดังกล่าวก็ได้เคยเข้ารับการอบรมใน "หลักสูตรนักถักทอชุมชน" ของทางมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มาก่อน ก่อนที่จะคว้า "แชมป์ชุมชนจัดการขยะ"


เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว มณทิพา ศรีท้าว ผู้อำนวยการ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้ดูแลโครงการนี้ ระบุถึงวัตถุประสงค์ว่า เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีการเตรียมความพร้อมให้กับภาคประชาชนในการคัดแยกขยะที่ต้นทาง เพื่อรองรับการจัดการขยะรูปแบบใหม่ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการในช่วง 1 พ.ย. 2558-31 ธ.ค. 2559 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้เกิด "ชุมชนต้นแบบการคัดแยกขยะที่ต้นทาง" และเพื่อ ลดปริมาณขยะให้ได้ร้อยละ 35 ของขยะที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยกำหนดให้ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการจะต้องมีส่วนร่วมและลงมือทำจริงๆ


สำหรับ เทศบาลไผ่กองดิน ที่คว้า "แชมป์ชุมชนลดขยะ จ.สุพรรณบุรี" นั้น ได้มีการคิดค้นแนวทางต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาขยะหลายวิธี อาทิ กิจกรรมทอดผ้าป่าขยะรีไซเคิล, กิจกรรมขยะรีไซเคิลแลกบุญ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจัดตั้งฐานการเรียนรู้การจัดการขยะและคัดแยกขยะขึ้นในชุมชน ด้วยการ 'ใช้บ้านเป็นฐานการเรียนรู้"


พัสกร อุ่นอ่อน ปลัดเทศบาลตำบลไผ่กองดิน ในฐานะ ผู้สนับสนุนให้เกิดโครงการ ระบุว่า อันที่จริงไม่ได้คาดหวังเรื่องผลรางวัลเท่าใดนัก เพียงแค่อยากให้ชาวบ้านได้ตระหนักถึงการแก้ปัญหาขยะในชุมชน ซึ่งการที่สามารถทำผลงานได้เข้าตาคณะกรรมการ จนได้รับรางวัลมานั้น ถือเป็นเรื่องที่เกินความคาดหมายมาก อย่างไรก็ดี สำหรับรางวัลที่ทางชุมชนได้รับนั้น ก็คงจะช่วยทำให้ชาวบ้านมีกำลังใจในการที่จะทำเรื่องของ "การจัดการขยะ" กันต่อไปมากขึ้น


ด้าน ปรีชา บุญเสถียร อาจารย์โรงเรียนวัดช่องลม หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ บอกว่า สำหรับบทบาทของโรงเรียนในการช่วยลดปริมาณขยะนั้น ทางโรงเรียนแห่งนี้ได้ "จัดตั้งธนาคารขยะ" ขึ้น โดยมีนักเรียนเข้าร่วมโครงการนี้ 15 คน ซึ่งจะทำหน้าที่คัดแยกขยะ และนำขยะบางส่วนไปทำเป็นน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งหลังจากดำเนินการมาได้ 1 ปี พบว่า ขยะในโรงเรียนลดลงไป อีกทั้งเด็ก ๆ ยังมีความรู้เรื่องของการคัดแยกขยะมากขึ้น ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่าง 'ความสำเร็จ" มีจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ จากชุมชน-ชาวบ้าน


ทั้งนี้ กับความสำเร็จที่เกิดขึ้นในชุมชนในพื้นที่นี้ ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) วิเคราะห์ว่า ความสำเร็จของเทศบาลไผ่กองดิน ถือเป็นกรณีศึกษาที่ดีในการนำความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้ในการทำงานและชีวิตประจำวันจนเกิดผลดีกับตนเอง ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ชุมชนนี้ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาขยะด้วยตนเองนั้น มีที่มาจากการทำให้ชุมชนเห็นปัญหา จนนำไปสู่การลุกขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตนเอง


"สิ่งที่เราได้เรียนรู้คือ การแก้ปัญหาระดับพื้นที่เราจะไปคิดเองไม่ได้ เพราะถ้าไม่มองตรงนี้ ถึงได้งบประมาณไป ชาวบ้านก็ทำไม่ได้ เพราะที่เป็นปัญหาเยอะๆ คือ ได้งบฯ มาแล้วแต่ชุมชนไม่เอา ก็ทำต่อไม่ได้ ดังนั้น การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต้องทำให้ชุมชนเห็นประโยชน์ก่อน ถ้าเขาเห็น เขาก็จะทำ" ผอ.สรส. เน้นย้ำวิธี "แก้ปัญหาที่ยั่งยืน"


กรณีศึกษา "แก้ปัญหาขยะโดยชุมชน" น่าสนใจ 'หลักคิดเพื่อให้ยั่งยืน" ก็ไม่เพียงกรณีขยะล้นใช้ได้กับทุกปัญหา ซึ่ง 'น้ำท่วม" นี่ก็ด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code