‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ เรียนรู้ปลูกผักปลอดภัย
เพื่อนช่วยเพื่อนเรียนรู้สู่การปลูกและบริโภคผักพื้นบ้านอาหารที่ปลอดภัย
เมื่อก่อนนั้นหมู่บ้านห้วยหม้าย อำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีพืชผลทางการเกษตรที่เขียวขจีที่ดูแล้วเป็นหมู่บ้านที่เศรษฐกิจดี มีบ้านเรือนที่ทำด้วยไม้สวยงามตามแบบฉบับบ้านคนเมืองเหนือ มีทุ่งนาที่สามารถมองเห็นได้สุดลูกตา และมีห้วยลำน้ำอยู่ 1 สายตัดผ่านทุ่งนาเป็นห้วยสำคัญที่มีทรัพยากรสำคัญที่เอื้อต่อการเกษตรของคนในหมู่บ้าน นั่นคือห้วยหม้าย แต่ปัจจุบันสภาพการเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านเปลี่ยนไป ชาวบ้านเน้นความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งด้านการเกษตร หรือการประกอบอาหารของแต่ละครอบครัว ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ
นายนพเดช ร่องพืช ผู้ใหญ่บ้านห้วยหม้าย และเหล่าอาสาคณะกรรมการโครงการชุมชนน่าอยู่ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสสส. ได้จัดทำโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน จากครัวเรือนสู่ครัวเรือน ซึ่งโครงการนี้เป็นการสร้างให้เกิดมิติของการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ โดยมีการประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อให้คนในหมู่บ้านรับรู้ มีการค้นหาครอบครัวที่สามารถทำได้ดีตามโครงการในระยะแรกเพื่อเป็นต้นแบบ มีการขยายครัวเรือนสู่สมาชิกครัวเรือนต่อไปเรื่อยๆ เกิดกระบวนการเรียนรู้ถ่ายทอดให้เพื่อนบ้านเป็นไปอย่างธรรมชาติบนพื้นฐานความสัมพันธ์ของคนบ้านเดียวกัน ทำการอบรมกระตุ้นให้เรียนรู้ประโยชน์ของเกษตรอินทรีย์ โดยปลูกและบริโภคผักปลอดภัย สนับสนุนพันธุ์ผัก ศึกษาดูงานชุมชนที่ประสบความสำเร็จในเรื่องเกษตรอินทรีย์ พร้อมเรียนรู้วิธีการทำปุ๋ยหมัก กระตุ้นครัวเรือนให้เห็นความสำคัญของสุขภาพด้วยการผลิตอาหารที่ปลอดภัยในครัวเรือน เช่นการช่วยกันปรับสภาพดินในครัวเรือนของสมาชิกให้เหมาะสมและปลูกผักได้ คนในชุมชนทำบัญชีครัวเรือนแสดงค่าใช้จ่ายการบริโภคผักหากต้องไปซื้อทุกวัน โดยมีคณะกรรมการโครงการติดตามผลการดำเนินงานครัวเรือนอย่างสม่ำเสมอ จนปัจจุบันแต่ละครัวเรือนในบ้านห้วยหม้ายมีความเป็นชุมชนน่าอยู่ด้วยหน้าบ้าน ในบริเวณบ้าน มีผักสวนครัวปลอดสารพิษปลูกไว้แม้กระทั่งที่ว่างของที่นาที่ปลูกพืชอื่นๆ เป็นภาพที่สะท้อนถึงความตระหนักของคนในหมู่บ้านที่ให้ความสำคัญของพื้นที่ที่จะใช้ประโยชน์ต่อสุขภาพที่พวกเขาเลือกได้ว่า หากจะกินผักก็ต้องเป็นผักปลอดภัยที่ปลูกไว้
ซึ่งโครงการดังกล่าวได้สร้างผลลัพธ์ที่ดีให้กับหมู่บ้าน มีการเยี่ยมชมแปลงผักแลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างความสัมพันธ์อันดีงามของคนในหมู่บ้าน มีการขยายครอบครัวที่เรียนรู้ที่นำไปปฏิบัติได้จริง ใช้ปุ๋ยชีวภาพ จำนวน 6 ครัวเรือน สามารถปลูกผักได้ 15-20 ชนิด ชาวบ้านมีความสามัคคีอย่างชัดเจน และสร้างรายได้เสริมให้กับครัวเรือน สุขภาพของคนในครอบครัวดีขึ้น เนื่องจากประกอบอาหารที่ปลอดสารพิษ อีกทั้งยังสามารถเก็บออมเงิน ที่ต้องเสียไปกับสารเคมีอีกด้วย
ที่มา : สร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม