เผยผลรางวัล Family Award 2010
รายการโทรทัศน์ในดวงใจครอบครัว 2553
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดกิจกรรมมอบรางวัล “รายการโทรทัศน์ในดวงใจครอบครัว ปี 2 หรือ family awards 2010” เพื่อส่งเสริมและเป็นกำลังใจให้รายการดีๆ เพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัวต่อไป
เนื่องจาก การดูโทรทัศน์ได้กลายเป็นกิจกรรมยามว่างที่คนส่วนใหญ่ทำมากที่สุด และสื่อในสังคมไทยมีแนวโน้มที่จะนำเสนอโดยเน้นความรุนแรง การใช้ภาษาหยาบคาย การแสดงออกทางเพศที่ไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทยที่มากขึ้น ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ ได้เล็งเห็นถึงการให้ความสำคัญของสื่อโทรทัศน์ โดยการผลักดันให้เกิดรายการที่เหมาะสมกับเด็ก เยาวชน และครอบครัวให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และช่วยลดสื่อไม่เหมาะสมออกจากสังคม โดยครั้งนี้ได้แบ่งรางวัลตามประเภทสัญลักษณ์ของรายการ(เรตติ้ง)ประกอบด้วย ป3+, ด6+, ท, น13+ และ น18+
ผลรางวัลรายการโทรทัศน์ในดวงใจครอบครัว ปี 2 ในประเภทรายการ “ป3+”และ “ด6+” ซึ่งถูกพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านรายการเด็ก อาทิ แพทย์หญิงพรรณพิมล หล่อตระกูล นายแพทย์ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล และ แพทย์หญิงโชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ ซึ่งล้วนมีความเชี่ยวชาญโดยตรงเกี่ยวกับรายการเด็ก ได้ตัดสินให้
รางวัลประเภทรายการ “ป3+” (รายการสำหรับเด็กปฐมวัยอายุ 3 – 5 ปี) ได้แก่ รายการ “บ้านมิกกี้แสนสนุก” เนื่องจาก รูปแบบการนำเสนอที่เหมาะกับการพัฒนาการของเด็กตามช่วงอายุ 3-5 ปี บวกกับการผลิตที่มีคุณภาพ มีเนื้อหากระตุ้นทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ทั้งด้านกระบวนการคิด ความสนุก และดึงความสามารถของเด็กออกมา
รางวัลประเภทรายการ “ด6+” (รายการสำหรับเด็กอายุ 6 – 12 ปี) ได้เลือกรายการ “bubu chacha เพื่อนรักสี่ล้อ” เพราะมีการนำเสนอที่ชัดเจน โดยใช้ประสบการณ์ของเด็กและครอบครัวเป็นองค์ประกอบหลักในการสอน
ส่วนรายการประเภท “ท”, “น13+” และ “น18+” ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นรายการโทรทัศน์ในดวงใจครอบครัว (family poll) ในเชิงปริมาณ จากกลุ่มประชากรเป้าหมาย จำนวนทั้งสิ้น 3,295 ตัวอย่าง ได้แก่ สมาชิกเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กลุ่มคนที่ทำงานด้าน เด็ก เยาวชน และครอบครัว กลุ่มนักศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ กลุ่มครู ผู้ปกครองจากโรงเรียนทั่วประเทศ และกลุ่มประชาชนทั่วไป ผลรางวัลได้แก่
รางวัลประเภทรายการ “ท” (รายการทั่วไปสำหรับผู้ชมทุกวัย) ได้แก่ ลำดับที่ 1 รายการ กบนอกกะลา เนื่องจาก ได้รู้ถึงความเป็นมา แหล่งที่มา ของสิ่งต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร สินค้าทางเกษตร อาชีพต่างๆ พาไปดูสิ่งต่างๆที่เราไม่เคยรู้ น่าติดตาม เสริมสร้างให้ความรู้ในสิ่งที่เราไม่เคยรู้อย่างเป็นระบบ มีเหตุและผล ทำให้ได้ความรู้มากยิ่งขึ้น เป็นรายการที่เจาะลึกถึงแก่นอย่างละเอียดเป็นขั้นเป็นตอน ให้ประโยชน์และข้อคิดหลายๆ ด้าน สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
ลำดับที่ 2 รายการ คนค้นฅน เพราะได้ทราบถึงวิถีการดำเนินชีวิตของคนในสังคมไทย ที่ไม่เคยได้สัมผัส ในรูปแบบของคนจน คนพิการ คนรวย เป็นต้น วิธีการนำเสนอดีมาก เป็นรายการที่แปลก แตกต่างจากรายการอื่นๆ เป็นธรรมชาติมากที่สุด เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และการดำเนินชีวิตแบบเรียบง่ายของแต่ละภูมิภาค และสามารถนำข้อคิด วิถีชีวิตของคนที่มีเอกลักษณ์ คุณประโยชน์ มานำเสนอเป็นตัวอย่างให้ดูสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ชมได้
ลำดับที่ 3 รายการ คุณพระช่วย เป็นรายการที่มีคุณภาพ ฉากสวยสื่อถึงเนื้อหาที่นำเสนอ ส่งเสริมการเรียนรู้และสืบทอดศิลปวัฒนธรรม รวมถึงประวัติศาสตร์ความเป็นไทย พิธีกรรายการสามารถดึงดูดผู้ชมให้เกิดความสนใจได้ดี
ได้รับความบันเทิง ให้ความรู้ แฝงแง่คิด
รางวัลประเภทรายการ “น13+” (รายการที่เหมาะกับผู้ชมที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป ผู้ชมที่มีอายุน้อยกว่า 13 ปี ควรได้รับคำแนะนำ) ได้แก่ ละคร คู่กิ๊กพริกกับเกลือ เนื่องจากเป็นซิทคอมที่สอดแทรกสาระ และไร้สาระเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ดูแล้วไม่เครียด ขำขัน เพลิดเพลิน อารมณ์ดีมีความสุข ส่งเสริมให้รู้จักความสามัคคี การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และรู้จักการแก้ปัญหาต่างๆ
รางวัลประเภทรายการ “น18+” (รายการที่เหมาะกับผู้ชมที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ผู้ชมที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปีควรได้รับคำแนะนำ) ได้แก่ รายการ กรรมลิขิต เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับบาปบุญคุณโทษ ส่งเสริมความรู้ด้านธรรมะคุณธรรม และจริยธรรม สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ทำให้เกิดจิตสำนึกถึงผลที่จะตามมาของการกระทำ
การจัดกิจกรรมมอบรางวัล “รายการโทรทัศน์ในดวงใจครอบครัว” ในครั้งนี้ ก็เพื่อส่งเสริมรายการที่ได้ปฏิบัติและดำเนินการอย่างถูกต้อง ตามมาตรการการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ และให้กำลังใจแก่ผู้ผลิตที่ให้ความสำคัญกับเนื้อหาสาระ คุณภาพมากกว่าธุรกิจ และมีจรรยาบรรณในการผลิตสื่อที่สร้างสรรค์ออกมา นอกจากนี้ ยังมีส่วนผลักดันให้รัฐมีนโยบายในการให้ความสำคัญกับการผลิตสื่อสร้างสรรค์ เพื่อสร้างจิตสำนึกและความรู้ ความเข้าใจเรื่องสื่อกับผลกระทบที่มีต่อเด็ก จัดอบรมหลักสูตรเรียนรู้เรื่องเท่าทันสื่อในหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปฐม มัธยม รวมทั้งลงพื้นที่จัดกิจกรรมร่วมกันภายในครอบครัว เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นภายในครอบครัว
ที่มา : เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ
เรียบเรียงโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน teamcontent www.thaihealth.or.th
update : 02-11-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน