เมืองแนวคิดใหม่เพื่อรองรับสังคมสูงวัย

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


เมืองแนวคิดใหม่เพื่อรองรับสังคมสูงวัย thaihealth


สภาพสังคมไทยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสังคมไทย


อีก 2 ปีไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว การวางนโยบายเพื่อรองรับปัญหาต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ เหตุนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานผู้สูงอายุไทย ก้าวไกล ไทยแลนด์ 4.0 "นวัตกรรมเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ" เมื่อวันก่อน เพื่อส่งเสริมทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและสร้างความตระหนักให้แก่ครอบครัว ชุมชน และสังคม รวมทั้งภาคีเครือข่ายเสริมสร้างชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ พัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ในการปรับสภาพแวดล้อมสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมและปลอดภัย ให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี และดำเนินชีวิตในชุมชน สังคมได้อย่างปกติสุข


นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวในการเสวนาวิชาการเรื่อง "แนวคิดการสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ" ว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2564 คาดว่าจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ นอกจากนี้ยังมีการสำรวจพบว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการพลัดตกหรือหกล้มปีละ 1,000 คน และ 1 ใน 5 ของผู้สูงอายุที่หกล้มไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ


เมืองแนวคิดใหม่เพื่อรองรับสังคมสูงวัย thaihealth


นางภรณี กล่าวต่อว่า ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงสาเหตุที่ สสส.ลุกขึ้นมาให้ความสำคัญประเด็นผู้สูงอายุ และอาศัยการทำงานผ่านภาคีเครือข่าย รวบรวมความรู้จากผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อนำมาขยายสู่ประชาชน ทั้งในรูปแบบ คู่มือ สื่อเผยแพร่ตามช่องทางต่างๆ นอกจากนี้ยังจัดการอบรมช่างชุมชนในการปรับปรุงพื้นที่ชุมชนให้เอื้อต่อทุกคน นำมาสู่การสนับสนุนให้เกิดศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (Universal Design Center) โดยร่วมกับ 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหา วิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวบรวมและพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย นวัตกรรม ให้คำปรึกษา แนะนำ เผยแพร่ ให้ความรู้ในเรื่องการออกแบบก่อสร้าง และปรับปรุงที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ


"ในระดับนโยบาย สสส.ได้ร่วมกับ พม. เป็นตัวแทนภาคประชาสังคม ภายใต้โครงการประชารัฐเพื่อสังคม โดยเข้าไปช่วยหนุนให้เกิดยุทธศาสตร์ และแผนแม่บทการจัดการที่อยู่อาศัย มีการประชุมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้ขอความร่วมมือจากเครือข่ายตำบลสุขภาวะ 60 ตำบล นำความรู้ด้านการปรับปรุงพื้นที่ไปใช้ในชุมชน การร่วมมือจากทุกฝ่ายมีส่วนทำให้การดำเนินงานสำเร็จและเข้มแข็ง" นางภรณีกล่าว


ด้าน รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ คณะสถาปัตย กรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีเมืองที่จัดเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ 541 เมือง ซึ่งการสร้างเมืองผู้สูงอายุคือ การทำให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตร่วมกันกับทุกคนในสังคมได้อย่างเท่าเทียม สะดวก และปลอดภัย โดยนวัตกรรมกับเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ (Age-Friendly City) ประกอบด้วย 8 ประเด็น ได้แก่ 1.ที่อยู่อาศัย 2.การ เข้าไปมีส่วนร่วมในสังคม 3.การได้รับการยอมรับ ในสังคม 4.การมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและการจ้างงาน 5.การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 6.การสนับ สนุนของชุมชนและการบริการด้านสุขภาพ 7.สภาพ พื้นที่ภายนอกและตัวอาคาร และ 8.ระบบขนส่ง มวลชน


เมืองแนวคิดใหม่เพื่อรองรับสังคมสูงวัย thaihealth


รศ.ไตรรัตน์ บอกอีกว่า หัวใจสำคัญของการสร้างเมืองที่เป็นมิตร คือ การมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุและคนในชุมชน สำหรับประเทศไทย จังหวัดพิจิตรถือเป็นต้นแบบของเมืองผู้สูงอายุที่น่ายกย่อง มีการทำงานที่จริงจังเป็นรูปธรรม จากความร่วมมือของทุกคนในจังหวัดทำให้เกิดความยั่งยืน การสร้างเมืองเป็นมิตรกับผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องยึดหลัก 8 ประการ ควรดูบริบทของพื้นที่เป็นหลัก และทุกจังหวัดสามารถขอคำแนะนำจาก 5 มหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคนที่สนับสนุน โดย สสส.จะมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาและแนะนำได้ ที่ Facebook: ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน


ขณะที่ นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เล่าถึงการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุว่า ความยั่งยืนคือ การบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร สาธารณสุขจังหวัด และหน่วยราชการต่างๆ ตลอดจนชุมชนที่เข้มแข็ง โดยขับเคลื่อนครอบคลุมทั้ง 8 ข้อของการเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ทุกอย่างเหมือนเป็นจิ๊กซอว์มาร่วมกันสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุไปด้วยกัน


ผู้ว่าฯ พิจิตร เล่าต่อว่า เราใช้วิธีเชื่อมประสาน เป็นผู้คอยสนับสนุน ให้กำลังใจให้งานดำเนินไปได้โดยสะดวก มีการลงพื้นที่เพื่อสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ และให้ชมรมผู้สูงอายุเป็นแกนนำขับเคลื่อนในแต่ละหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ทั้งเรื่องของนวัตกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพ โรงเรียนผู้สูงอายุ ตลอดจนการส่งเสริมศักยภาพด้านการทำงาน เป็นต้น


"เรามีการจัดเวทีประชุมชมรมผู้สูงอายุสัญจรระดับจังหวัดเป็นประจำทุกเดือน และหมุนเวียนสัญจรไปทุกอำเภอ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชมรมผู้สูงอายุในระดับตำบล เมื่อมีการทำงานต่อเนื่อง ประชาชนเห็นถึงความใส่ใจและให้ความร่วมมือ หลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมถึงเน้นเรื่องผู้สูงอายุ คำตอบคือ เพราะเราทุกคนต่างต้องเป็นผู้สูงอายุในอนาคต การเตรียมพร้อมตั้งแต่วันนี้ก็เพื่อตัวเราเองและทุกคน"  นายวีระศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายถึงความสำคัญเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงวัย

Shares:
QR Code :
QR Code