เปิด ‘ห้องเรียนพ่อแม่’ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ที่มา : เว็บไซต์ thepotential.org  เรื่องโดย ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ thepotential.org โดย Mind Da Hed


เปิด ‘ห้องเรียนพ่อแม่’ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ thaihealth


หลังเกษียณแล้ว นอกจากทำงานบ้าน เขียนหนังสือ และตอบคำถามแฟนเพจ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ที่มีเข้ามากว่า 100 คำถามต่อวัน คุณหมอใช้เวลาว่างวันอาทิตย์ เปิดสอนหลักสูตร ‘ห้องเรียนพ่อแม่’ รับจำนวนจำกัดครั้งละไม่เกิน 30 คน ที่สำคัญทุกคนต้องดั้นด้นเดินทางมาเรียนถึงเชียงรายด้วยตัวเอง และเต็มล่วงหน้าไปแล้ว 3 เดือน…


“ระบบการศึกษาสร้างเด็กป่วยจำนวนมากพอแล้ว” เหตุผลสำคัญที่ นพ.ประเสริฐ ตัดสินใจเปิดห้องเรียนพ่อแม่


ปีท้ายๆ ของการทำงานในฐานะหัวหน้าภาควิชาจิตเวช จิตแพทย์เด็กโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ คุณหมอสังเกตเห็นว่า คิวผู้ป่วยจิตเวชเด็กยาวมากขึ้นเรื่อยๆ ยาวไปถึง 3-6 เดือน ถือเป็นเรื่องไม่ปกติ


“ครูทุกโรงเรียนส่งเด็กที่สงสัยว่าสมาธิสั้นวันละสิบๆ คนมาที่ รพ.ทุกวัน อะไรจะสงสัยกันได้เยอะและเร็วขนาดนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่เป็นตัวของตัวเอง ครูบอกให้มาก็มา ดูเป็นทุกข์กันถ้วนหน้าจากนโยบายการศึกษาที่เน้นตัวชี้วัด เรียนไม่เก่ง คัดออก”


ที่ก่อกวนไม่แพ้กันคือ ไอที ที่เข้ามารบกวนตำราพัฒนาการเด็กเล่มที่เคยใช้ให้สั่นคลอนและขาดตอน ต่อให้พ่อแม่เลี้ยงดูดีแค่ไหนพอไปถึงโรงเรียน โรงเรียนก็ทำเสีย


“ประสบการณ์ 15 ปีแรกกับการเป็นจิตแพทย์เด็กในเชียงราย กับอีก 30 ปีที่ตรวจวันละไม่ต่ำกว่า 100 คน จนรู้และจับทางได้ว่า เลี้ยงแบบไหนก็ได้แบบนั้น”


และที่สำคัญ เมื่อหันกลับมามองลูกของตัวเอง 2 คน คุณหมอบอกว่า “ก็เรียบร้อยดี”


เรียบร้อยดีที่แปลว่า “มันไม่กวนประสาท ไม่สร้างความเดือดร้อน ทำงานหาสตางค์ เก็บเงินได้เอง (ยิ้ม)”


เพิงห้องเรียนพ่อแม่จึงถูกปลูกขึ้นด้วยหวังลดจำนวนเด็กๆ ที่ป่วยและถูกยัดเยียดว่าป่วย นักเรียนของห้องนี้คือพ่อแม่และครู… เด็กๆ มีหน้าที่แค่เล่นรออยู่ข้างนอก


ห้องเรียนนี้สอนทั้งหมด 3 วิชา คือ 1. พัฒนาการเด็ก 2. EF (Executive Function) 3. ปรับพฤติกรรม ภายใต้คอนเซ็ปท์ที่ว่า “เอางานวิชาการมาเล่าให้ฟัง และทุกประโยคมีเอกสารทางวิชาการรองรับ”


คาบแรก: วิชาพัฒนาการเด็ก


“ถ้าไม่พร้อมจะเลี้ยงลูก กรุณาอย่ามีลูก” คุณหมอกล่าวต้อนรับนักเรียนทุกคนด้วยประโยคนี้ แต่ถ้ามีแล้วเราต้องเข้าใจพัฒนาการของลูก ที่เป็นไปตามลำดับขั้น ถ้าขั้น 1 ดีได้ ก็จะดีในทุกปีที่ผ่านไป


ขั้น 1 คือ 12 เดือน


ขั้น 2 คือ 2-3 ปี


ขั้น 3 คือ 4-5 ปี


ขั้น 4 คือ 6-12 ปี


ขั้น 5 คือ 12-18 ปี


เปิด ‘ห้องเรียนพ่อแม่’ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ thaihealth


12 เดือนแรก: Trust


3 เดือนแรก ลูกกับแม่เป็นหนึ่งเดียวกัน 3-6 เดือน แม่กับลูกถึงจะนับเป็นสอง แต่ขาดจากกันไม่ได้ ถ้าขาดต้องตาย


