เผยอาโรมาเทอราปีแค่ให้ผลทางอารมณ์
ไม่มีผลใดๆ ต่อร่างกาย แนะคิดให้ดีก่อนควักเงินจ่าย
หนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์ฉบับออนไลน์รายงานผลการวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับผลของกลิ่นบำบัดหรืออาโรมาเทอราปีต่อสุขภาพ ซึ่งพบว่าแท้จริงแล้วการบำบัดด้วยกลิ่นหอมซึ่งเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายนั้นไม่ได้มีผลใดๆ ต่อร่างกายคนเราเลย มีอย่างเดียวที่พบว่าได้ผลบ้างเล็กน้อยคือช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้นเท่านั้นเอง
นักวิจัยระบุว่าไม่ว่าจะเป็นผลในการรักษาแผล หรือบรรเทาอาการปวดเมื่อย หรือว่าการเพิ่มภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย ไม่พบว่ามีผลเหล่านั้นเลยแม้แต่อย่างเดียว ยิ่งไปกว่าน้ำกลั่นซึ่งใช้เป็นเหมือนยาหลอกในการทดลองนี้ยังให้ผลต่อร่างกายคนบางคนมากกว่าน้ำมันหอมระเหยจริงๆ เสียอีก
“นี่เป็นสิ่งที่คนควรจะนึกถึงก่อนที่จะควักเงินจ่ายเพื่อการทำอาโรมาเทอราปี” คุณเจนีซ กีโคลท์–เกลเซอร์ ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัยนี้และเป็นผู้อำนวยการแผนกสุขภาพและจิตวิทยา ของมหาวิทยาลัยโอไฮโอ สเตท “ฉันซื้อน้ำหอมเพราะว่าฉันชอบกลิ่นมัน นี่ก็เช่นกันถ้าคุณซื้อเพราะชอบกลิ่นก็โอเค แต่ไม่ใช่ว่าคุณจะยอมซื้อน้ำหอมด้วยหวังว่ามันจะช่วยทำให้สุขภาพดีขึ้นหรอกนะ”
ผลการวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์แล้วในวารสารวิชาการด้านศาสตร์ผสมผสานระหว่าง จิตวิทยา ประสาทวิทยาและต่อมเอนโดคริน psychoneuroendocrinology ฉบับออนไลน์ซึ่งเป็นการตีพิมพ์ล่วงหน้าก่อนฉบับกระดาษ
สำหรับกลิ่นบำบัดหรืออาโรมาเทอราปีนั้นมีการใช้กันมานานหลายพันปีและในหลายๆ ประเทศ เป็นต้นว่าอินเดียและอียิปต์ โดยเชื่อกันว่าน้ำมันหอมระเหยชนิดเข้มข้นที่สกัดจากดอกไม้ชนิดต่างนั้นช่วยทำให้สุขภาพกายดีและอารมณ์ดีขึ้น
ทั้งนี้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ สเตท กล่าวว่าถึงแม้ว่าอาโรมาเทอราปีนั้นจะเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายแต่ในด้านหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จะมายืนยันถึงคุณสมบัติในทางบำบัดโรคนั้นมีอยู่น้อยเหลือเกิน
“การวิจัยนี้เป็นการวิจัยครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาและเป็นการศึกษาละเอียดลึกถึงผลจริงๆ ที่อาโรมาเทอราปีมีต่อร่างกายผู้ใช้” คุณกีโคลท์–เกลเซอร์ กล่าวว่า “อันที่จริงแล้วก็มีความเห็นหลากหลายเกี่ยวกับประเด็นที่ว่ากลิ่นอาจมีผลในทางเปลี่ยนแปลงทางกายภาพได้จริง และซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงหลายการวิจัยระบุว่ากลิ่นที่ว่านั้นต้องมีผลต่อร่างกายในลักษณะเดียวกับยาจริงๆ”
และจากหลักการนี้เองทีมนักวิจัยของคุณกีโคลท์–เกลเซอร์ จึงได้ทดสอบผลของน้ำมันหอมระเหยยอดนิยม 2 ชนิด ได้แก่ ลาเวนเดอร์และเลมอน โดยต้องการพิสูจน์ว่าลาเวนเดอร์นั้นมีผลต่อร่างกายในทางทำให้เกิดการผ่อนคลายและช่วยให้นอนหลับง่ายจริงหรือเปล่า ส่วนเลมอนนั้นนักวิจัยทดลองดูว่าจะมีผลต่อร่างกายในทางทำให้เกิดการกระตุ้นอารมณ์ให้ดีขึ้นหรือไม่
การทดลองนี้ใช้คนทั้งหมด 56 คน และใช้เวลาในการทดลองทั้งหมด 3 วันครึ่ง นักวิจัยใช้น้ำกลั่นในกลุ่มควบคุมเพื่อดูผลต่างระหว่างกลุ่มที่ใช้จริงกับกลุ่มที่ได้ยาหลอก สำหรับการตรวจความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของกลุ่มตัวอย่างนั้นนักวิจัยได้เจาะเลือดพวกเขาตรวจเป็นระยะๆ เพื่อดูฮอร์โมนซึ่งเป็นตัวชี้วัดถึงความเปลี่ยนแปลงทางกาย เป็นต้นว่า อินเตอร์ลูคิน-6 (interleukin-6) อินเตอร์ลูคิน-10 (interleukin-10) ฮอร์โมนความเครียด คอร์ติซอล (cortisol) และ โนเรปิเนฟรีน (norepinephrine)
ผลที่ได้คือ กลิ่นเลมอนช่วยทำให้กลุ่มตัวอย่างมีอารมณ์ดีขึ้น แต่ลาเวนเดอร์ไม่มีผลเลย ส่วนผลต่อการผลิตฮอร์โมนเครียดนั้น ทั้งสองอันไม่ได้ช่วยให้เครียดน้อยลงแต่อย่างใด และทั้งคู่ก็ไม่ได้ช่วยในเรื่องการลดความปวดเมื่อย หรือรักษาแผลอีกต่างหาก
ที่มา : สำนักข่าวต่างประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ภาพประกอบ : www.thaihealth.or.th
update 07-03-51