เปิดโผ 7 เทรนด์สุขภาพคนไทย ปี 68 อะไรที่ต้องเฝ้าระวัง

ข้อมูลจาก งานจับตาทิศทางสุขภาพคนไทย 2568 (ThaiHealth Watch 2025)

ภาพโดย: Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                    สงสัยกันหรือไม่ ว่าทำไม ประเทศไทยจึงมีสถิติชายไทยตายไวกว่าผู้หญิงถึง 9 ปี 
                    ทั้งที่เติบโตมาด้วยกัน แต่ด้วยการใช้ชีวิตที่โลดโผน หรือมีพฤติกรรม “เสี่ยง ๆ” ด้านสุขภาพของเพศชายในหลายเรื่อง อาจเสมือนการช่วยร่นอายุตัวเอง หรืออาจต้องจากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควร
                    จนปัจจุบันชายไทยมีอายุเฉลี่ยเพียง 72 ปี ขณะที่ผู้หญิงอายุยืนถึง 81 ปี
                    โดยจากสถิติยังพบตัวเลขการเสียชีวิตของชายไทย ในช่วงวัยเด็ก วัยรุ่นและวัยทำงานหลักแสนราย ไม่นับรวมวัยชราที่ต้องเผชิญปัญหาสารพัดโลก นี่คือความสูญเสียที่ไม่ควรเกิดขึ้น
                    เพราะทุกปัจจัยสาเหตุเหล่านี้ สามารถป้องกันได้
                    นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยถึงประเด็นดังกล่าว และเล่าถึงเทรนด์สุขภาพที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา รวมถึงเทรนด์ที่เกิดขึ้นในปี 2568
พฤติกรรมอะไรบ้างที่ทำให้คนไทย “ตายเร็ว”
                    แน่นอนว่า คำตอบที่ออกมาแบบไม่พลิกโผ  เพราะพระเอกงานนี้หนีไม่พ้น “บุหรี่” และ “สุรา”
                    ส่วนพระรองที่ตามมาติด ๆ คือ NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อ แต่ป่วยเรื้อรังทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น น้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูงน้ำหนักเกิน  อ้วน ภาวะไตเสื่อม ไขมันในเลือดสูง  เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ
                    สถิติเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า คนเรากำลังตายเพราะ “พฤติกรรม” กันมากขึ้น
อัพเดท 7 เทรนด์สุขภาพที่ต้องจับตา ปี 2568
ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวถึง 7 เทรนด์สุขภาพสำคัญ ที่ สสส. อยากชวนคนไทยทุกคนร่วมจับตามองและเฝ้าระวังไปด้วยกัน ได้แก่
1. เทรนด์วิกฤตโลกเดือด ยิ่งเปราะบางยิ่งเดือดร้อน
2. ชีวิตอม ฝุ่น ตัวเลขผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจจากฝุ่นกำลังก้าวกระโดด ทว่านโยบายเรื่องฝุ่นกลับก้าวไม่ทัน
3. อาชญากรรมไซเบอร์และภัยออนไลน์
4. เยียวยาจิตใจ ปรับพฤติกรรมใหม่ เข้าถึงการดูแล
5. บุหรี่ไฟฟ้า การตลาดขนมหวานซ่อนพิษ ล่อลวงเด็กไทย
6. โรคติดต่อ หากรักให้ฉลาด เติมความรู้ให้แน่น เท่าทันก่อน ก็จะไม่ติดต่อ
7. เด็กอ้วนเพิ่ม ผู้ใหญ่ความดันพุ่ง สุขภาพทรุดเศรษฐกิจโทรม
                    จากเทรนด์ดังกล่าว เป็นการชี้ให้เห็นถึงประเด็นสุขภาพของสังคมไทยที่ไม่อาจมองข้าม  รวมถึงคนไทยทุกคนควรมีส่วนร่วมกันในการขับเคลื่อน ฟันฝ่า ร่วมแก้ปัญหาด้วยกัน ไม่ใช่เป็นภารกิจของ สสส. หรือของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง
