เพิ่มทักษะพยาบาลรับมือสังคมผู้สูงอายุ

ที่มา :  ไทยโพสต์


เพิ่มทักษะพยาบาลรับมือสังคมผู้สูงอายุ thaihealth


แฟ้มภาพ


สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ อบรมเพิ่มทักษะให้แก่พยาบาลที่ให้การดูแลระยะยาวในผู้สูงอายุ ด้วยหลักสูตร Train the Trainers เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ส่งเสริม สนับสนุนให้พยาบาลได้รับความรู้และสามารถนำไปปฏิบัติ ตลอดจนถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่นได้


นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เนื่องจากอัตราการเกิดที่น้อยลงและประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น ทำให้อัตราการพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสนใจและร่วมกันตระหนักในผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้น สอดคล้องกับแผนการดำเนินงาน บูรณาการความร่วมมือ 4 กระทรวง


สำหรับการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต : กลุ่มวัยผู้สูงอายุ และยุทธศาสตร์ที่ 1 ของกรมการแพทย์ คือ สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายบริการและวิชาการทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ กรมการแพทย์จึงได้ดำเนินการพัฒนาทักษะการดูแลแบบประคับประคองและดูแลผู้สูงอายุของพยาบาลที่ให้การดูแลระยะยาวในสถานบริบาลในประเทศไทย เช่น ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง กลุ่มโรคเรื้อรังต่างๆ เป็นต้น เพื่อยกระดับมาตรฐานของพยาบาลให้มีความเชี่ยวชาญ โดยการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นและยกระดับการใช้เทคโนโลยีในการดูแล เพื่อปรับปรุงคุณภาพสถานบริบาลที่ดูแลผู้สูงอายุระยะยาว


นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ และคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับ Geriatric Education & Research Institute (GERI) และ Kho Teck Paut Hospital สาธารณรัฐสิงคโปร์ จัดอบรมทักษะสำหรับพยาบาลที่ให้การดูแลระยะยาวในประเทศไทย (หลักสูตร Train the Trainers) จำนวน 5 รุ่น เพื่อพัฒนาทักษะสำหรับพยาบาลให้เป็นผู้ฝึกอบรมการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในสถานบริการ


"ผลที่ได้รับจากการฝึกอบรม ทำให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถปฏิบัติพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุ ใช้เครื่องมือในการประเมินผู้สูงอายุได้ การบริหารจัดการเกี่ยวกับโรคของผู้สูงอายุ รวมทั้งการดูแลเรื่องภาวะโภชนาการและบาดแผล การดูแลแบบประคับประคอง/การดูแลระยะสุดท้าย เพื่อค้นพบอาการผิดปกติ สามารถใช้ทักษะการตรวจร่างกายและสรุปอาการผู้ป่วยเพื่อส่งต่อโรงพยาบาลได้อย่างถูกต้อง" คุณหมอสกานต์กล่าว


ทั้งนี้ จากความสำคัญของการดำเนินงานดังกล่าว เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ส่งเสริม สนับสนุนให้พยาบาลทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้รับความรู้และสามารถนำไปปฏิบัติ ตลอดจนถ่ายทอดต่อไปได้

Shares:
QR Code :
QR Code