เมื่อชุมชนร่วมสร้าง “สุขภาวะ” เรื่องเล่าจากคุณดวงพร เฮงบุณยพันธ์
ผอ.สำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะในพื้นที่และชุมชน
เพราะ “ชุมชน” เป็นหน่วยทางสังคมที่ใกล้ตัวประชาชนทุกคน ชุมชนดีหรือไม่ดีก็มีผลต่อการมีคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของสมาชิกในชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สสส. มีเป้าหมายที่จะขยายภาคีที่เป็นองค์กรชุมชนในการสนับสนุนทุนที่เอื้ออำนวยให้องค์กรในระดับตำบลได้ริเริ่มดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาสุขภาวะ ในปีนี้ สสส.ได้สนับสนุนเป็นจำนวนมากขึ้น เป็นจำนวนรวมกว่า 400 ทุน โดยเน้นการ “ต่อยอด” จากงานเดิมเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนที่แต่ละตำบลได้ทำอยู่แล้ว
ดังนั้นองค์กรชุมชนที่ สสส.ให้ทุนสนับสนุนจึงต้องมีการทำงานด้านสุขภาพเบื้อต้นอยู่บ้างแล้ว เช่น การทำแผนชุมชนที่มีเนื้อหาด้านสุขภาวะ การพัฒนากองทุนสุขภาวะชุมชน การจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของครัวเรือน ฯลฯ เพื่อที่ สสส.จะได้สามารถไปต่อยอดจากสิ่งที่ชุมชนเห็นความสำคัญและกระทำอยู่แล้ว
นอกจากนั้น เงื่อนไขอีกข้อหนึ่งก็คือ ตำบลที่จะได้รับทุนจาก สสส. จะต้องมีการทำงานร่วมกันของภาคีต่าง ๆ ในชุมชนเช่น องค์กรชุมชนกับหน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานสาธารณสุข เพื่อให้มีความร่วมมือจากหลายฝ่ายในชุมชนนั้น ๆ
โครงการที่เสนอขอทุนเข้ามาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็คือขยะ มลภาวะ น้ำเสีย สารเคมี ตามมาด้วยการดูแลผู้ต้องการความช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการในชุมชน โครงการอาหารปลอดภัย โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ชุมชน โครงการเกี่ยวกับเยาวชน ฯลฯ
“สิ่งที่เราหวังเมื่อจบโครงการ 1 ปี นอกจากการได้ต่อยอดงานที่ตำบลทำอยู่แล้ว เรายังหวังจะได้องค์ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ที่องค์กรชุมชนได้ทำเพื่อพัฒนาสุขภาวะของประชาชนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม ศูนย์เรียนรู้ชุมชน การจัดการความรู้ เพื่อสามารถนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อไปด้วย” คุณ
กระนั้น สสส.ก็ได้ให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตั้งแต่ก่อนจะเริ่มโครงการ โดยมีการจัดประชุมทบทวนและกลั่นกรองโครงการก่อนที่จะให้ทุน โดยมีวิทยากรจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยของแก่นมาช่วยให้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสุขภาวะชุมชน เพื่อให้คณะทำงานของแต่ละชุมชนได้ลองคิด จนได้ไอเดียใหม่ ๆ ที่มีมุมมองทางวิชาการเป็นพื้นฐานมากขึ้น
“หลังจากการเวิร์กช้อปสามารถให้ไอเดียใหม่ ๆ กับชาวบ้าน บางแห่งถึงกับเปลี่ยนโครงการไปเลยก็มี เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านเคยชินกับการขอเงินไปทำกิจกรรม โครงการที่ส่งเข้ามาส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนั้นโดยที่ไม่ผ่านการวิเคราะห์ ตั้งคำถามร่วมกันในชุมชนขาดการใช้ข้อมูลของท้องถิ่นตนเอง ดังนั้นแม้คนที่เสนอโครงการอาจเป็นคนเก่ง แต่ก็ไม่มีประโยชน์ถ้าโครงการไม่อาจไปหนุนให้พัฒนาสุขภาวะของชุมชนอย่างแท้จริง” คุณดวงพรกล่าว
คุณดวงพร ยกตัวอย่างหลายชุมชนที่ถึงกับเปลี่ยนโครงการใหม่หลังการเวิร์กช้อป และมีความเข้าใจมากขึ้น เช่น ชุมชนหนึ่งซึ่งต้องการแก้ปัญหาขยะ โดยเขียนโครงการเข้ามาของบซื้อตะกร้าขยะ แต่เมื่อจบการเวิร์กช้อปก็เข้าใจมากขึ้นว่าการแก้ปัญหาคือต้องจัดการขยะในครัวเรือนก่อนถึงจะไปจัดการขยะในชุมชนได้ สืบเนื่องไปถึงการทำธนาคารขยะ นำไปสู่ความรู้ในอีกมิติหนึ่ง
เมื่อจบโครงการ สสส.จะยังคงทำงานต่อเนื่องกับกลุ่มองค์กรชุมชนเหล่านี้ต่อไป โดยจะเชิญมาเป็นวิทยากรประจำเมื่อมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถ้าผลงานดีก็จะทำงานต่อเนื่องให้เป็นศูนย์เรียนรู้ใกล้กับพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
ที่มา : จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพฉบับสร้างสุข ฉบับที่ 84 กันยายน 2551
update 26-09-51