‘เพศเชิงบวก’พลิกมุมมองผู้ใหญ่สู่ฐานคิดใหม่

          'ไม่ใช่ปิดกั้นแล้ว มองว่าโตขึ้นก็รู้ ต้องติดอาวุธให้เด็ก แต่ผู้ใหญ่ยังไม่พร้อม เด็กจึงไปแสวงหาเอง' ศิริพร จิรวัฒน์กุล กล่าว


/data/content/25487/cms/e_filmsuvx1267.jpg


          การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม และปัญหาเรื่องเพศของวัยรุ่นในปัจจุบันยังเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายให้ความสนใจและพยายามหาทางแก้ไข โดยเมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้จัดเสวนาในหัวข้อ "พลิกมุมมองเรื่องเพศ เติมพลังชุมชน ปกป้องเด็กและเยาวชน" ขึ้น เพื่อเป็นเวทีสะท้อนปัญหาจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยในงานมีเยาวชน ครู ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนนักวิชาการ มาบอกเล่าสภาพปัญหาในพื้นที่ ทำให้ได้ ความรู้และเกิดความเข้าใจเรื่องเพศในวัยรุ่นมากยิ่งขึ้น


          จุรีรัตน์ เปียสวน แกนนำเยาวชนกลุ่มฅนวัยใส อ.สารภี จ.เชียงใหม่ และอาสาสมัครศูนย์วัยใส ให้คำปรึกษาเรื่องเพศกับเพื่อน วัยรุ่น เล่าว่า จากการให้คำปรึกษาเพื่อนวัยรุ่นทำให้รู้ว่า การมีเพศสัมพันธ์และการคุยพูดเรื่องเพศเป็นเรื่องปกติในสังคมวัยรุ่น  "ทั้งวัยรุ่นหญิงและชายมีการโอ้อวดเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่ง พวกเขาจะไม่บอกเล่าให้ผู้ใหญ่ฟังเพราะรู้ว่าผู้ใหญ่ไม่ยอมรับเรื่องเหล่านี้"


          อย่างไรก็ดี ปัญหาที่สำคัญคือ วัยรุ่น ส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศอย่างแท้จริง ทำให้ไม่สามารถดูแลตนเองได้


          ทั้งในเรื่องสุขอนามัย การคุมกำเนิด  รวมไปถึงการจัดการความสัมพันธ์ เมื่อไม่สามารถปรึกษาผู้ใหญ่ได้ วัยรุ่นจึงหันมาปรึกษาเพื่อนๆ ทำให้บ่อยครั้งได้รับข้อมูลที่ผิดพลาด


          จิตติมา ภาณุเดชะ ผู้ประสานงาน มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง บอกว่า เรื่องเพศในวัยรุ่นไปไกลกว่าความรู้ที่พวกเขา มีอยู่ เนื่องจากค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไป  ขณะที่ผู้ใหญ่ไม่รู้จะจัดการอย่างไร  สาเหตุเพราะเพศเป็นเรื่องลับในสังคมไทยมาโดยตลอด ทำให้ผู้ใหญ่ขาดทั้งมุมมอง ที่เหมาะสมและทักษะที่จะรับมือกับปัญหา  ดังนั้น ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องปรับมุมมอง ต่อเรื่องเหล่านี้เสียใหม่ "เราสอนลูกว่าจะข้ามถนนต้องมองซ้ายมองขวา เพราะเรารู้ว่าวันหนึ่ง เขาต้องข้ามถนนด้วยตัวเอง ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไร เช่นเดียวกับเรื่องเพศ ถ้าเราไม่ต้องการให้เขาประสบอุบัติเหตุในชีวิต เราต้องเตรียมพร้อม ด้วยการให้พวกเขามีความรู้และทักษะเพียงพอที่จะดูแลตัวเองได้"


