เผยเคล็ด 7 วิธีดูแลสุขภาพคนคัดแยกขยะ
กรมควบคุมโรค เผยพิษจากขยะอันตรายเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง แนะ 7 วิธีดูแลสุขภาพคนทำงานและครอบครัวในการแยกชิ้นส่วนขยะอันตราย
วันนี้ (16 ส.ค.) นพ.บุญเลิศ ศักดิ์ชัยนานนท์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สารเคมีจากขยะอันตรายสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ 1.การหายใจ จะทำให้รู้สึกแสบจมูก ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ เจ็บคอ แสบคอ คัดจมูก 2.การกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อน จะทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนในระบบทางเดินอาหาร และอาจถึงตายได้ และ 3.การดูดซึมผ่านผิวหนังมักเกิดกับผู้ที่ทำงานสัมผัสกับน้ำมัน เช่น เบนซิน น้ำมันเครื่อง หากถูกผิวหนังอาจเกิดอาการผิวหนังไหม้ เกิดผื่นคัน แสบตา ตาแดง
ทั้งนี้ นอกจากผลกระทบต่อสุขภาพอย่างเฉียบพลันแล้ว สารพิษในขยะอันตรายที่ถูกกำจัดแบบไม่ถูกวิธียังอาจก่อให้เกิดผลเรื้อรังด้วย เช่น ถ่านไฟฉาย มีสารแคดเมียม ทำให้เกิดอันตรายต่อโครงสร้างกระดูก ปอดและไต แบตเตอรีรถยนต์ มีธาตุตะกั่วที่เป็นอันตรายต่อระบบการสร้างเม็ดเลือดแดง และพัฒนาการของสมองในเด็ก เป็นต้น
นพ.บุญเลิศ กล่าวอีกว่า การดูแลสุขภาพคนทำงานและครอบครัวในการแยกชิ้นส่วนขยะอันตราย ควรปฏิบัติ ดังนี้ 1.ล้างมือด้วยสบู่ ก่อนรับประทานอาหารและภายหลังเลิกงาน อาบน้ำชำระล้างร่างกายก่อนกลับบ้าน 2.เปลี่ยนชุดทำงาน เก็บไว้ที่ทำงาน หากต้องนำกลับบ้านให้แยกเก็บไว้ต่างหาก ไม่เก็บรวมกับเสื้อผ้าคนอื่นๆ และแยกซักชุดทำงานออกจากชุดอื่นๆ 3.ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น ตัดเล็บให้สั้น โกนหนวด ล้างหน้า หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการรับประทานอาหารในที่ทำงาน สวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายขณะปฏิบัติงานทุกครั้ง 4.กรณีสถานทำงานกับบ้านเป็นสถานที่เดียวกันควรจัดเก็บเศษวัสดุ ชิ้นส่วนที่มีส่วนประกอบของสารเคมี เช่น แผงวงจร แบตเตอรี ถ่านไฟฉาย ให้พ้นจากมือเด็ก
5.ควรทำความสะอาดพื้นที่ภายในบ้านที่มีการสะสมของฝุ่น เช่น บริเวณพื้น ขอบหน้าต่าง ราวบันได มุ้งลวด ด้วยการเช็ดถูด้วยผ้าชุบน้ำ หรือการดูดฝุ่นแทนการปัดกวาด เพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นภายในบ้าน 6.ควรให้เด็กล้างมือก่อนรับประทานอาหารหรือหลังจากคลานตามพื้น วิ่งเล่นนอกสนาม ใช้มือจับสิ่งสกปรก หรือการทำกิจกรรมอื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสสารเคมี และ 7.ควรมีการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงทุกปี เพื่อเฝ้าระวังการสัมผัสสารเคมีในร่างกาย
ที่มา : เว็บไซต์ astv ผู้จัดการออนไลน์