เปิดใจ ผู้สร้างตำนาน “วิ่งสู่ชีวิตใหม่”
ที่มา : ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา
ศาสตราจารย์นายแพทย์อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม คือผู้บุกเบิกกระแสการวิ่งในเมืองไทย ระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา จิตแพทย์ท่านนี้บอกว่าเป็น ส.ส.มา 3 สมัย ยังไม่ป๊อบปูล่าร์เท่ากับการเป็นนักวิ่ง ทั้งสามารถซ่อมร่างกายที่เจ็บป่วยจากเส้นเลือดหัวใจตีบ และมีความสุขที่ได้แบ่งปันแรงบันดาลใจแก่ผู้อื่น
"การวิ่งมีคุณค่าต่อผมคือ 1. รอดตาย 2. ได้แบ่งปัน.."
"พอรู้ว่าเป็นโรคหัวใจ ไม่รู้จะจัดการตัวเองอย่างไร ตอนนั้นผมเพิ่งอายุ 40 กว่าปี บ้านยังผ่อนไม่หมด เมียก็ยังสาว ลูกก็ยังเล็ก อาการโรคหัวใจเหมือนมีระเบิดอยู่ในร่างกาย จะจุดเมื่อไรก็ไม่รู้ แต่ผมตายไม่ได้"
ขณะที่ชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย ท่านพลิกอ่านนิตยสาร Asia Runner และเจอบทความที่เปลี่ยนชีวิตอย่างสิ้นเชิง ในบทความนั้นเล่าว่า ชายคนหนึ่งชื่อจอห์น เป็นโรคหัวใจ และหมอบอกว่าเขาจะต้องตายในไม่ช้า แต่จอห์นเชื่อในร่างกายตัวเอง เขาใช้การออกวิ่งเยียวยาโรคร้ายจนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เมื่ออ่านจบ คุณหมอเกิดความประทับใจมาก และตัดสินใจที่จะรักษาตัวเองด้วยสองขาเหมือนนายจอห์นนี้แหละ!
ยิ่งคำว่า "ตายไม่ได้" ทำให้มีแรงบันดาลใจมากขึ้น ท่านใช้ร่างกายตัวเองก้าวข้ามความเจ็บป่วย นอกจากจะหายจากอาการเส้นเลือดหัวใจตีบแล้ว ในวัย 76 ปี ท่านยังดูกระฉับกระเฉง แข็งแรง และใช้ชีวิตทั้งชีวิตเพื่อแบ่งปันความสุขจากการวิ่งให้แก่คนไทย
"ผมน่าจะเป็นคนไทยคนแรก ที่ไปวิ่งที่ฮอนโนลูลูมาราธอนที่ฮาวาย ระยะทางกว่า 42 กิโลเมตร กลับมา ผมก็คุยลั่นศิริราช จนศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ชวนมาเขียนคอลัมน์เรื่องการวิ่งในนิตยสารหมอชาวบ้าน ชื่อคอลัมน์วิ่งสู่วิถีชีวิตใหม่ และกลายเป็นวิ่งสู่ชีวิตใหม่ในตอนหลัง"
ต่อมาไม่นาน งานเขียนคอลัมน์ดังกล่าวก็ได้รับการรวมเล่มเป็นหนังสือ "วิ่งสู่ชีวิตใหม่" ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมาก มีการพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง และถือเป็นคัมภีร์ที่นักวิ่งต้องอ่าน
นอกจากนี้ ท่านยังได้จัดงานวิ่งมาราธอนระดับปรากฏการณ์มากมาย แต่ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย คืองาน "วิ่งลอยฟ้าเฉลิมพระเกียรติ" บนสะพานแขวนพระราม 9 ครั้งนั้นมีผู้มาร่วมงานหลายแสนคน
"กว่าจะถึงวันงาน ผมต้องสร้างคนเพื่อให้มาวิ่งมาราธอน ก็เลยประกาศว่าใครก็ตามที่มาหาผมที่สวนจตุจักรทุกเช้าวันเสาร์ ผมจะสอนวิ่งมาราธอน"
ผลคือมีคนสนใจจำนวนมาก แต่ท่านก็ไม่หยุดแค่นั้น เพราะมีโจทย์ในใจต่อไปว่า ทำอย่างไรให้คนที่ไม่สนใจการวิ่งเลย มาวิ่งให้ได้ นี่จึงเป็นที่มาของการประกาศหานักศึกษาแพทย์มาวิ่ง ระยะทางก็ไม่ใช่เล่น แค่จากเชียงใหม่มากรุงเทพฯ เท่านั้น!
