เมืองเดินได้เดินดี หนุนการออกกำลังกาย
เมืองใหญ่ทั่วโลก ผู้คนส่วนใหญ่ใช้การเดินไม่ว่าจะเป็นกรุงโตเกียว กรุงลอนดอน เมืองพอร์ตแลนด์ ประชาชนในเมืองดังกล่าว ล้วนมีสุขภาพแข็งแรง สภาพแวดล้อมน่าอยู่
แนวทางหนึ่งของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนคือการส่งเสริมให้คนเดินเท้า เพราะการเดินช่วยให้ร่างกายเคลื่อนไหว สร้างเสริมสุขภาพ สามารถทำได้ง่ายและไม่มีค่าใช้จ่าย ในระดับสังคมการเดินเท้ายังช่วยกระจายรายได้ ทำให้การค้าขายในย่านนั้นเติบโต
เมืองใหญ่ทั่วโลก ผู้คนส่วนใหญ่ใช้การเดินไม่ว่าจะเป็นกรุงโตเกียว กรุงลอนดอน เมืองพอร์ตแลนด์ ประชาชนในเมืองดังกล่าว ล้วนมีสุขภาพแข็งแรง สภาพแวดล้อมน่าอยู่
ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ได้ริเริ่ม “โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี” โดย การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างกระบวนการและกลไกในการพัฒนาเมืองกรุงเทพฯไปสู่เมืองเดินดีต่อไปในอนาคต
ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Uddc) กล่าวว่า โครงการนี้มุ่งสร้างพื้นที่นำร่องเพื่อเป็นตัวอย่างในการพัฒนาเมืองเดินดีให้เกิดขึ้นในกรุงเทพฯและปริมณฑล มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การศึกษาศักยภาพและจัดทำแผนที่ศักยภาพการเข้าถึงสาธารณูปการที่ส่งเสริมการเดินเท้า ระยะที่ 2 กำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพนำร่อง กำหนดทิศทางการออกแบบ ระยะที่ 3 นำเสนอผังเพื่อนำไปออกแบบใช้จริง ล่าสุดโครงการอยู่ในระยะที่ 1 ศูนย์ฯได้พัฒนาดัชนีชี้วัดและแผนที่ศักยภาพการเข้าถึงสาธารณูปโภค การที่ส่งเสริมการเดินเท้า พร้อมพัฒนาเว็บไซต์ GoodWalk.org
จากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูล พบว่า ระยะทางเฉลี่ยที่คนกรุงเทพฯพอใจที่จะเดินไปยังสถานที่ต่าง ๆ คือ 800 เมตร (10 นาที)จริง ๆ หาบเร่แผงลอยไม่ได้เป็นต้นตอของปัญหาบนทางเท้า อย่างไรก็ตามแม้คนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับรถยนต์พอ ๆ กับขนส่งสาธารณะ และการเดินเท้า แต่สัดส่วนของงบประมาณที่ลงทุนและโครงสร้างของเมืองยังคงเอื้อให้กับรถยนต์เท่านั้น
แม้กรุงเทพฯจะมีแดดแรง แต่มีเมืองในเขตร้อนที่เป็นเมืองเดินได้ เช่น สิงคโปร์ คูริติมา (บราซิล) ทั้งนี้จากการวิเคราะห์แผนที่เมืองเดินได้ สรุปได้ว่า พื้นที่ควรส่งเสริมการเดินเท้าได้ดี ได้แก่ พื้นที่พาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง สำนักงาน แนวรถไฟฟ้า พื้นที่เปลี่ยนถ่ายการจราจร พื้นที่การท่องเที่ยว พื้นที่สถานศึกษา พื้นที่พาณิชยกรรมชานเมือง และพื้นที่อยู่อาศัย
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในตัวเลข 24 ชม. ในเวลาที่ร่างกายตื่นเฉลี่ย 15 ชม. มีงานวิจัยว่าคนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง 13 ชม. มีระดับการเคลื่อนไหวร่างกายเพียง 2 ชม. ทำให้มีผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้งความดัน เบาหวาน สอดคล้องกับอาหารที่กินในยุคปัจจุบันมีทั้งหวาน มัน เค็ม ดังนั้นการเคลื่อนไหวร่างกายด้วยการเดินจะช่วยป้องกันโรคได้ แต่ต้องปรับสภาพแวดล้อมให้คนเดินได้
กรุงเทพมหานครมีความแปลกที่ไม่เหมือนกับเมืองมหานครในโลกที่จุดตัดบริเวณรถไฟฟ้า มักจะเป็นย่านศูนย์การค้า ย่านเศรษฐกิจ มีความเป็นสาธารณะ แต่กรุงเทพฯกลายเป็นที่ตั้งของคอนโดมิเนียมมากกว่า
อ.นิรมล สะท้อนว่า ขณะที่ย่านสยามเป็นจุดตัดบีทีเอสเหมือนกันแต่เป็นย่านการค้า ต่างจากอโศกเป็นย่านที่พักอาศัยกลายเป็นจุดตัดที่มีความเป็นส่วนตัวสูงไป จึงไม่เห็นภาพคนซื้อของในซูเปอร์มาร์เกตแล้วขึ้นรถไฟฟ้า ไม่เช่นนั้นการเดินจึงไม่เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงต้องมีการวางแผนร่วมกันเจาะลึกว่าเมืองเดินได้จะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างไร
ด้าน โตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการนิตยสาร GM กล่าวในเวทีเสวนา “เมืองเดินได้ ให้ใครเดินดี” ว่า วัฒนธรรมการเดินของคนไทยผูกโยงเรื่องชนชั้น เรายกย่องว่าคนนั่งบนรถยนต์มีสถานภาพที่ดีกว่า ดังนั้นคนเดินเท้าจะต้องระวังตัวเป็นพิเศษ ยิ่งรถราคาแพงยิ่งต้องระวัง ต่างจากสังคมในยุโรป ประเทศอังกฤษมีสมาคมที่เรียกว่านักเดินเรื่อยเปื่อย เชื่อว่าการเดินทำให้คนมีสติปัญญา ตัวอย่างเช่น เบโธเฟน (ผู้ประพันธ์เพลงชาวเยอรมันยิ่งใหญ่ในโลกดนตรีตะวันตก) ต้องเดินในป่า ทำให้เกิดผลงานหมายเลข 6 ที่คนทั้งโลกยกย่อง หรือ การเรียกร้องพื้นที่กรีนพาร์ค ในลอนดอนของสมาคมฯสมัยก่อน อยู่ในความครอบครองของราชวงศ์อังกฤษ ให้เป็นสวนสาธารณะกลางเมืองที่ประชาชนไม่สามารถเดินผ่านได้ เพราะเมืองที่มีคนเดินมากเป็นตัวบ่งชี้ว่าเมืองนั้นมีสุขภาวะที่ดี
โตมร ยังบอกว่า ชาวยุโรปที่มาทำงานเมืองไทยต้องการคอนโดฯที่ไม่ติดกับรถไฟฟ้า เพื่อให้การเดินเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ต่างกับคนไทยที่ต้องการให้คอนโดฯติดรถไฟฟ้ามากที่สุด
“คนไทยเดินเข้าได้ดีกับวัฒนธรรมตลาด เราเห็นคนเดินชอปปิงได้หลาย ๆ ชั่วโมง วัฒนธรรมตลาดหาบเร่แผงลอยไม่ใช่การกีดขวางทางเดิน กลับมีน้อยไปด้วยซ้ำ” บรรณาธิการนิตยสาร GM กล่าว
เมืองระยะเดินในกรุงเทพฯ มีหลากมิติประเด็นหนึ่งที่น่าจะชัดว่า หาบเร่แผงลอยไม่ใช่อุปสรรคการเดินแต่อยู่ที่การบริหารจัดการ
ที่มา: เว็บไซต์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต