เมื่อการเล่น ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป
ที่มา : มติชน
แฟ้มภาพ
อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุ" โดยสมบูรณ์ บวกกับสภาพสังคมปัจจุบันที่ ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่าง ไม่หยุดนิ่ง ทำให้เด็กสมัยนี้มีพัฒนาการ ทางด้านร่างกายและสติปัญญาที่ไม่สมวัย
สำนักสนับสนุน สุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จับมือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนต้นแบบสถานพัฒนา เด็กปฐมวัยในแคมเปญ "เล่นเปลี่ยนโลก" เพื่อให้เด็กและเยาวชนพัฒนาไปในทิศทางที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน ด้วยการกระตุ้น กระบวนการพัฒนาของสมองของแต่ละ ช่วงวัยผนวกกับการเล่นแบบอิสระ ตลอดจนเสริมกิจกรรมทางกายภาพให้กับเด็กๆ ซึ่งการพัฒนานั้นสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ช่วงปฐมวัย ทำให้เด็กนั้นสามารถเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติ และสามารถค้นพบตัวตนของตนเองได้อย่างดียิ่งขึ้น
นายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า "ด้วยประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัยในอีกไปกี่ปีข้างหน้า บวกกับอัตราการเกิดของทารกน้อยลงเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ส่งผลให้ผู้คนที่อยู่ในช่วงวัยทำงานมีจำนวนลงลดในอนาคต กรมอนามัย โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ตระหนักถึงปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ขับเคลื่อนแคมเปญ "เล่นเปลี่ยนโลก" เพื่อให้เด็กสมัยนี้ที่เติบโตมากับเทคโนโลยียุคใหม่นั้น ได้ใช้เวลากับครอบครัว สังคม และสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากขึ้น"
การขับเคลื่อนต้นแบบสถานพัฒนา เด็กปฐมวัยในแคมเปญ "เล่นเปลี่ยนโลก" ขับเคลื่อนด้วยคอนเซ็ป "3F"1) Family พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูเด็ก เล่นกับเด็ก เป็นการสร้างแรงจูงใจในการเล่นและสร้างความสัมพันธ์ของครอบครัว 2) Free การเปิดโอกาสให้ เด็กเล่นตามความต้องการอิสระ เล่นที่ไหนก็ได้ขอให้ปลอดภัย 3)Fun การเล่นที่ทำให้เด็กเกิดความสุข สนุกสนาน ด้วยกิจกรรมและของเล่นที่หลากหลาย หาง่าย และ ไม่ซับซ้อน เน้นของเล่นที่มีอยู่ตามธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับวัย
นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า "สสส. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการริเริ่ม ผลักดัน กระตุ้น สนับสนุน ตลอดจนผสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในสังคม เพื่อมุ่งเน้นการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการเล่นเปลี่ยนโลก เป็นการถอดบทเรียนเพื่อตอบสนองจุดมุ่งหมายที่สำคัญในการพัฒนาทั้งด้านร่างกายและสติปัญญาของประชากรตั้งแต่ช่วงปฐมวัย สร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพตั้งแต่ยังเด็กเพื่อเติบโตไปเป็นทรัพยากรมนุษย์ในวัยที่เป็นหัวเรือสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ"
สสส. และภาคีเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวขององค์กร เช่น มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนากลุ่มไม้ขีดไฟ และกลุ่ม WE ARE HAPPY เป็นเครือข่าย "เล่นเปลี่ยนโลก" ขับเคลื่อนดำเนินการสร้างความตระหนักเรื่องการเล่น ให้ใช้การเล่นอิสระเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทั้งด้าน สติปัญญาและด้านร่างกายตั้งแต่วัยเยาว์ ผ่านกระบวนการเล่น สร้างให้เกิด "ผู้อำนวยการเล่น" (Play Worker) คือผู้ที่สนับสนุนและ ดูและการเล่นของเด็กในทุกมิติ ตลอดจน เล่นกิจกรรมร่วมกับเด็กให้เกิดความสุข สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก
นอกจากนี้ ยังมีองค์ประกอบสำคัญอีก 3 ประการ คือ พื้นที่เล่น-สถานที่ที่เด็กสามารถเล่นได้อย่างอิสระเสรี เช่น พื้นที่ธรรมชาติ สนามเด็กเล่น ฯลฯ กระบวนการเล่น-เด็กเป็นผู้นำการเล่นอย่างอิสระ ด้วยกิจกรรมทางกายที่ส่งเสริมสุขภาพทางกายและการเจริญเติบโต หน่วยบริหารจัดการ การเล่น-ครอบครัวและชุมชน มีส่วนร่วมสร้างพื้นที่เล่น และส่งเสริมพัฒนาการเล่นของเด็ก ทำให้เกิดการต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งองค์ประกอบทั้ง 4 องค์ประกอบนี้ จะก่อให้เกิดการพัฒนาโมเดลการเรียนรู้ต้นแบบที่ หลากหลาย ทั้งในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน ชุมชน มหาวิทยาลัย ฯลฯ มากกว่า 34 พื้นที่ใน 14 จังหวัด ซึ่งแต่ละพื้นที่ดำเนินการพัฒนาเด็กผ่านการเล่นอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาศักยภาพของเด็กเพื่อให้เติบโตเป็น "ฟันเฟือง" ชิ้นสำคัญในการพัฒนาประเทศ
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ สสส. ยังเผยอีกว่า "การที่เรากำลังจะเป็นสังคมสูงวัยเราไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องลงทุนในการพัฒนาเด็กทุกคนให้สามารถที่จะเติบโตและมีศักยภาพที่จะดูแลพวกเราซึ่งกำลังจะเป็น ผู้สูงวัย โดยใช้กระบวนการเล่นที่อาจเรียกได้ว่า "แบ็กทูเบสิค" เสมือนการย้อนกลับไปในช่วงที่เทคโนโลยียังไม่คืบคลานเข้ามาเป็นปัจจัยหลักเหมือนทุกวันนี้ เราอยากที่จะเห็นเด็กไทยมีพัฒนาการที่ดี ได้รับการดูแล อย่างดี มีความฉลาดทางอารมณ์ มีความสามารถในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้ สิ่งเหล่านี้คือความหวังของ สสส. และภาคีเครือข่ายทุกคนที่เป็นผู้ริเริ่มให้เกิดนโยบายนี้ขึ้น"
"สิ่งที่ทำในวันนี้เปรียบเสมือนการ "ปลูกป่าใหญ่" ที่พวกเราวัยทำงานจะได้อาศัยร่มเงาเมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในภาย ภาคหน้า เป็นการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ ถูกต้องและเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุด ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไปในอนาคต"