เฝ้าระวัง6จว.ลุ่มโขงเสี่ยงขาดแคลนน้ำใช้
ที่มา : แนวหน้า
แฟ้มภาพ
กรมชลประทาน เผย การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผน น้ำเพื่อการเกษตรไม่เสี่ยงขาดแคลน พอใช้ถึงสิ้นฤดูแล้งแน่นอน แต่ที่ต้องเฝ้าระวังมากเป็นพิเศษคือ น้ำอุปโภคบริโภคและผลิตน้ำประปา เสี่ยงขาดแคลนน้ำบางจุด
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในภาคอีสานลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน 6 จังหวัดคือ เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย สกลนครและบึงกาฬว่า การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผน น้ำเพื่อการเกษตรไม่เสี่ยงขาดแคลน พอใช้ถึงสิ้นฤดูแล้งแน่นอน แต่ที่ต้องเฝ้าระวังมากเป็นพิเศษคือ น้ำอุปโภคบริโภคและผลิตน้ำประปา เสี่ยงขาดแคลนน้ำบางจุด เช่น อ.เมืองเลย เขตเทศบาลเมืองหนองบัวลำภู ต.บ้านแวง จ.อุดรธานี ซึ่งกรมบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันแก้ปัญหาล่วงหน้าแล้ว โดยอ.เมืองเลย ปีนี้ เสี่ยงน้ำไม่พอ กรมจึงระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำน้ำเลยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ภูหลวง ลงมาตามลำน้ำเลย วันละประมาณ 150,000 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) และสูบเก็บในสระของการประปาจังหวัดเลย ซึ่งขณะนี้อ่างฯห้วยน้ำหมานมีน้ำใช้การ 9.2 ล้านลบ.ม. เพียงพอผลิตน้ำประปาได้ตามปกติตลอดฤดูแล้งนี้
ส่วนเทศบาลเมืองหนองบัวลำภู ซึ่งจะใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยเหล่ายางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผลิตน้ำประปาเดือนละ 200,000ลบ.ม. เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 500,000 ลบ.ม.เสี่ยงขาดแคลนน้ำ จึงสูบน้ำทอดจากสระภูพานทองมาเติม 100,000 ลบ.ม. ทำให้มีน้ำผลิตน้ำประปาได้จนถึงสิ้นสุดฤดูแล้งเดือนพฤษภาคม 2562 แน่นอน
สำหรับพื้นที่ที่ติดแม่น้ำโขง เช่น อ.ท่าบ่อ อ.โพธิ์ตาก และ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย มีน้ำใช้ไม่ขาด และส่งน้ำให้พื้นที่รับประโยชน์อีก 54,000 ไร่ รวมทั้งพื้นที่แก้มลิงหนองหมัด อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี จะมีน้ำใช้ตลอดฤดูแล้งเช่นกัน ขณะนี้กรมฯทำงานกับส่วนท้องถิ่น จัดเตรียมรถบรรทุกน้ำ รถแบคโฮ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่สนับสนุนภารกิจเฝ้าระวังภัยแล้งทั้งในและนอกเขตชลประทานไปจนเข้าฤดูฝน หากราษฎรขัดด้านการใช้น้ำติดต่อหน่วยงานของกรมชลประทานในพื้นได้ หรือ ที่ ศูนย์ดำรงธรรม หรือ 1460 สายด่วนชลประทาน