                    “Health Prevention คือ สงครามยุคต่อไป” นพ.พงศ์เทพ กล่าวถึงเป้าหมายการทำงานขับเคลื่อนของปีนี้ ในการเดินหน้าส่งเสริมการดูแลสุขภาพ ซึ่งมุ่งเน้นการ “ป้องกัน” มากกว่าการแก้ไขในภายหลัง หรือ “สร้าง นำ ซ่อม”
                    พร้อมประกาศ กลยุทธ์ที่จะขับเคลื่อนในปีหน้า นั่นคือ สสส.และภาคี พร้อมจะปรับตัวสู้ด้วยกลยุทธ์เชิงรุกมากขึ้น
 “กลยุทธ์ สสส.ปีนี้ คือการทำงานแบบ Data Driven Society” 
                    “เพื่อสู้กับพฤติกรรมและปัจจัยเสี่ยงทางสังคม โดยการผสานพลังโครงข่าย ชุมชน ภาคี สื่อและภาคนโยบาย หวังต่อสู้ทุกภัยเชิงพื้นที่ โดยการมุ่งเน้นสร้างความรอบรู้และเข้าใจเรื่องสุขภาพ ด้วยการสื่อสารข้อมูลสุขภาพที่เหมาะสมตามช่วงวัย” ผู้จัดการกองทุน สสส.เผย
                    สำหรับการขับเคลื่อนในปีนี้ สสส.ยังเดินหน้าขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพทุกคนชีวิตคนไทยในทุกช่วงวัย แต่เนื่องจากปัญหาในแต่ละช่วงวัยนั้นมีความแตกต่างกัน  จึงมีการหยิบยกประเด็นปัญหาสำคัญที่ต้องมีการ “ขยับต่อเนื่อง” หรือเดินหน้าอย่าง “เร่งด่วน” ต่อไปนี้
วัยเด็ก วัยปลูก “จิตใต้สำนึก”
                    “วัยเด็ก” คือกลุ่มวัยอายุแรกเกิดจนถึง 6 ขวบปี คือวัยที่เหมาะกับการปลูกฝังนิสัยด้านสุขภาพและจิตใต้สำนึกที่ดี
                    แต่ปัจจุบันวิกฤตสุขภาพและชีวิตเด็กไทย กำลังเผชิญกับสองปัญหาสำคัญ ได้แก่ ปัญหาด้านโภชนาการ ที่แม้เด็กไทยจะห่างหายจากปัญหาขาดสารอาหารมากขึ้น หากต้องเผชิญปัญหาโภชนาการในเรื่องการบริโภคอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพแทนที่
                    “จากสถิติในปี 2564 พบเด็กไทยวัย 6-14 ปี มากกว่าสองล้านคนกินขนมหวาน ขนมกรุบกรอบ และอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ จนทำให้เป็นโรคอ้วน                     และปัจจุบันกำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสี่เท่า ซึ่งนั่นเพราะเราไม่ได้ฝึกนิสัยการกินผักให้กับเขาตั้งแต่เด็ก” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
                    ผู้จัดการกองทุน สสส.กล่าวต่อว่า ปัญหาเด็กอ้วนไม่ได้ส่งผลเฉพาะวันนี้ หากแนวโน้มดังกล่าวยังส่งสะท้อนไปถึงอนาคตได้ เพราะนั่นคือโอกาสที่เราจะมีประชากรผู้ใหญ่วัยทำงานมีภาวะโรคอ้วนมากขึ้น
                    ส่วนกลยุทธ์การเคลื่อนทัพในปีนี้ สสส.จะดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกับภาคี ด้วยการดำเนินการผ่านโครงการเด็กไทยแก้มใส ซึ่งจะเป็นต้นแบบบูรณาการความร่วมมือระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครองและชุมชน ที่ตั้งเป้าเดินหน้า 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการกินดี การส่งเสริม Thai Social Lunch ส่งเสริมการทานผลผลิตปลอดภัยในพื้นที่ และส่งเสริมพลังเครือข่าย
                    ขณะที่ปัญหา “อุบัติเหตุ” จากการไม่สวมหมวกกันน็อกนั้นเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม ด้วยมีข้อมูลจาก Road Safety Watch มูลนิธิไทยโรดส์ พบสถิติเด็กไทยอัตราการสวมหมวกนิรภัยในเด็กเฉลี่ยทั่วประเทศมีเพียง 16% ซึ่งนั่นเท่ากับว่าเด็กไทยกำลังเสี่ยงชีวิตเสี่ยงภัยบนท้องถนนมากขึ้น
“โจทย์ที่ท้าทายคือ การจะทำอย่างไรที่ให้ผู้ใหญ่ลุกขึ้นมาส่งเสริมให้ลูกหลานตนเองสวมหมวกกันน็อก” นพ.พงศ์เทพ เอ่ย
                    “ธนาคารหมวกกันน็อก” จึงเป็นโมเดลต้นแบบที่ สสส.และภาคีกำลังร่วมกันขับเคลื่อน ซึ่งเกิดจากการแก้ Pain Point เรื่องเด็กโตไว ทำให้มีปัญหาเรื่องต้องเปลี่ยนหมวกกันน็อกบ่อย ซึ่งผู้ปกครองสามารถมาขอยืมหมวกกันน็อกได้แทนที่จะต้องซื้อใหม่ ซึ่งจะขับเคลื่อนไปพร้อมสื่อรณรงค์ที่จะส่งต่อการสร้างเสริมนิสัยใส่หมวก กับ “นิทานหมวกกันน็อค” ที่จะเป็นสื่อกลางในการสร้างความตระหนักแก่เด็กและผู้ปกครอง ซึ่งจะทำการสื่อสารผ่านศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศกว่า 232 แห่ง ผู้จัดการ สสส.เผยว่า จากการขับเคลื่อนสองโมเดลดังกล่าว เชื่อว่าจะเสริมสร้างจิตสำนึกรักความปลอดภัย ให้อยู่ในจิตใต้สำนึกของเด็ก ๆ
“ในเชิงจิตวิทยา ระบุว่า หากคนเรามีจิตใต้สำนึก เราจะสามารถควบคุมการกระทำได้ถึง 95% ซึ่งการจะสร้างจิตใต้สำนึกอะไรสักเรื่องควรทำตั้งแต่ในวัยเด็ก 0-6 ปี จะทำให้ได้ผลดีถึง 90%”
                    เช่นเดียวกัน อีกหนึ่งโครงการที่ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องภายใต้แนวคิดดังกล่าว นั่นคือ “เลี้ยงเด็กหนึ่งคน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน” ซึ่งจะเป็นกระบวกนการหนุนเสริมให้ผู้ใหญ่รอบตัวและสมาชิกในชุมชน หันมาให้ความสนใจและมีส่วนร่วมในการดูแลการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ๆ ของชุมชน ตั้งแต่วัยเด็ก
เพราะเด็กในวันนี้คือพลเมืองที่มีค่าในวันหน้านั่นเอง
วัยรุ่นวัยนักลองของ วัยชอบเสี่ยง
                    “วัยรุ่น” หากเปรียบคือวัยที่เสมือน “ม้าพยศ” ด้วยความต้องการแสดงออกความเป็นตัวของตัวเอง ต้องการสร้างตัวตนที่แตกต่าง รวมไปถึงการยอมรับจากเพื่อนในวัยเดียวกัน ทำให้วัยรุ่นมักเป็นวัยต่อต้าน ซึ่งเป็นธรรมชาติฮอร์โมนที่ต้องการสร้างตัวตน ถ้าพ่อแม่ห้าม ลูกวัยรุ่นมักยิ่งดื้อดึงไม่ฟังพ่อแม่และกล้าเสี่ยงกล้าลอง เพราะเชื่อว่าชีวิตตัวเองยังมีเวลาเหลืออีกมาก
                    ความคิดดังกล่าวจึงกลายเป็นภัยที่ทำให้วัยรุ่นมักเดินเข้าสู่หลุมพรางที่นำไปสู่ความเสี่ยง ที่อาจอันตรายถึงชีวิตและสุขภาพตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น
เสี่ยงที่ 1 เสี่ยงตายเพราะอุบัติเหตุบนท้องถนน 
                    ปัจจุบัน วัยรุ่นไทยต้องเผชิญกับการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซด์เฉลี่ยปีละถึง 3,700 ราย  โดยเฉพาะเด็กวัยก่อน 15 ปี มีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยถึงปีละ 700 คน ที่ต้องจากไปด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนน
เสี่ยงที่ 2 เสี่ยงจากไปก่อนวัยอันควร ด้วยบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า 
                    ข้อมูลล่าสุดในไทยมีการระบุถึงการแทรกซึมของบุหรี่ไฟฟ้า มหันภัยตัวใหม่ ไม่ได้กระจายและเข้าถึงแค่เด็กวัยรุ่น หากแต่ยังเลยเถิดไปถึงเด็กวัยอนุบาลและประถมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้จะมีผลงานวิจัยล่าสุดชี้ชัดว่า “นิโคติน” ในบุหรี่นั้นมีสารก่อมะเร็งถึง 16 ชนิด แต่ก็ยังคงมี “นักสูบหน้าใหม่” ที่อายุนับวันจะยิ่งเด็กลงเรื่อย ๆ ยังคงอยากเดินเข้าสู่หลุมพรางด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
