เผย ‘หวัดนก-หวัดใหญ่’ ดื้อยา

แพทย์แนะ! เปลี่ยนสูตรใหม่

 

 เผย ‘หวัดนก-หวัดใหญ่’ ดื้อยา

           ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ขณะนี้มีความเป็นห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์การดื้อยาของเชื้อไวรัส

 

           โดยเฉพาะไวรัสไข้หวัดใหญ่ รวมถึงไข้หวัดนกเอช 5 เอ็น 1 ที่ถือว่าเป็นสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่เกิดในคน ซึ่งพบว่ามีแนวโน้มในการดื้อยาแล้ว เนื่องจากเมื่อ 2 ปีก่อนเด็กและเสือที่เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกพบว่าเชื้อดังกล่าวดื้อต่อยารักษาโรคไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก โอเซลทามิเวียร์แล้ว

 

           เรื่องดังกล่าวจำเป็นต้องมีการเตรียมการเกี่ยวกับเรื่องการสต๊อกยาระดับชาติเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนกในอนาคตหากเกิดการระบาดขึ้น เพราะขณะนี้ในสต๊อกมีเพียงยาโอเซลทามิเวียร์เท่านั้น จึงจำเป็นต้องสต๊อกยาให้ดี หากเกิดการระบาดร้ายแรง หากไม่สต๊อกยารักษายาสูตรอื่น ยาที่มีอยู่ก็ไม่มีความหมายใดๆ เพราะเชื้อดื้อยาไปหมดแล้วศ.นพ.อมร กล่าว

 

           ศ.นพ.อมร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การรักษาโรคไข้หวัดนกรวมถึงไข้หวัดใหญ่ในคนนั้น มียา 3 ขนาน ได้แก่ 1.ยาโอเซลทามิเวียร์ชนิดเม็ด 2.ยาซานามีเวียร์ (zanamivir) ชนิดพ่น และ 3.ยาไรมานทีดีน (rimantidine) ชนิดเม็ด ซึ่งในรายที่มีอาการในทางเดินหายใจ หรือโรคทางปอด ไม่สามารถใช้ยาชนิดดังกล่าวได้ ก็จำเป็นต้องใช้ยาไรมานทีดีนร่วมกับการทานยาโอเซลทามิเวียร์ด้วย

 

           ซึ่งขณะนี้พบข้อมูลทางวิชาการว่า ไวรัสไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกยังไม่ดื้อยาทั้ง 2 ชนิด อีกทั้งพบว่า ซานามีเวียร์มีผลต่อการเจริญเติบโตของไวรัส หากดื้อยาก็จะทำให้ไวรัสชนิดนี้ตายไปด้วย

 

           ศ.นพ.อมร กล่าวต่อว่า นอกจากไวรัสไข้หวัดนกที่พบว่ามีการดื้อยาแล้ว ไวรัสไข้หวัดใหญ่ในคน เอช 1 เอ็น 1 ก็พบว่ามีการดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ทั่วโลกแล้ว ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาแต่อย่างใด เพราะแม้แต่ประเทศในแถบแอฟริกาใต้ ที่พบว่าไม่มีการใช้ยาใดๆ เลย ก็มีการดื้อยา แต่เชื้อดังกล่าวไม่ดื้อยาซานามีเวียร์ ซึ่งเป็นเพราะเชื้อไวรัสได้มีการกลายพันธุ์

 

           โดยข้อมูลเบื้องต้นของศูนย์การร่วมมือไทยสหรัฐด้านสาธารณสุข พบว่ามีการดื้อยาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ เอช 3 เอ็น 2 ดื้อยาไรมานทีดีน แต่ไม่ดื้อยาซานามีเวียร์

 

           อย่างไรก็ตามเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้กลายพันธุ์ให้เกิดการดื้อยาในประเทศไทยแล้วประมาณ 1 – 2 ล้านคน แต่ยังไม่สามารถระบุตัวเลขได้แน่ชัด เพราะยังไม่มีการศึกษารายละเอียดอย่างแท้จริง

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

 

 

update 23-03-52

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code