เพิ่มโทษ! สั่งตัดแต้ม ยึดใบขับขี่ โทร.ขับรถ

ช่วง8-19 พ.ค.จับพร้อมตักเตือน 20 พ.ค.เป็นต้นไปจับจริง

 เพิ่มโทษ! สั่งตัดแต้ม ยึดใบขับขี่ โทร.ขับรถ

          เริ่มบังคับใช้วันนี้ กม.โทรศัพท์ไม่ขับขี่ ฝ่าฝืนโดนจับแน่ นครบาลติวเข้มตร. ระบุช่วง 8-19 พ.ค.จับพร้อมตักเตือนก่อน จากนั้น 20 พ.ค.เป็นต้นไปจับจริง ออกใบสั่งพร้อมกันทั่วประเทศ เผยโทษถูกปรับ 400-1,000 บช.น.เสนอตัดแต้ม 10 แต้ม พร้อมยึดใบขับขี่ชั่วคราว หากถูกจับเป็นครั้งที่ 2 จะต้องส่งตัวมาที่บก.จร. ใช้เวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ให้ทำแบบฝึกหัดข้อเขียน โฆษกตร.วอนชาวบ้านเป็นหูเป็นตาตรวจสอบตำรวจอาศัยช่องทางหากิน ด้านมูลนิธิโทร.ไม่ขับเร่งรณรงค์

 

          เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 7 พ.ค. ที่ห้องประชุมใหญ่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รองผบช.น. เป็นประธานการประชุมเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรประจำเดือนพ.ค. โดยมีรองผบก.น.1-9 รับผิดชอบงานจราจร รองผกก.จร. และสว.จร.ทุกสถานี และบก.จร. ร่วมประชุม โดยที่ประชุมมอบนโยบายการกวดขันกฎหมายโทรศัพท์ไม่ขับขี่ ที่จะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 8 พ.ค. รวมทั้งเชิญนายมนตรี พวงทอง หรือมดโฟโต้ไฟล์ แชมป์แฟนพันธุ์แท้กล้องถ่ายรูปปี 2008 มาให้ความรู้เรื่องเทคนิคการถ่ายภาพด้วย

 

          พล.ต.ต.ภาณุกล่าวว่า ทางตำรวจจราจรและสื่อมวลชนมีกรณีพิเศษหารือเข้ามามาก ซึ่งเป็นปัญหาในการปฏิบัติ อาทิ การโทรศัพท์ขณะรถติดไฟแดงหรือรถติดหนักๆ จะทำได้หรือไม่ ขอเรียนว่าในประเทศต่างๆ มีการตีความเหมือนกันหมดว่าทำไม่ได้ ตลอดจนการใช้คอหนีบโทรศัพท์ขณะขับรถและผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เสียบโทรศัพท์ไว้ในหมวกกันน็อกก็ทำไม่ได้ ทั้งนี้เบื้องต้นตำรวจมีนโยบายว่าในวันที่ 8-19 พ.ค.นี้ให้จับและตักเตือนก่อน จากนั้นวันที่ 20 พ.ค.เป็นต้นไปค่อยจับแล้วออกใบสั่งปรับ ให้ถือปฏิบัติเหมือนกันหมด

 

          พล.ต.ต.ภาณุกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามกรณีที่เป็นการโทร.แจ้งเหตุด่วน โทร.เบอร์ด่วน 191 หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นเช่นนั้นถือว่าผิดกฎหมาย แต่ตำรวจมีเงื่อนไขว่าสามารถว่ากล่าวตักเตือนได้ แต่ต้องเป็นสถานการณ์ที่อยู่ในภาวะอันตราย และไม่สามารถหาที่จอดรถได้ในขณะนั้น ทั้งนี้พล.ต.ท.ชาตรี สุนทรศร ผู้ช่วยผบ.ตร. อยากให้เก็บรวบรวมข้อมูลการปฏิบัติว่ามีคนถูกจับและว่ากล่าวตักเตือนกี่ราย ปัญหาอุปสรรคการทำงาน ข้อโต้แย้งของประชาชนมีอะไรบ้างในช่วงวันที่ 8-19 พ.ค.นี้ ให้ศูนย์วิทยุทุกสถานีรวบรวมส่งทุกวันก่อนเวลา 07.00 น. ขณะนี้มีหนังสือสั่งการไปบ้างแล้ว โดยจะประมวลสรุปเสนอ ตร.เพื่อวางนโยบายปฏิบัติทั่วประเทศ