“เราไม่ได้เป็นแม่ในวันแจ้งเกิด ลูกต้องใช้เวลา 6 เดือนในการพิจารณาและอนุมัติว่าเราคือแม่ ผ่านทรวงอก น้ำนม หัวใจ เพลงกล่อม และอ้อมกอดที่ไม่เหมือนใครในโลก”


แต่เรื่องเศร้าก็คือ แม่คนไทยลางานเลี้ยงลูกได้เพียง 3 เดือน สายสัมพันธ์ที่ควรจะแข็งแรงจึงอ่อนแอกว่าที่ควร


“เด็กไม่ไว้ใจสิ่งแวดล้อม แม่ต้องเลี้ยงให้ดีที่สุด หิวก็แม่มา ร้อนก็แอร์มา หนาวผ้าห่มก็มา เหงาก็มีคนอุ้มกอด คนที่เขาไว้ใจคือแม่ สิ่งแวดล้อมจะดีต้องมีแม่ที่ดีมาก”


แม่ที่ดีมากในความหมายของคุณหมอ คือ แม่ที่ปรนเปรอลูกไม่อั้น ร้องแล้วอุ้มๆ ตลอด


“ไม่ใช่เวลาฝึกความเข้มแข็ง แม่ให้อย่างเดียว”


2-3 ปี: Self


วัยอ้อแอ้เตาะแตะแบบนี้ มาพร้อมความสามารถอัตโนมัติหลายอย่าง ในเครื่องหมายดอกจันตัวโตๆ ว่า “ถ้าพ่อแม่เปิดโอกาส” เพราะหน้าที่ของเด็กวัยนี้คือ ‘ดื้อ’


ความสามารถอัตโนมัติเช่น การกลั้นฉี่ กลั้นอึ ซึ่งเด็กจะกลั้นไว้หรือปล่อยได้ ขึ้นกับอำนาจการควบคุมของพ่อแม่ สำคัญคืออย่าไปเปรียบเทียบ เร่ง หรือกดดัน ความสามารถตามธรรมชาติที่ว่านี้ สอนเด็กได้อย่างเดียวคือ ปล่อยให้เป็นที่เป็นทาง ความสามารถต่อมาคือ กล้ามเนื้อมัดใหญ่ อย่างแขนและขา เขาจะวิ่ง เดิน ตี และเตะพ่อแม่ได้


“เขาจะเขวี้ยงของได้ กวาดของลงโต๊ะได้ พ่อแม่ไม่ควรอารมณ์เสีย ตอนลูกผมเล็กๆ เขาเขวี้ยงของ ผมชวนเล่นปาของด้วยกันเลย แต่ควรเลือกของและสถานที่ที่จะเขวี้ยงนะ เพราะนั่นคือการฝึกใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ไอ้ที่เราห้าม เรากำลังขวางทางพัฒนาการเด็กหรือเปล่า”


พอย่างเข้า 3 ขวบ เด็กจะสร้างตัวตน (self) ซึ่งจะตุนยาวเอาไว้ใช้ตั้งแต่ตอนกิน เล่น เรียน จีบ ทำงาน และตลอดชีวิต


“ถ้าเด็กไม่มีตัวตน เวลาเจอปัญหาจะแสดงออกต่างๆ เช่น กรีดข้อมือให้รู้สึกเจ็บ เพื่อเตือนให้รู้ว่าตัวเองมาจากไหน เป็นใคร ให้รู้ว่า อ๋อ มีตัวตนนะ”


หรือกรณี วัยรุ่นริอยากลองมีเพศสัมพันธ์ คนที่ไม่ป้องกัน ก็จะ ‘อะไรก็ได้’


“เพราะเขาไม่สน ไม่รู้สึกว่ามีตัวตนตั้งแต่แรก”


4-5 ขวบ: Initiation


วัยแห่งการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก โดยเฉพาะ ‘นิ้วมือ’


“พ่อๆ แม่ๆ ควรระลึกไว้ว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่ใช้นิ้วมือได้ เด็กวัยนี้อยากใช้นิ้วเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในโลก เช่น ระบายสี พับกระดาษ เล่นบทบาทสมมุติ วิ่งไล่กัน ปีนต้นไม้ และอ่านหนังสือ”


โดยเฉพาะกิจกรรมหลังสุดที่พ่อแม่ทั้งหลายถอดใจ ยื่นแทบเล็ตให้ลูกแทนไปเรียบร้อยแล้ว


“การอ่านหนังสือ มือได้แตะ ได้คลำ ทุกๆ หน้าที่เปลี่ยนไป หน้ากระดาษด้านซ้ายจะหนากว่าด้านขวา นิ้วโป้งซ้ายจะจับหน้ากระดาษที่หนาขึ้นทุกที นิ้วโป้งขวาจะจับกระดาษที่บางลงทุกที พวกนี้ส่งสัญญาณขึ้นสู่สมองด้วยว่านิ้วจับที่ตรงไหน สมองก็เรียนรู้ว่าเนื้อหาตรงนี้อยู่ประมาณเศษ 1 ส่วน 4 ของหนังสือเล่มนี้ รูปแบบของสมองก็จะพัฒนาไปอีกแบบหนึ่ง”


