‘เมาแล้วขับ’ นำโด่งอุบัติเหตุ

ชี้สถิติสงกรานต์เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดอันดับ 1 ดื่มเหล้า

 

            นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยว่า จากสถิติช่วงเทศกาลสงกรานต์จะเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด และอันดับ 1 มาจากเมา รองลงมาเป็นความเร็ว นอกจากนั้นมาจากความง่วงบ้าง หรือพฤติกรรมไม่ดี เช่น ขับรถแซงในทางที่ไม่ควรแซง และเกิดจากสภาพแวดล้อม เช่น ถนน ส่วนเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมากคือเกิดจากยานพาหนะ แต่ถ้าเทียบ 100 รายที่เกิดอุบัติเหตุ 80 รายจะมาจากพฤติกรรม และกว่าครึ่งมาจากเมาแล้วขับ ซึ่งเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุที่สุด สำหรับกฎหมายที่ลงโทษผู้เมาแล้วขับที่มีอยู่ขณะนี้ได้ผลบ้างในเรื่องการรับรู้ แต่การปฏิบัติยังมีไม่มาก ดังนั้น แม้รู้ว่ามีกฎหมายลงโทษแต่ยังไม่ปฏิบัติก็ไม่มีความหมาย

        

             รณรงค์มาเกือบ 20 ปี ไปถามคน 100 คน 99 คนรู้ แต่ร้อยละ 30 ยังไม่ปฏิบัติ สาเหตุแรกสุดคือเขาเห็นว่าถึงไม่ปฏิบัติก็ไม่เกิดอะไรขึ้น ไม่มีใครมาทำอะไร เพราะโอกาสที่จะโดนจับน้อยมาก หรือแม้จะโดนจับโทษที่จะได้รับก็จิ๊บจ๊อยจนเขาไม่กลัว ดังนั้น ถ้าเราแก้ 2 สาเหตุนี้จะทำให้การรณรงค์เรื่องเมาไม่ขับประสบความสำเร็จมาก ผมเปรียบว่าสงกรานต์เป็นสงครามย่อยๆที่ต้องระมัดระวัง เตือนกันมาหลายปีแล้ว ปีนี้ต้องช่วยกันแล้ว เห็นอะไรไม่ดีบนท้องถนนก็ปล่อยให้ตำรวจจัดการ เราต้องช่วยกันแจ้งเหตุด้วย

         

            นพ.แท้จริงกล่าวอีกว่า นอกจากนี้การลงโทษผู้ที่เมาแล้วขับต้องสูงขึ้น และความจริงโทษกำหนดไว้หนักถึงจำคุก แต่มีการรอลงอาญาไว้ก่อน ขณะที่ประเทศอื่นจะไม่รอลงอาญา เพราะการเมาแล้วขับรถเหมือนอาชญากร แต่ของประเทศไทยดื่มเหล้าแล้วขับรถเป็นการประมาท ทั้งที่โอกาสเกิดอุบัติเหตุมีมาก และคนขับก็รู้อยู่แล้วยังทำ ถามว่าพฤติกรรมเช่นนี้ไม่เข้าข่ายเจตนาหรือ หรือการประมาทเป็นเรื่องที่คนไม่รู้

         

            รายงานจากมูลนิธิเมาไม่ขับแจ้งว่า แนวโน้มในอนาคตกฎหมายจราจรทางบกจะมีการแก้ไขเพิ่มโทษมากขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่การลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน เพื่อลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เช่น มาตรา 67 ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอัตราโทษในปัจจุบันปรับไม่เกิน1,000 บาท ทั้งนี้ จะมีการแก้ไขเพิ่มอัตราโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 43 (2) เมาแล้วขับ อัตราโทษขณะนี้จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับ 2,000-10,000 บาท แก้ไขเพิ่มอัตราโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ 5 ปี กรณีปฏิเสธการตรวจวัดแอลกอฮอล์ให้ถือว่าเมา จำคุกไม่เกิน 1 ปี เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ 5 ปี

 

ที่มา : โลกวันนี้

ภาพประกอบ : www.thaihealth.or.th

update : 8-04-51

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