 

          “การโทรศัพท์ขณะขับรถนอกจากจะถูกปรับ 400-1,000 บาทแล้ว ขณะนี้บช.น.กำลังเสนอไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้มีการตัดแต้ม 10 แต้ม ยึดใบขับขี่ชั่วคราว และหากถูกจับเป็นครั้งที่ 2 จะต้องส่งตัวมาที่บก.จร. ใช้เวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ให้ทำแบบฝึกหัดข้อเขียน เป็นมาตรการลงโทษที่ทำให้เสียเวลา ส่วนกรณีมีการกล่าวหาว่าตำรวจอาจใช้เป็นช่องทางหากินนั้น อยากให้จับคนติดสินบนด้วย โดยขอให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมามากที่สุด” พล.ต.ต.ภาณุกล่าว

 

          พล.ต.ต.ภาณุกล่าวด้วยว่า วันนี้เป็นการประชุมทบทวนการปฏิบัติถึงกฎหมายดังกล่าวก่อนจะมีผลบังคับใช้จริงเป็นครั้งสุดท้าย สำหรับอัตราโทษปรับ 400-1,000 บาทนั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพนักงานสอบสวนแต่ละท้องที่ พนักงานสอบสวนอาจจะดูว่าหากผู้ขับขี่ที่กระทำผิดเป็นคนขับรถโดยสารขนาดใหญ่ มีผู้โดยสารเต็มคันรถหรือขับรถนักเรียนแล้วโทรศัพท์ด้วย อาจจะปรับเต็มที่เลยคือ 1,000 บาท ต้องดูพฤติกรรมเป็นรายๆ ด้วย หากโทร.แล้วขับไปชนคนเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ นอกจากจะถูกดำเนินคดีข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ความตายแล้ว ยังต้องถูกปรับข้อหาโทร.แล้วขับด้วย ซึ่งอาจถูกปรับขั้นสูงสุดคือ 1,000 บาทเช่นกัน ทั้งนี้ตามปกติจะใช้ดุลพินิจในการปรับอยู่ที่ขั้นต่ำสุด 400 บาทเป็นหลัก

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมมีการถกกันถึงประเด็นการจอดรถข้างทางเพื่อโทรศัพท์ โดยพล.ต.ต.ภาณุขอให้ตำรวจจราจรใช้ดุลพินิจกรณีมีการจอดรถข้างทางเพื่อโทรศัพท์แต่ยังติดเครื่องอยู่เพราะอากาศร้อน ก็ขอให้ดูที่เจตนาของผู้ขับขี่ด้วย

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นอกจากนี้ในที่ประชุม พ.ต.ท.ปิติพงษ์ บุตรเปี่ยม รองผกก.จร.สน.โชคชัย นำเสนอปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติว่ากรณีที่จะต้องใช้กล้องถ่ายรูปบันทึกภาพผู้กระทำผิด แม้จะมีกล้องแต่ก็ต้องใช้เวลาในการเปิดกล้อง ทำให้บางครั้งถ่ายภาพไม่ทัน ซึ่งต้องมีคนคอยชี้เป้า และบางครั้งกล้องไม่มีสมรรถภาพถ่ายได้หลายๆ ภาพในคราวเดียวกันเพื่อให้เห็นว่าเป็นภาพเคลื่อนไหว กล้องไม่สามารถจับภาพรถที่ขับความเร็วสูงได้ กล้องซีซีทีวีที่ติดอยู่ตามแยกก็ใช้ได้น้อย เพราะเป็นการจับภาพระยะไกล รถบางคันติดฟิล์มฉาบปรอท บางคันติดฟิล์มดำ กล้องจับภาพไม่เห็น ตลอดจนในเวลา 17.30 น. เป็นเวลาโพล้เพล้ กล้องเริ่มจับภาพไม่เห็น

 

          เมื่อเวลา 16.30 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.วัชรพล ประสารราชกิจ ผู้ช่วยผบ.ตร. ในฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับมอบอุปกรณ์เสริมหูฟังโทรศัพท์มือถือจากนายวิเชียร เมฆตระการ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส จำนวน 2 หมื่นชุด รวมมูลค่า 1.6 ล้านบาท ให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำไปใช้ประโยชน์ขณะปฏิบัติงานและแจกให้แก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนทั่วไป ตามโครงการรณรงค์ “ขับไม่โทร โทรไม่ถือ เพื่อความปลอดภัย”

 

          พล.ต.ท.วัชรพลกล่าวว่า พรุ่งนี้กฎหมายห้ามใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถเริ่มบังคับใช้เป็นวันแรก พล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ รองผบ.ตร.ปอ. สั่งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศแล้วว่า ระหว่างวันที่ 8-19 พ.ค.นี้ให้ใช้อำนาจเจ้าพนักงานจราจรในการว่ากล่าวตักเตือนก่อน หลังวันที่ 20 พ.ค.จึงจะออกใบสั่งเปรียบเทียบปรับได้ เพราะเกรงว่าระยะแรกของการบังคับใช้กฎหมายประชาชนจะไม่เข้าใจเงื่อนไข และเมื่อมีการออกใบสั่งเปรียบเทียบปรับตำรวจเองก็ต้องมีหลักฐาน อาจต้องมีการถ่ายรูปไว้เพื่อป้องกันในกรณีที่ประชาชนไม่ไปเปรียบเทียบปรับจนต้องนำคดีเข้าสู่ศาล

 

          “หากเจ้าหน้าที่ตำรวจนำกฎหมายนี้ไปใช้ในทางมิชอบ อาศัยกฎหมายหาผลประโยชน์ ซึ่งต้องอาศัยสื่อมวลชน และประชาชนคอยตรวจสอบ ถ้าตรวจสอบว่าเจ้าหน้าที่รายใดกระทำผิด ใช้กฎหมายหาผลประโยชน์มีพยานหลักฐานชัดเจนจะถูกลงโทษขั้นเด็ดขาด หากมีพยานหลักฐานก็ถึงขั้นปลดออกจากราชการ” พล.ต.ท.วัชรพลกล่าว

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันเดียวกัน มูลนิธิเมาไม่ขับ ร่วมกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ผู้ประกอบการค่ายมือถือ และศิลปินดารา ร่วมรณรงค์โครงการโทร.ไม่ถือ ภายใต้แนวคิดโทร.แล้วขับอันตราย เลี่ยงไม่ได้ใช้อุปกรณ์เสริม ที่บริเวณทางขึ้นทางด่วนดินแดง ก่อนกฎหมายบังคับใช้ ให้ผู้ขับรถต้องใช้อุปกรณ์เสริมสมอลล์ทอล์ก หรือบลูทูธ ในวันที่ 8 พ.ค.

 

          ด้านน.พ.แท้จริง ศิริพานิช ประธานโครงการโทร.ไม่ถือ กล่าวว่า การรณรงค์มีทั้งแจกแผ่นพับ และสติ๊กเกอร์ เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้ผู้ใช้รถปฏิบัติตามกฎหมาย และให้ความใส่ใจต่อการไม่โทรศัพท์ขณะขับรถ หากเลี่ยงไม่ได้ก็ควรมีการใช้อุปกรณ์เสริม เชื่อว่าหากคนไทยร่วมใจกันปฏิบัติจะช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนลงได้ถึงร้อยละ 20 จากสถิติข้อมูลในต่างประเทศ การใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างขับรถมีส่วนทำให้อุบัติเหตุเกิดขึ้น 2-4 เท่า โดยผู้โทรศัพท์ขณะขับรถจะมีคุณสมบัติเท่ากับผู้ดื่มสุราที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดประมาณ 80 มิลลิกรัม หรือเท่ากับเป็นผู้เมาสุราเช่นกัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

 

 

 

update 08-05-51

Shares:
QR Code :
QR Code