"ถ้านักศึกษาแพทย์วิ่งได้ ใครๆ ก็วิ่งได้" อย่างที่เรารู้กันว่านักศึกษาแพทย์มักจะเคร่งกับตำรามากกว่าใช้แรงกาย ถ้าพวกเขาทำสำเร็จ นี่จะเป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่
อาจารย์เล่าอย่างสนุกสนานว่า มีนักศึกษาแพทย์มาสมัครงงๆ 10 กว่าคน แต่สิบกว่าคนนี้แหละที่เป็นยิ่งกว่าฮีโร่ วิ่งผ่านจังหวัดไหนก็ได้รับเสียงเชียร์ท่วมท้น และจุดประกายให้เกิดนักวิ่งหน้าใหม่ตามมาไม่น้อย
การวิ่งมีอยู่สองประเภทคือ วิ่งมาราธอนกับวิ่งเพื่อสุขภาพ ถ้าสะดวกวิ่งมาราธอนก็ลุยเลย แต่ถ้ายังไม่พร้อมก็ซ้อมไปก่อน เพราะรู้หรือไม่ว่า การเทรนตัวเองเพื่อนำไปสู่การวิ่งมาราธอนนี้เอง ที่คือกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพ
"3-5 กิโลเมตรคือการวิ่งเพื่อสุขภาพ มากกว่านั้นคือมาราธอน และเป็นชัยชนะส่วนบุคคล เวลาถึงเส้นชัย เราได้รู้ว่าเรายืนบนสองขาได้แน่นอน พิสูจน์ว่าเราแข็งแรง ยืนบนขาตัวเองได้"
หรือถ้าอยากลองวิ่งมินิฮาล์ฟมาราธอนก่อน ท่านก็แนะนำให้มางานวิ่งใหญ่ประจำปีนี้ ซึ่งก็คือ "วิ่งสู่ชีวิตใหม่ Thai Health Day Run" ที่ท่านเป็นผู้ผลักดันให้มีโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น และพิเศษคือปีนี้เป็นปีครบรอบ 15 ปีของ สสส. งานนี้จึงไม่ธรรมดาแน่นอน
"ถ้า สสส.จัด ก็คืองานวิ่งระดับมาตรฐาน ปลอดภัย มีการให้ความรู้แก่ประชาชน เพราะจัดโดยคนที่วิ่งจริงๆ ไม่ได้มีผลประโยชน์อื่น ได้ทั้งความรู้ทางวิชาการและเทคนิคการวิ่ง"
"ความสุขของนักวิ่ง นอกจากได้ออกกำลังกายแล้ว คือการได้พบเพื่อนที่ดีที่สุด และใครก็ตามที่วิ่งมาราธอน จะปลอดจากโรคหัวใจอย่างน้อย 5 ปี" ได้แรงบันดาลใจแล้วก็ออกมาวิ่งด้วยกันนะ
คุณพร้อมไปวิ่งมินิฮาล์ฟมาราธอนหรือยัง?
1. สำหรับคนที่ไม่มีเวลา การวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่ทำที่ไหนก็ได้ ท่านศาสตราจารย์นายแพทย์อุดมศิลป์ ยกตัวอย่างตัวเองที่ไปบรรยายที่ไหน ก็จะพกชุดวิ่ง ผ้าขนหนู กระติกน้ำไปด้วย เรียกว่าไปไหนไปด้วยกัน มีเวลาน้อยนิดแค่ 30 นาทีก็ยังวิ่งได้กว่า 5 กิโลเมตร เก็บสะสมความทนทานทุกวัน และถ้าเป้าหมายคือการไปวิ่งมาราธอน ก็ต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมเต็มที่
2. ท่านแนะนำว่า สำหรับนักวิ่งหน้าใหม่ อย่าเพิ่งใจเร็วด่วนได้ แต่ต้องฟังเสียงร่างกายตัวเอง ค่อยๆ ปรับให้ร่างกายเคยชินทีละขั้น ท่านเล่าว่าใช้วิธีค่อยเป็นค่อยไป วิ่งเดือนแรกเพื่อปรับร่างกายก่อน เหนื่อยก็ไม่หยุดแต่ใช้วิธีเดินต่อ สามเดือนต่อมาจึงสามารถวิ่งได้รอบสปอร์ตคลับ ที่ระยะทางราว 2 กิโลเมตร จนเมื่อมาเจอรองเท้าวิ่งที่ใช่ รู้จังหวะ ก็กลายเป็นนักวิ่งอย่างสมบูรณ์แบบได้
3. พร้อมแล้วมาวิ่งกันที่งาน Thai Health Day Run 2016 ซึ่งจัดเป็นเป็นปีที่ 5 และเนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปีของ สสส. ครั้งนี้จึงพิเศษกว่าครั้งไหนๆ แน่นอน นับให้ดีว่าครบห้าอย่างนี้แล้วมาได้เลย
ระยะทางแน่นอนชัวร์ บอกว่าห้ากิโลก็ห้ากิโลเป๊ะเว่อร์
ระบบดูแลความปลอดภัยตลอดเส้นทาง มากันได้เลยทั้งบ้าน
มีจุดบริการน้ำดื่มทุกระยะ ไม่ต้องกลัวว่าจะอดอย่ากังวลว่าห้องน้ำน้อยเกินไป เพราะเรามีให้เป็นระยะ
มีหน่วยพยาบาลดูแลตลอดเส้นทาง
หมายเหตุ ออกวิ่งพร้อมกันวันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน 2559 เริ่มปล่อยตัว 05.45 น. ณ สนามเทพหัสดิน (บริเวณสนามศุภชลาศัย สนามกีฬา แห่งชาติ) ระยะทาง 5 กม./10 กม. สำหรับประชาชนทั่วไป ระยะทาง 50 เมตร และ 100 เมตร สำหรับเด็ก อายุ 6-12 ปี สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.runningconnect.com หรือ facebook :วิ่งสู่ชีวิตใหม่