เผยไทย ‘ผ่าคลอด’ สูง ทำลูกป่วยง่าย
ชี้!! คลอดเองเด็กได้ภูมิคุ้มกัน
แพทย์เชี่ยวชาญสูตินรีเวช เตือนหญิงตั้งครรภ์เลือกวิธีผ่าคลอด ส่งผลลูกไม่แข็งแรงป่วยง่าย ทั้งภูมิแพ้ หอบหืด ลำไส้อักเสบ อุจจาระร่วง เหตุไม่ผ่านช่องคลอด เพื่อรับแบคทีเรียสร้างภูมิคุ้มกันก่อนเกิด ชี้ไทยมีอัตราผ่าคลอดพุ่งไม่แพ้ประเทศอื่นสูงเกินร้อยละ 30 แล้ว
รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวในงาน เสวนาเรื่อง “วิธีการคลอดกับผลกระทบสุขภาพเด็กแรกเกิด” ว่า สภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้อัตราการผ่าคลอดของหญิงตั้งครรภ์เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกันทั่วโลก ในประเทศไทยมีอัตราการผ่าคลอดเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชน
ซึ่งจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในปี 2533 มีอัตราผ่าคลอดอยู่ที่ร้อยละ 38.55 แต่ในปี 2549 เพิ่มเป็นร้อยละ 51.45 และเชื่อว่าปัจจุบันน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 80 – 90 แล้ว ขณะที่โรงพยาบาลทั่วไปที่ไม่ได้สังกัดกระทรวงสาธารณสุขในปี 2533 อยู่ที่ร้อยละ 15.19 ต่อมาในปี 2549 เพิ่มเป็นร้อยละ 22.44 ขณะที่โรงพยาบาลรัฐในต่างจังหวัด ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 19 – 20 เท่านั้น
อัตราการผ่าคลอดที่เพิ่มสูงขึ้น เกินกว่าอัตราเกณฑ์การผ่าคลอดที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ โดยระบุว่า หญิงที่มีเหตุผลสมควรต่อการผ่าคลอดจะมีเพียงแค่ร้อยละ 10 ของจำนวนหญิงที่คลอดทั้งหมด เนื่องจาก
1.ทารกตัวใหญ่
2.เด็กหัวใจไม่ปกติ
3.เด็กที่เอาก้นออก
4.หญิงตั้งครรภ์ที่เคยผ่านการผ่าคลอดมาแล้ว ต้องผ่าซ้ำ ปล่อยคลอดเองไม่ได้ เพราะเสี่ยงภาวะมดลูกแตก
สาเหตุที่ประเทศไทยมีอัตราหญิงผ่าคลอดมากขึ้น เกิดจากสาเหตุ
1. แม่กลัวเจ็บในช่วงเวลาคลอดลูก
2.กลัวเสียชีวิต ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่เป็นความจริงมาจากสื่อต่างๆ นำเสนอ ความเชื่อดวง เวลาเกิด
3.ปัญหาจากภาระงานและไม่มีเวลา จึงต้องนัดผ่าเพื่อให้ตรงกับเวลาที่ว่าง ส่วนใหญ่พบใน กทม.
“การผ่าคลอดแม่ต้องเสียเลือดมากกว่า 1 ลิตร และยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการผ่าตัด ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โรงพยาบาลศิริราชมีผู้เสียชีวิตจากภาวะดังกล่าว 5 ราย ล้วนเป็นผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อมาจากโรงพยาบาลเอกชนในต่างจังหวัดทั้งสิ้น” รศ.นพ.วิทยากล่าว
รศ.นพ.วิทยา กล่าวว่า จากอัตราการผ่าคลอด ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการผ่าสูงมากในปัจจุบัน ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ในอีก 10 – 20 ปีข้างหน้านี้ จะมีเยาวชนและวัยรุ่นที่ไม่แข็งแรง และเป็นโรคภูมิแพ้และหอบหืดจำนวนมาก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ขณะที่เด็กแข็งแรงส่วนใหญ่จะเป็นเด็กต่างจังหวัดที่คลอดเองตามธรรมชาติ
ศ.เกียรติคุณ นพ.เบียก เบิร์กสเตน กุมารเวชศาสตร์ สถาบันคาโรลินสกา ประเทศสวีเดน กล่าวว่า แบคทีเรียช่องคลอดของแม่ จะเป็นแบคทีเรียชนิดดีหรือที่เรียกว่าโปรไบโอติกส์ หรือจุลินทรีย์สุขภาพในระบบทางเดินอาหาร มีอยู่ 2 – 3 ชนิด อาทิเช่น บิฟิโดแบคทีเรีย และแลคโตบาซิไล มีหน้าที่ในการช่วยสร้างภูมิกันและป้องกันร่างกายจากเชื้อโรคชนิดต่างๆ
และจากศึกษาทางการแพทย์พบว่า แบคทีเรียนี้ช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ อาทิเช่น โรคอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อได้ ลำไส้อักเสบ ทั้งยังช่วยลดโรคภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
update 24-02-52