ถ้านิ้วมือดี สมองก็ดี คุณหมอสรุปไว้ แต่ไม่ใช่ว่าเห็นเขาสนุกกับการใช้นิ้วแล้วจะฝึกให้เขียนอักษรไทย 44 ตัวกันเลย


“วัยนี้เขามีหน้าที่เล่น ไม่ได้มีหน้าที่เขียน” คุณหมอพูดเสียงดังฟังชัด


นอกจากกล้ามเนื้อมัดเล็ก เด็ก 4-5 ขวบจะเริ่มสนใจเรื่องเพศ และเริ่มมีกริยาทางเพศ คนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องสอนให้เขารู้ว่าโลกนี้ด้วยกัน 8 เพศ คือ 1.หญิง 2.ชาย 3.เลสเบี้ยนชาย 4.เลสเบี้ยนหญิง 5.เกย์ชาย 6.เกย์หญิง 7.ไบเซ็กชวล และ 8.ทรานส์เจนเดอร์หรือคนข้ามเพศ


“เขาจะเลือกเพศอะไรไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดู หรือพันธุกรรม ขอให้รู้ว่าเขาเป็นเองและเลือกไม่ได้ สิ่งที่พ่อแม่ทำได้คือสอนให้เขาปฏิบัติกับเพศอื่นด้วยความเคารพ”


6-12 ปี: Industry


“เด็กตื่นมาเพื่อไปโรงเรียน เพื่อไปทำหน้าที่สร้างผลผลิตทางอุตสากรรม (Industry)”


สร้างอย่างไร? คุณหมอโยนคำตอบมาให้ 3C


Compete – เขาไปเพื่อแข่งขัน ต่อสู้ และชิงดีชิงเด่นกับเพื่อนๆ


Compromise – หลังจากแข่งขัน เขาก็ต้องเรียนรู้การรอมชอม ประนีประนอม


Coordinate – เพื่อนำไปสู่ การร่วมเล่น ร่วมทำการบ้าน และทำโครงการด้วยกัน


“เขาอยากจะสร้างผลงานอยู่แล้ว ทุกคนอยากลงรอยและรวมตัวกันเป็นทีม” สรุปสั้นๆ จากคุณหมอ


12-18 ปี: Identity


วัยรุ่นมาพร้อมกับการค้นหาอัตลักษณ์ (identity) สเต็ปหลังจากนั้นคือการจีบคนรัก (intimacy) ซึ่งไม่จำเป็นต้องผูกขาดไว้แค่หญิงหรือชาย แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้ 2 ข้างต้นคือ การเข้าแก๊ง เข้ากลุ่ม หาความจงรักภักดี (loyalty)


หากปัญหาที่พบบ่อยมากถึงมากที่สุด คือ พูดอะไรก็ไม่ฟัง คุณหมอยิ้มใจดีและตอบอย่างใจเย็นว่า


“อาการพูดไม่ฟังเป็น ‘หน้าที่’ ของวัยรุ่น ถ้าเขาทำหน้าที่นี้ไม่ได้ เขาจะกลายเป็นบุคคลไม่มีอัตลักษณ์ ไม่รู้จักโต เราเลี้ยงเขามาเพื่อให้ปีกคุณหมอย้ำว่า ตรงข้ามกับการพูดให้ลูกเชื่อฟังหรือสั่งสอน พ่อแม่ควรฟังเรื่องที่ลูกพูด ฝึกฟังให้มาก แม้ไม่เห็นด้วยหรืออะไรที่เขาพูดไม่เข้าท่า ก็ขอให้ฟังไปก่อน ไม่ขัดคอ ไม่ตั้งคำถาม เพราะเมื่อถามจะกลายเป็นซักฟอก


“ถ้าเราฟังเก่งๆ เราจะขออะไรเขาได้บ้าง เช่น กลับมากินข้าว 4 ทุ่มนะจะมีกับข้าวรอ หรือ สอบผ่านก็พอนะ หรือใช้ถุงยางทุกครั้งนะ ขอข้อเดียว อย่างมากสอง เลือกที่ซีเรียสก็พอ อย่าขอเปรอะไปหมด จะไม่ได้สักข้อ”


อดทน รัก และรอ อย่าทำแก้วแตก เขาจะกลับมา


“หน้าที่ข้อที่ 4 ของวัยรุ่นคือการเลือกอาชีพ career choice ต้องการสมองส่วนหน้าที่ดีและความสามารถมองอนาคตที่ดี ดังจะเล่าให้ฟังต่อไป” กล้าขาแข็ง”

Shares:
QR Code :
QR Code