เปิดใจ นร.หลังห้อง
ขอ “โอกาส” และ “สิทธิ์” (เรียน)
เมื่อเร็วๆ นี้ ในงานเสวนา “เด็กนอกระบบการศึกษา : สถานการณ์และทางออกของปัญหา” ของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) หรือ “สสส.การศึกษา” พร้อมประกาศสนับสนุนทุน “โครงการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชนในระดับท้องถิ่น (เทศบาล)” ครั้งที่ 1/2553 เพื่อหา “เจ้าภาพ” ในการแก้ไขปัญหานอกระบบ ด้วยการหนุนให้องค์กรท้องถิ่น เริ่มจาก “เทศบาล” เป็นตัวขับเคลื่อน สำรวจ “เด็กนอกระบบ” ในพื้นที่ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ก็เป็น “หนทาง” หนึ่งที่เปิดโอกาสให้สังคมได้ร่วมมอง “เด็กหลังห้อง-นอกระบบการศึกษา” ด้วยใจที่เปิดกว้าง
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค. กล่าวว่า การแก้ปัญหาเด็กนอกระบบต้องเริ่มจากการยอมรับในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ฉะนั้นอยากให้ ‘ลบ’ ความรู้สึกสงสาร หรืออารมณ์ที่มองเด็กกลุ่มนี้ว่าน่าสงเคราะห์ออก เพราะเด็กทุกคนมีสิทธิ์ได้รับต้นทุนชีวิตในการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันกับเด็กในระบบการศึกษา
“ปัญหาเด็กนอกระบบเป็นปัญหาซับซ้อน ถ้าเราไม่แก้ไข จะไม่ได้เกิดผลเสียแค่เด็ก แต่จะโยงไปถึงทักษะในการประกอบอาชีพ เมื่อเขาโตไปทำงานที่ใช้ทักษะน้อย ก็มีรายได้ต่ำ ไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างดี สร้างให้เกิดปัญหาครอบครัว ส่งต่อให้เด็กไม่ได้รับการศึกษาพื้นฐานสะสมเพิ่มขึ้นทุกปีการศึกษา โดยสหรัฐอเมริการะบุว่า เด็กนอกระบบมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาอาชญากรรมสูงถึง 7 เท่า และมีชีวิตสั้นลง 9 ปี” นพ.สุภกร กล่าวและย้ำว่า
การดูแลกลุ่มเด็ก “นอกระบบ” อย่างจริงจังและต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งสำคัญ ก่อนที่ปัญหาจะลามไปสู่สังคมและประเทศ ฉะนั้นการหา “เจ้าภาพ” เข้ามาเป็นแกนนำในการรับผิดชอบ และขับเคลื่อนร่วมกับพันธมิตร องค์กรสาธารณประโยชน์ หรือการศึกษานอกโรงเรียน จึงจำเป็นต้องเริ่มต้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่าง “เทศบาล” ในการเป็นตัวตั้งตัวตี เพราะมั่นใจในศักยภาพที่มาจากคนในท้องถิ่น โดยเงินสนับสนุนในครั้งแรกนี้ว่าจะครอบคลุมประมาณ 15-20 เทศบาล เทศบาลละ 5,000 คน และเด็กนอกระบบร่วมแสนคนกลับเข้าระบบการเรียนรู้ และสร้างอาชีพอีกครั้ง
ด้าน “วัยโจ๋” ตัวแทนเยาวชน “เด็กนอกระบบ” ที่เคย “ก้าวพลาด” จากบ้านกาญจนาภิเษก ก็ร่วมสะท้อนปัญหาที่ผู้ใหญ่อาจจะมองข้าม เริ่มจาก “ตึ๋ง” วัย 21 ปี ขอ “พื้นที่ยืน” ในสังคมให้เด็กที่เคยทำผิด เพราะแม้พวกเขาจะเคยเข้าสู่อบายมุข จี้ปล้น และหาเงินมาเสพยาเสพติด แต่มั่นใจว่าไม่ว่าเด็กที่ไหนก็อยากจะทำให้อนาคตได้ดีกว่านี้ ฉะนั้นอยากให้ทุกคนปรับความคิดใหม่ว่า เด็กที่ใครยัดเยียดว่า เป็นอนาคตของชาตินั้น ไม่จำเป็นต้องเลิศหรูมากมาย ไม่ต้องรวย ไม่ต้องเป็นลูกนายก แค่เป็นคนดีในสังคมก็พอแล้ว
“ไม่ว่าเด็กจะทำอะไรผิด ไม่ว่าจะนอกระบบหรือในระบบ อยากให้ดึงเด็กกลับมาให้อยู่ในสังคมได้ เพราะว่าเขายังมีคุณค่าความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นพลังสำคัญของชาติ การเกิด “สสค.” ก็น่าจะเข้ามาช่วยเพิ่มต้นทุนชีวิตให้เด็ก เข้ามาฉีดวัคซีนสร้างภูมิต้านทานในอนาคต ด้วยการใช้ความจริงใจ มอบโอกาสให้เขาได้มีที่ยืนในสังคม” ตึ๋งกล่าว
ต่อด้วย “แชมป์” วัย 22 ปี เด็กเรียนช่างศิลป์ ที่สะท้อนว่าการสื่อสารระหว่าง “นักเรียน” กับ “ครู” อาจเป็นจุดบอดของการปฏิรูปการศึกษาไทย และยอมรับว่า มีคดี แต่ฝ่ายปกครองโรงเรียนพอทราบเรื่องก็เชิญให้ออก แต่แม่อยากให้เรียนต่อ เราก็ไปอีก 3 โรงเรียน แต่ไม่มีใครรับ ทำให้ผมรู้สึกว่าโรงเรียนให้ออกโดยไม่มีเหตุผล เหมือนไม่เข้าใจเรา อาจจะเป็นเพราะผมพูดภาษาวัยรุ่น เขาพูดภาษาวิชาการ สังคมข้างนอกก็ไม่เปิดโอกาสให้พวก ผมเลยอยากให้เปิดใจกับเด็ก แต่อย่าใช้เพียงคำพูดอย่างเดียว ต้องใส่ความจริงใจเข้าไป เด็กเขารู้เขาสัมผัสได้ ไม่ใช่แค่สอนหนังสือ
“เบนซ์” เด็กห้องคิง ที่ถูกเลี้ยงดูด้วยเงิน และสภาพชีวิตกลางคืน มีรถขับตั้งแต่ ม.4 สะท้อนให้ฟังว่า อยากให้ใส่ใจเด็กให้มากขึ้น ให้เด็กได้ทำในสิ่งที่ชอบ โดยที่ไม่ต้องสนใจว่าเขาจะทำได้ดีหรือไม่ แต่อยากให้กำลังใจเขา แล้วก็อยากให้สนใจเด็กที่ไม่เก่งมากกว่าเด็กเก่ง เพราะเด็กเก่งยังไงเขาก็เอาตัวรอดได้อยู่แล้ว แต่เด็กไม่เก่งนี้สิ ไม่ค่อยมีทางเลือก ผมรู้สึกว่าเด็กไม่เก่งนี่น่าสงสาร ไปที่ไหนก็ไม่มีใครให้เรียน
“พ่อเลี้ยงผมด้วยเงิน ผมก็กินเที่ยว มีรถขับใช้ตั้งแต่ ม.4 เริ่มเที่ยวเตร่ตั้งแต่ ป.6 แต่ผลการเรียนผมดี เรียนห้องคิงมาตลอด เลยอยากจะบอกว่า ถึงเรียนดี แต่ถ้าอยู่ในสังคมที่ไม่ดี หรือมีเพื่อนเกเรก็เสียได้ง่าย ต่อมาก็เที่ยวหนัก ยิ่งพอติดคุกแล้ว ก็รู้สึกว่าชีวิตมันไม่มีอะไร ไม่ต้องแคร์อนาคตอยู่แค่วันนี้ แต่พอมาบ้านกาญจนาหยิบยื่นโอกาสมาให้ ก็เริ่มคิดถึงคนในครอบครัว ผมคิดว่าแต่ก่อนผมตอกย้ำว่า ผมเกลียดตัวเอง แต่ตอนนี้คิดว่าแค่ทำตัวเป็นคนดี ไม่คาดหวังอะไรมากมาย” เบนซ์กล่าว
ส่วน “ตั๋ม” และ “อาร์ม” กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้ทุกที่ให้โอกาส และใส่ใจเด็กให้มากขึ้น เพราะเด็กทุกคนก็มีสิทธิ์เท่าเทียมกันอยู่แล้ว ตอนนี้รู้สึกว่าสังคมจะสนใจแต่เด็กเก่ง เด็กมีเงินเท่านั้น ที่สำคัญคือไม่อยากให้นำเด็ก 2 คนมาเปรียบเทียบกัน เพราะมันก็ไม่มีทางดีเด่นได้เท่ากันอยู่แล้ว ก็จะทำให้คนที่ด้อยกว่ารู้สึกไม่ดี ที่สำคัญอยากให้เอากิจกรรมมาช่วยเสริมสิ่งที่เขาชอบ ไม่ใช่สอนเน้นแต่ตำรา และกระดานดำเท่านั้น!!!
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
update : 20-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน