เฟ้นหาองค์กรสุขภาวะจิตดี ฉีกวัฒนธรรมการทำงานใหม่

ข้อมูลจาก: งานแถลงข่าวเปิดรับสมัครองค์กรเพื่อเข้าร่วมคัดเลือกสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต (Thai Mind Awards)

ภาพโดย: Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                  เพราะหน้าที่การงาน คือ รากฐานความมั่นคงของชีวิต ไม่แปลกที่หลายคน จะอุทิศทั้งชีวิตให้กับองค์กรที่สังกัด ด้วยความทุ่มเท เสียสละ เจ็บป่วยยังฝืนสังขารมาทำงาน แต่ท้ายสุดก็หนีไม่พ้น ต้องเสียสละเงินที่หามาได้ด้วยความยากลำบากไปพบแพทย์ เพื่อรักษาสุขภาพตัวเอง จึงเป็นสาเหตุให้ สสส. ร่วมกับ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) เฟ้นหา “สุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต” เพื่อเป็นต้นแบบด้านการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีแก่บุคลากร

                  นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การคัดเลือกสุดยอด “องค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต (Thai Mind Awards)” มีขึ้นเพื่อมอบรางวัลให้กับองค์กรที่ปรับเปลี่ยน สร้างบรรยากาศการทำงาน ใส่ใจเจ้าหน้าที่ ดูเรื่องการทำงาน สร้างความสุขในระดับองค์กร เนื่องจากปัญหาสุขภาพจิตในปัจจุบัน พบว่า ในกลุ่มคนวัยทำงาน ที่ต้องเผชิญกับทั้งความเครียดวิตกกังวล ซึมเศร้า และนำไปสู่การฆ่าตัวตาย จากการถูกบีบคั้นหลายปัจจัย ทั้งการทำงาน  สภาพแวดล้อม สังคมในที่ทำงาน รวมถึงการใช้ความสามารถเพื่อตอบโจทย์ในการทำงาน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาการทำงานในองค์กร จึงไม่อาจสำเร็จลุล่วงได้ด้วยบุคคลคนเดียว แต่ต้องมีรูปแบบ หรือทิศทางการทำงานที่เกื้อกูลกันทั้งองค์กร

                  สอดรับกับข้อมูลสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เมื่อเดือนมิ.ย. 2567 พบวัยแรงงานอายุ 20-59 ปี ขอรับบริการปรึกษา เรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงาน สูงอันดับ 1 รวมกว่า 6,337 สาย จากทั้งหมด 8,528 สาย ดังนั้นการมอบรางวัล “องค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต” เพื่อจูงใจให้องค์กรเกิดความตื่นตัว ร่วมปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว และทำอย่างไรให้พนักงานในองค์กรมีความสุข จึงขอเชิญชวนองค์กรต่างๆ มาร่วมสมัคร และร่วมกันเรียนรู้ไปด้วย จากนั้นถอดบทเรียน เพื่อร่วมสร้างและขยายองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตออกไปให้มากขึ้น

                  “การจะปรับเปลี่ยนความคิดหรือรูปแบบการทำงานจากเดิม อาศัยแค่คนเดียวมาแก้ไขไม่ได้ ต้องมาจากทั้งองค์กรร่วมกัน ผู้บริหาร, การสร้างสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน  พนักงานต้องเปลี่ยนชุดความคิด เดิม ปรับกติการูปแบบการทำงานใหม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมขององค์กร ที่ส่งผลต่อสภาพจิตของพนักงานด้วย” นพ.ไพโรจน์ กล่าว

                  ด้าน ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมก่อตั้งสถาบัน TIMS กล่าวว่า ผลสำรวจสุขภาวะของคนทำงาน และปัจจัยสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร ปี 2566 จากแบบสอบถามออนไลน์ในพนักงานของภาครัฐ และเอกชน พบพนักงานถึง 42.7% มีปัญหาสุขภาพจิต ในจำนวนนี้ มีภาวะฝืนทำงาน 27.5% ส่วนใหญ่ของการฝืนมาทำงาน เกิดจาก 5 ปัจจัยหลัก คือ 1.คิดว่าไม่มีใครทำงานแทนได้ เกิดจากความรู้สึกผิด ไม่ได้ผลักภาระงานให้คนอื่น 2. คิดว่าที่ได้รับมอบหมายเป็นงานเร่งด่วน 3.กลัวผลกระทบกับผลการประเมิน 4.ความจำเป็นด้านการเงิน และ 5.รู้สึกว่ายังทำไหวไม่จำเป็นต้องหยุดทำงาน และที่น่าห่วงหากมีการฝืนทำงานต่อไป สุดท้ายพนักงานเหล่านี้จะเกิดภาวะ หมดไฟในการทำงาน (Burnout syndromes)

                  ขณะเดียวกันก็พบว่า สิ่งที่พนักงานต้องการในนโยบายการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีในการทำงานมี 6 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 1.เพิ่มสวัสดิการด้านการรักษาสุขภาพกายและใจ 41.7% 2.อบรมให้ความรู้และจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพกายและจิตใจ 16.7% 3.เพิ่มสวัสดิการการลา 13.1% สามารถลาหยุดได้เมื่อมีปัญหาสภาวะทางจิตใจ โดยไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ 4.ส่งเสริมการพูดคุยสื่อสารและรับฟังปัญหา  11.3% 5.สร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมที่ดีในองค์กร 10.1% เช่น หยุดตำหนิ หรือ กดดัน และ 6.เพิ่มสวัสดิการทางการเงิน (ค่าตอบแทน อาหาร โบนัส) จำนวน 6%