                    “เราจะสร้างให้เด็กและเยาวชนสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนอย่างไร ต่อสู้กับสิ่งยั่วยวนเหล่านี้” นพ.พงศ์เทพเอ่ย  ปรารภ พร้อมกล่าวต่อว่า สสส.พยายามสื่อสารผ่านสื่อต่าง ๆ ให้เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นเป้าหมาย เพื่อสร้างความตระหนักทั่วสังคมไทย โดยการสื่อสารหรือบอกต่อว่า “บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายยิ่งกว่าฉลาม” ต่อเนื่องตลอดปีนี้
วัยผู้ใหญ่ วัยชี้ชะตา แต่มักละเลย
                    แม้วัยผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่คือหนุ่มสาวและคนวัยทำงานจะถูกมองว่าเป็นวัยที่มีวุฒิภาวะ มีความตระหนักรู้และเข้าใจได้มากกว่าคนวัยอื่น ๆ แต่กลับกลายเป็นว่าเป็นวัยที่มีไลฟ์สไตล์ที่สร้างผลเสียต่อสุขภาพในหลายด้าน
คนส่วนใหญ่วัยหนุ่มสาวมักทำงานหนักทุ่มเท ใช้แรงกายแรงใจเพื่อหาเงินทอง จนลืมที่จะดูแลสุขภาพ พอรู้ตัวอีกทีก็แก่ลงพร้อมมีโรคร้ายหลากหลายเป็นของแถม
                    “ไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือด” คือสามโรคยอดฮิตที่พรากชีวิตคนหนุ่มสาวและวัยทำงาน
“เพราะความรู้ไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าเราจะมีสุขภาวะที่ดี ถ้าไม่มีวินัยและนิสัยที่ชี้นำใจตนเองให้เดินหน้าไปสู่ทิศทางสร้างเสริมสุขภาพ” นพ.พงศ์เทพ เอ่ย
“วินัยคือการทำซ้ำๆ จนกลายเป็นนิสัย” นี่คือสิ่งที่ นพ.พงศ์เทพ พยายามตอกย้ำ
                    พร้อมกล่าวต่อว่า NCDs นอกจากพรากชีวิตคนไทยก่อนวัยอันควร ยังพรากโอกาสทางเศรษฐกิจ มีงานวิจัยที่ชี้ชัดว่าคนไทยเสียชีวิตเนื่องด้วยโรค NCDs เฉลี่ยปีละกว่า 400,000 ราย ที่คิดเป็นมูลค่าการสูญเสียโดยรวมถึงปีละ 1.6 ล้านล้านบาท หรือ 9.7% ของ GDP ประเทศ
                    ซึ่งทางออกที่ได้ผลลัพธ์ดีที่สุด คือการ “เปลี่ยนพฤติกรรม” และสร้าง “นิสัย” ที่สร้างเสริมสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น Sedentary lifestyle การหยุดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ด้วยกลยุทธ์สร้างนิสัยอยากออกกำลังกายให้เกิดขึ้นในทุกคน เพราะปัจจุบันคนทำงานวัย 25-59 ปีแทบไม่ออกกำลังกายหรือออกน้อยมาก
                    สำหรับทิศทางการขับเคลื่อนหนุนเสริมสุขภาพคนวัยทำงานของ สสส.ปี 2568 ผู้จัดการกองทุน สสส. ตั้งเป้าขับเคลื่อนด้วยยุทธศาสตร์ 3P ได้แก่
• People คือสร้างวัฒนธรรมการปรับไลฟ์สไตล์ระดับปัจเจก ส่งเสริม happy workplace เพื่อให้เกิดที่ทำงานสร้างสุขภาวะ ที่มีพื้นที่ให้คนวัยทำงานสามารถออกกำลังกายได้ตลอดเวลา
• Public เป็นการสื่อสารสาธารณะในวงกว้าง และ
• Policy  การขับเคลื่อนด้วยกลไกทางนโยบายผ่านมาตรการต่าง ๆ อาทิ มาตรการภาษี ยกตัวย่างภาษีลดหวาน เพื่อสุขภาพคนไทย เป็นต้น
วัยสูงอายุ กาย ใจ สังคม ปัญญา ต้องพร้อม
                    คำถามสำคัญของยุคนี้คือ เราจะทำอย่างไรให้เป็น “สูงวัยไม่ติดเตียง”
                    คำตอบที่สำคัญคือ ถ้าหากเราไม่ดูแลสุขภาพตั้งแต่วัยทำงาน เมื่อสูงวัยไปอาจไม่ทัน
                    “เพราะวัยสูงอายุเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลลัพธ์ทางสุขภาพที่เราสะสมไว้จากวัยรุ่นและวัยทำงาน หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นวัยที่เห็นผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ชัดเจนที่สุด” นพ.พงศ์เทพ ขยายความ
                    ตัวแปรสำคัญที่หล่อหลอมสุขภาวะผู้สูงอายุ คือการสร้างสุขภาพดี 4 มิติ กาย ใจ สังคม สติปัญญา เป็นสิ่งที่ สสส.มีการขับเคลื่อน
“อีกหนึ่งประเด็นน่าสนใจ คืออัตราผู้สูงอายุฆ่าตัวตายสูงเพิ่ม ซึ่งส่วนใหญ่มีที่มาจากภาวะโรคซึมเศร้า เพราะรู้สึกเป็นภาระลูกหลาน แก้ด้วยหลากหลายโครงการ ได้แก่ สสส.เชื่อมใจ โครงการที่จะช่วยฟูมฟักสุขภาพใจของผู้สูงอายุในชุมชน ปลดล็อคปัญหาช่องว่างระหว่างวัย ร่วมกับธนาคารเวลา โครงการด้านจิตอาสาที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุดูแลผู้สูงอายุด้วยกัน” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
ฝุ่นหนามาแล้ว
                    ไม่ว่าจะเป็นใคร วัยไหน เด็ก ผู้ใหญ่ หรือสูงอายุ ทุกคนมีเรื่องที่เผชิญพร้อมกันคือ ฝุ่น pm2.5  ไม่ว่ายากดีมีจนล้วนเท่าเทียม
ทะเลควันที่กำลังเป็นอีกวิกฤติสุขภาพนี้ คือปัญหาของคนทุกคนในสังคมไทยที่ต้องมีส่วนร่วม นั่นเพราะเราล้วนมีอากาศที่ต้องใช้ร่วมกัน ปัญหาเรื่อง PM 2.5 จึงเป็นสิ่งที่หนีไม่พ้น
                    ผู้จัดการกองทุน สสส.เอ่ยถึงภารกิจที่ สสส.และภาคี พยายามผลักดันในเวลานี้คือการนำทฤษฎี “สามเหลี่ยมเขยี้อนภูเขา” มาเป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน เพื่อเขยื้อนปัญหาสุขภาพของคนไทย ที่ต้องเกิดพลังด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาควิชาการ ภาคประชาชน และกลไกกฎหมาย ทุกฝ่ายจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ…ให้เป็นจริง
                    ซึ่งปัจจุบันการเดินหน้า ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ… ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพร้อมขับเคลื่อนใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การขับเคลื่อนสิทธิในอากาศสะอาด กองทุนอากาศสะอาด และการผลักดันให้มีองค์กรกำกับดูแล การกระจายอำนาจสู่ประชาชนหรือภาคประชาชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการกำกับดูแล รวมถึงการมี Regulator ที่ชัดเจนในการเดินต่อเรื่องนี้
                    อย่างไรก็ดี ท้ายสุด ผู้จัดการ สสส. เอ่ยให้คำแนะนำว่า อยากชวนให้คนไทยทุกคนมา “ลงทุน” กับสุขภาพวันนี้ เพราะจะเป็นการสร้างผลตอบแทนที่ดีระยะยาว
แต่เพียง “ถอน” นั่นคือ
ถอนเหล้าออกเพียงสองแก้วต่อวัน  = ถอนเวลาชีวิต 4-5 ปี
ถอนบุหรี่ หนึ่งมวนต่อวัน = ถอนเวลาชีวิตได้ 11 นาที
และ “ฝาก” ด้วยกิจกรรมง่าย ๆ คือ
ฝากออกกำลังกายหนี่งชั่วโมง อายุยาวขึ้น  7 ชั่วโมง ซึ่งถ้าเราออกกำลังกายสม่ำเสมอ 20 ปี จะมีอายุที่ชีวิตแข็งแรงเพิ่มอีก 6 ปี
Shares:
QR Code :
QR Code