เฝ้าระวังอาหารเจปลอมปนเนื้อสัตว์
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์
แฟ้มภาพ
สธ.สั่งการเฝ้าระวังอาหารเจ ปลอมปนเนื้อสัตว์ เผย สถานการณ์ดีขึ้น ข้อมูลปี 56-ปัจจุบัน พบปนดีเอ็นเอเนื้อสัตว์ 8.3% อย.ขู่ฟันโทษหนัก อาหารเจปนเนื้อสัตว์ มีโทษปรับ 1 แสนบาท ไม่สะอาดถูกหลักมีโทษปรับ 2 หมื่นบาท
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางการ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย ร่วมกันแถลงข่าว “อิ่มบุญ อิ่มใจ กินเจปลอดภัย” ซึ่งตรงกับวันที่ 28 ก.ย.-7 ต.ค.
โดย นพ.สุขุม กล่าวว่า ช่วงเทศกาลถือศีลกินเจของทุกปี ประชาชนจะรักษาศีล ปฏิบัติธรรม งดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ และรับประทานผักผลไม้ โดยเชื่อว่าการเป็นการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ สธ.จึงได้ให้กรมที่เกี่ยวข้องบูรณาการ การทำงาน สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคในการกินเจอย่างปลอดภัย และดีต่อสุขภาพ และร่วมกันเฝ้าระวังอาหารที่จำหน่ายให้ปลอดภัย ไม่มีการปลอมปนเนื้อสัตว์ รวมทั้งระวังเรื่องหลักโภชนาการ เลือกซื้ออาหารในร้านที่น่าเชื่อถือ และมีสัญญาลักษณ์อาหารสะอาด รสชาติอร่อย
นพ.สมฤกษ์ กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังการปนเปื้อนอาหารในช่วงเทศกาลกินเจตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบัน พบว่ามีการปนเปื้อนน้อยลงโดยพบกลุ่มอาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ตรวจพบ DNA ของสัตว์ปนเปื้อน จากเดิมร้อยละ 50 ปัจจุบันเหลือร้อยละ 8.3 กลุ่มผักดองพบวัตถุกันเสียกรดเบนโซอิคเกินมาตรฐานที่กำหนด ร้อยละ 53.3 กลุ่มอาหารประเภทเส้นพบวัตถุกันเสียกรดซอร์บิค และสีสังเคราะห์ ร้อยละ 31.3 และพบสีอินทรีย์สังเคราะห์ในเส้นหมี่ซั่ว ร้อยละ 38.5 ซึ่งไม่อนุญาตให้ใช้กรดซอร์บิคและสีสังเคราะห์ในอาหารประเภทเส้น อย่างไรก็ตามกรดเบนโซอิค และกรดซอร์บิค หากรับเข้าไปมากจะเกิดอาการผื่นแพ้ คลื่นไส้ และถ่ายท้อง
นพ.ธเรศ กล่าวว่า อย.จะร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ทั้งจากในและต่างประเทศ หากพบการกระทำผิด คือมีการปนเปื้อนไม่ถูกหลักอนามัยจะมีโทษตาม พ.ร.บ.อาหาร คือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท แต่หากพบ DAN ของเนื้อสัตว์ปนเปื้อนในอาหารเจ จะมีโทษหนักทั้งจำ และปรับ โดยอัตราปรับสูงสุด 100,000 บาท ควบคู่กับการให้ดำเนินการแก้ไขโดย อย.จะลงพื้นที่สุ่มตรวจตลอดด้วย
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า โรคที่ต้องเฝ้าระวังได้แก่ อาหารเป็นพิษ เพราะปีนี้พบผู้ป่วยแล้วกว่า 76,000 ราย และเสียชีวิต 1 ราย ดังนั้นการรับประทานอาหารนั้นต้องยึดหลัก เลือกซื้อจากร้านที่น่าเชื่อถือ มีการเก็บอย่างถูกสุขลักษณะ
นพ.มรุต กล่าวว่า ในช่วงกินเจขอแนะนำสมุนไพร 3 กลุ่ม คือ1.พืชสุมนไพรที่กินง่ายช่วยให้อยู่ท้องเช่น กล้วยน้ำว้าธัญพืช 2.พืชสมุนไพรที่ช่วยเรื่องการเผาผลาญ เช่น ขิง และ3.พืชสมุนไพรช่วยป้องกันความดันเบาหวานขึ้น เช่น น้ำกระเจี๊ยบ น้ำดอกคำฝอย เป็นต้น