                  ส่วนแนวทางการปฏิบัติ นโยบาย หรือสิทธ์สนับสนุนสุขภาวะทางจิตของบุคลากร พบว่า  2.8%  เห็นว่าควรมีสิทธิ์ไม่รับโทรศัพท์หลังเวลางาน เพราะเลิกงานแล้วควรถอนตัวออกจากงาน ทำให้เกิดการพักผ่อนทางความคิดอย่างเต็มที่ และ 7.8% เห็นว่าควรมีโปรมแกรมช่วยเหลือพนักงาน เช่น การเข้าถึงการรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา

                  “เมื่อป่วยควรได้พักอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะป่วยทางกายหรือใจ ถ้าฝืนไปทำงานบ่อยครั้ง โดยไม่ได้พัก ก็เกิดภาวะหมดไฟ บวกกับ ความเครียด ทำให้เป็นซึมเศร้า องค์กรควรสร้างพื้นที่ ที่คนทำงานจะได้กล้าพูดความต้องการได้อย่างแท้จริง เพื่อหาทางออกร่วมกัน” ดร.เจนนิเฟอร์ กล่าว

                  สำหรับวัฒนธรรมองค์กร ที่มักปลูกฝัง ให้คนทำงานต้องทุ่มเท เสียสละ ทำงานนอกเวลา ดร.เจนนิเฟอร์ มองว่า  อาจไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป  หัวหน้า และผู้บริหาร ต้องชื่นชมให้ถูกจุด ให้รางวัลให้ถูกจุด ตั้งเกณฑ์ประเมินให้ถูกจุด ไม่ใช่ ชื่นชมพนักงานที่ฝืนร่างกายตนเองมาทำงาน หรือ คนอยู่เย็น จนค่ำ เพราะบางครั้งการนั่งอยู่ที่ทำงานนาน ก็อาจไม่ได้งานมากเสมอไป  หรือนั่งทำงานไม่ทานข้าว ป่วยเป็นโรคกระเพาะ หรือไม่เข้าห้องน้ำ เป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ  อะไรที่หนักเกินไปไม่ควรทำ ต้องปรับทิศทาง รูปแบบวัฒนธรรมองค์กร

                  “ไม่ควรชื่นชมคนป่วยที่ฝืนมาทำงาน เช่น นั่งทำงานอยู่นานจนกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ต้องรู้ตัวเองว่าร่างกายไหวหรือไม่ไหว การหยุดพัก เป็นแบบอย่างที่ดี หัวหน้าต้องทำเป็นแบบอย่าง แยกเรื่องงาน และเรื่องส่วนตัว” ดร.เจนนิเฟอร์ กล่าว

                  กฎเกณฑ์ในการประเมินว่าหน่วยงานหรือองค์กรมมี สภาวะสุขภาพจิตดีหรือไม่นั้น  ผศ.ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้รับผิดชอบโครงการ Thai Mind Awards กล่าวว่า การเสริมสร้างสุขภาวะทางจิตที่ดี ในองค์กร มีผลต่อความรู้สึกของพนักงาน และอารมณ์เชิงบวกต่องาน ความรู้สึกประสบความสำเร็จจากงานด้วย โดยจะต้องประกอบไปด้วย 5 ด้าน ที่เรียกว่า “GRACE”

                  G : Growth & Development การสนับสนุนด้านการเติบโตและพัฒนาการ เช่น การพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง เพื่อพนักงานได้เติบโตในหน้าที่การงาน

                  R : Recognition การแสดงออกและการรับรู้ความสามารถและความสำเร็จ เช่น มีการชื่นชม ให้รางวัล

                  A : All for inclusion การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม

                  C : Care for health & safety การดูแลด้านสุขภาพและความปลอดภัย เช่น การมอบสวัสดิการ สุขภาพ หรือ ประกันชีวิต

                  E : work-life Enrichment การมีนโยบายด้านความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน

                  นอกจากนี้ยัง ต้องครอบคลุมการสร้างสิ่งแวดล้อมทางด้านกายภาพ (Physical environment) บรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงาน ควบคู่ไปกับ สิ่งแวดล้อมทางด้านจิตใจ (Psychological environment) ของพนักงานที่มาจากวัฒนธรรมองค์กร ให้เกิดความรักความผูกพันในองค์กรด้วย

                  ทั้งนี้ องค์กรที่สนใจสมัครเข้าร่วมประกวดคัดเลือกเป็นสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต (Thai Mind Awards) สามารถส่งใบสมัครและผลงานเข้าร่วมประกวดมาได้ที่เว็บไซต์ https://chulapsychology.qualtrics.com/jfe/form  เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค.2567 ถึง 15 ก.ย. 2567 จำกัดสิทธิ์การรับสมัครเพียง 50 องค์กร โดยจะคัดเลือกผู้ชนะ 5 องค์กร ที่มีความโดดเด่นภายใต้แนวคิด GRACE และทุกองค์กรที่เข้าร่วมประกวดจะได้รับประกาศนียบัตร และได้รับผลการประเมินสุขภาวะทางจิตของพนักงานภายในองค์กรของตนเอง ที่ผ่านการวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยา

                  เพราะการทำงานไม่ใช่ความลับ และจะรอแต่ผลลัพธ์คงไม่ได้ ทำดีโลกควรรู้ เพื่อส่งเสริม และเผยแผ่ทัศนคติความคิดเชิงบวก ที่เรียกสร้างรอยยิ้มให้คนทำงานออกไป ฉะนั้นมาร่วมกันสมัคร และค้นหา “องค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต” กัน

Shares:
QR Code :
QR Code