          ด้วยเหตุนี้ทำให้ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมามูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง ดำเนินแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ โดยการสนับสนุนของ สสส. เพื่อมุ่งทำงาน ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อเรื่องเพศของสังคม แนวคิดหลัก ได้แก่ การมองปัญหาโดยไม่ตีตรา กล่าวโทษผู้ที่ประสบปัญหา การไม่มองเรื่องเพศว่าเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังมีมิติของชุมชนและสังคม ซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กและเยาวชนมีชีวิตที่เป็นสุขและปลอดภัย ที่สำคัญ จะต้องไม่ใช้วิธีข่มขู่ บังคับ แต่ต้องใช้วิธีการเชิงบวกเพื่อให้เด็กและเยาวชนเห็นประโยชน์ของการมีพฤติกรรมที่เหมาะสม


          แนวทางเน้นการสร้าง "พื้นที่ต้นแบบสุขภาวะทางเพศ" 10 แห่ง โดยการทำงานในระดับตำบล ผ่าน "ผู้นำการเปลี่ยนแปลง"ซึ่งหมายถึงการสร้างผู้ที่มีความเข้าใจแนวคิดสุขภาวะทางเพศ และประสานความร่วมมือกับบุคลากรในหน่วยงานระดับตำบล อาทิ ครู  เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ผู้นำท้องถิ่น เป็นต้น เพื่อคิดค้นรูปแบบการ/data/content/25487/cms/e_abcglnpqsxz6.jpgทำงานเพื่อเปลี่ยนทัศนคติของคนในชุมชนให้มองเรื่องเพศในเชิงบวก และเกิดความร่วมมือในการป้องกันและช่วยเหลือเด็กและเยาวชน ที่ประสบปัญหาเรื่องเพศ


          อัมพาพร แก้วสมวงศ์ ครูโรงเรียนบ้านควนเสม็ด อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งร่วมในโครงการโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ ภายใต้แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ โดยการใช้ศิลปะเป็นสื่อการเรียนรู้เรื่องเพศให้กับเด็กชั้นประถมปลาย ย้ำว่า การพูดเรื่องเพศไม่ใช่การชี้โพรงให้กระรอก แต่จำเป็นต้องทำให้เด็กๆ มีมุมมองว่า เรื่องเพศเป็นส่วนหนึ่งระบบหนึ่งของร่างกาย


          ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญและระมัดระวังกับการตอบคำถามเรื่องเพศกับ เด็กนักเรียน เพื่อให้พวกเขาเกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง ไม่เป็นการท้าทายเด็ก ซึ่ง การจะทำได้อย่างนี้ ครูต้องเปิดใจก่อน


          อนัน แย้มสมัย ผู้ใหญ่บ้านหนองแข้ ต.จุมจัง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ บอกว่า จากการจัดทำแบบสอบถามวัยรุ่นในชุมชน  101 คน พบว่า 100 คนตอบว่า หากมีปัญหาเรื่องเพศจะไม่ปรึกษาพ่อแม่ เมื่อปี 2552 อ.กุฉินารายณ์มีปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อม 14 ราย ในจำนวนนี้ 13 รายอยู่ใน ต.จุมจัง ที่เขารับผิดชอบ "วัยรุ่นอวดกันว่าใครคอดำ หมายถึงใครมีเพศสัมพันธ์มากกว่ากันก็จะภูมิใจ เรื่อง เหล่านี้ผู้ปกครองจะไม่รู้อย่างแน่นอน"


          การรวมกลุ่มของผู้ที่มีแนวคิดสุขภาวะทางเพศในชุมชน จากทั้งโรงพยาบาล โรงเรียน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำไปสู่ การคิดกิจกรรม "พาแลงสัญจร" เพื่อใช้วงพูดคุยแบบพื้นบ้านในการปรับทัศนคติ ของคนในชุมชน ให้มีมุมมองต่อเรื่องเพศของวัยรุ่นอย่างเหมาะสม เพื่อหาทางออกร่วมกัน


          สมศักดิ์ โหล่เจ ผู้ใหญ่ชาว ปกาเกอะญอจากบ้านห้วยหก ต.เวียงเหนือ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ยอมรับว่า ชุมชนบนดอยมีปัญหา ช่องว่างทางความคิดระหว่างเยาวชน คนรุ่นใหม่กับผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน เพราะเด็กและเยาวชนออกไปเรียนในเมืองและรับค่านิยมสมัยใหม่ เช่นเดียวกับเด็กในหมู่บ้าน ก็รับรู้เรื่องเพศผ่านอินเทอร์เน็ต และเมื่อชาวปกาเกอะญอมองว่าเพศเป็นเรื่องสกปรก ไม่สามารถพูดคุยเรื่องเหล่านี้ได้ เด็กและผู้ใหญ่ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงยิ่งน้อยลงทุกที


          นอกจากนี้ วัฒนธรรมของชาว ปกาเกอะญอที่ว่าหากมีเพศสัมพันธ์จะต้องแต่งงานกัน ทำให้เด็กและเยาวชนถูกบังคับให้แต่งงานและต้องทิ้งการเรียน ทั้งที่เพศสัมพันธ์ในมุมมองของเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้หมายถึงความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนเสมอไป


          ด้านศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร จิรวัฒน์กุล นักวิชาการอิสระ เห็นว่า มายาคติของสังคมว่าเด็กผู้หญิงที่ดีต้องเรียบร้อย ไม่ใฝ่รู้เรื่องเพศ ทำให้เด็กขาดภูมิคุ้มกันและเสี่ยงที่จะนำไปสู่สถานการณ์ที่เป็นปัญหา "ไม่ใช่ปิดกั้น แล้วมองแบบเดิมว่าโตขึ้นก็รู้เอง แต่ต้องติดอาวุธให้เด็ก เด็กพร้อมจะเรียนรู้ แต่ผู้ใหญ่ยังไม่พร้อม ทำให้เด็กต้องไปแสวงหาเอง เด็กวันนี้เอาตัวรอดลำบากกว่ารุ่นก่อน เพราะมีสิ่งเร้ามากมาย" ดังนั้นผู้ใหญ่ต้องเปิดใจ บ้านและโรงเรียนจะต้องไม่ใช่ที่พึ่งสุดท้าย แต่ต้องเป็นที่แรกที่จะสร้างความรู้เรื่องเพศอย่างถูกต้องให้กับเด็กๆ


          10พื้นที่'สุขภาวะเพศ'ต้นแบบสร้างภูมิคุ้มกันเด็ก


          พ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนัก 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนทการสร้างเสริมสุขภาพ /data/content/25487/cms/e_abcoquvx2389.jpg(สสส.) เล่าว่า จากประสบการณ์ในต่างประเทศ การเปลี่ยน ฐานคิดเรื่องเพศในสังคมถือเป็น "จุดคานงัด" ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการป้องกัน และแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาว แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศมุ่งขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่นำร่อง เพื่อสร้าง "ต้นแบบ" ที่พิสูจน์ถึงความเป็นไปได้ในการนำแนวคิดสุขภาวะทางเพศ  และการสร้างความร่วมมือภายในชุมชน รวมทั้งทำการถอดบทเรียนเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นอื่นสามารถนำแนวคิดและรูปธรรมจากการทำงานดังกล่าวไปปรับใช้ให้เหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องเพศได้อย่างยั่งยืน


          ทั้งนี้ จากการทำงานภายใต้แนวคิดและแนวทางดังกล่าว ส่งผลให้เกิดรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันใน 10 พื้นที่ปฏิบัติการสุขภาวะทางเพศ อาทิ กิจกรรมพาแลงสัญจร ต.จุมจัง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ที่มีการนัดหมายสมาชิกในหมู่บ้านครั้งละ 20-30 คนกินข้าวเย็นร่วมกัน เพื่อพูดคุยถึงสถานการณ์ปัญหา และหาทางดูแลเด็กเยาวชนในหมู่บ้าน 


          การสร้างอาสาสมัครสาธารณสุข ที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสุขภาวะทางเพศใน อ.นาดูน จ.มหาสารคาม หรือ กิจกรรมเฮลธ์คลับและละครสุขภาวะเพศ เพื่อให้ความรู้และสร้างทักษะในชีวิตให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เป็นต้น


          ตัวอย่างรูปแบบการทำงานในพื้นที่เหล่านี้นอกจากเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับ เด็กและเยาวชนแล้ว ยังเป็นการปรับมุมมองของบุคลากรในหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งคนในชุมชน ให้รับรู้ถึงสถานการณ์ปัญหาของเด็กและวัยรุ่น เพื่อจะดูแลพวกเขาได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย


 


 


           ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


           ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