เปิดโผ 4 จังหวัดเด็กเสี่ยงตายมากสุด
‘กาญจนบุรี-สระบุรี-ลพบุรี-ระยอง’
แผนงานความปลอดภัยในเด็ก ชี้ดัชนี “ความจน” ทำ ‘กาญจนบุรี-สระบุรี-ลพบุรี-ระยอง’ติดโผ 4 จังหวัดเด็ก ‘เสี่ยง’ ตายมากที่สุดทั่วประเทศในรอบ 10 ปี วอนรัฐเร่งผลักเกณฑ์สิทธิความปลอดภัยขั้นต่ำ ช่วยเด็กพ้นสภาพ “คนจนเมือง”
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 ตุลาคม ณ ลานกิจกรรม ชั้น 35 อาคาร เอส เอ็ม ทาวน์เวอร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับแผนงานความปลอดภัยในเด็ก จัดเสวนา “ทศวรรษความปลอดภัยในเด็ก เพื่อบรรลุนโยบายโลกสร้างพื้นที่เหมาะสมแก่เด็กเยาวชน” พร้อมเปิดสถานการณ์ “4 จังหวัดอันตราย” เด็ก “เสี่ยงตาย” มากที่สุด ซึ่งพบในจังหวัดกาญจนบุรี สระบุรี ลพบุรีและระยอง ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีรายได้ความมั่นคงหรือ ค่า gross provincial per capita (GPP/c) สูงสุดลำดับต้นๆ จากการติดตามรายงานการตายจากใบมรณบัตรตลอด 8 ปี (ปีพ.ศ 2546 –ปัจจุบัน)
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้จัดการแผนงานความปลอดภัยในเด็ก สสส. กล่าว จากการศึกษาจังหวัดอันตรายสำหรับเด็กทั่วประเทศ ทั้ง 3 กลุ่มอายุได้แก่ อายุ 1-4 ปี 5-9 ปี และ 10-14 ปี ต่อเนื่องในรอบ 10 ปีพบว่า มี 25 จังหวัดที่มีอัตราการตายในเด็กสูงขึ้น โดยจังหวัดกาญจนบุรี สระบุรี ลพบุรีและระยอง ติด 4 จังหวัดที่มีอัตราเสี่ยงตายของเด็กสูงที่สุดในประเทศ และเมื่อเปรียบเทียบค่า GPP/c ทั่วประเทศจะพบว่า จังหวัดกาญจนบุรีมีความมั่นคงของรายได้เข้ามาเป็นอันดับ 1 (จำนวน 995,733 บาท) คิดเป็น 3.2 เท่าของกทม. (311,225 บาท) ขณะที่สระบุรี ลพบุรี และระยอง ติดอันดับที่ 10, 23 และ 31 ตามลำดับนั้น สะท้อนให้เห็นว่า การขยายตัวของชุมชนแออัดที่เกิดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วจนเกินไป มีผลต่อการตายของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในชุมชนแออัดเสี่ยงตายสูงสุด หากไม่แก้ปัญหา ชุมชนจะเริ่มมีสภาพ “ความเป็นเมือง” ที่ไร้คุณภาพ ก่อให้เกิด “คนจนเมือง” เหมือนคนกรุงเทพฯสมัยก่อน จนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดต่อการตาย เช่น จมน้ำ ถูกรถชน และอุบัติเหตุอื่นๆ“ความยากจนกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการตายและการบาดเจ็บในเด็กมากที่สุด โดยมีเด็กร้อยละ 70 ที่เสียชีวิตจากความไม่ปลอดภัยที่อยู่ในครอบครัวที่มีศักยภาพต่ำ ขาดผู้ดูแลใกล้ชิด จึงเป็นที่มาของการค้นหา “ความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของเด็กที่สังคมยอมรับไม่ได้” เพื่อนำไปสู่เกณฑ์สิทธิความปลอดภัยขั้นต่ำสำหรับเด็ก ฉะนั้นการผลักดันให้มีการขยายศูนย์เด็กเล็ก บ้านหลังเรียน ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีความยากจนสูงจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่รัฐบาลไทยตกลงในการประชุมของสหประชาชาติที่ระบุต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กเยาวชนได้เติบโตอย่างมีคุณภาพภายในปี 2559 (A World Fit For Children) โดยมีเป้าหมายว่า ต้องลดอัตราการตายของเด็กให้ไม่เกินจำนวนเท่าใด ซึ่งหากประมวลจากการตายของเด็ก 10 ปีที่ผ่านมา เชื่อว่า การบรรลุข้อตกลงคงเป็นไปได้ยาก” รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว
นางสุกัญญา เวชศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเด็ก สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า เกณฑ์สิทธิความปลอดภัยขั้นต่ำของเด็กนั้น นอกจากพม.จะผลักดันในเชิงนโยบายในระดับประเทศแล้ว ขณะเดียวกันก็ต้องมีการประสานความเข้าใจในระดับท้องถิ่นเพื่อให้การขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อจัดสรรงบประมาณให้เด็กและเยาวชนให้ตรงตามปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะกระบวนการสร้างความตระหนักของสังคมให้มีส่วนร่วมนั้น ต้องสอดรับกับข้อมูลความเสี่ยงต่างๆในเด็กที่ชัดเจน เพื่อประกอบในการวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ฉะนั้นการสร้างให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเติบโตของเด็กนั้น จึงจำเป็นต้องมีปัจจัย 3 ประการคือ 1.มีมาตรการเฝ้าระวังเตือนภัยในเด็กที่มีประสิทธิภาพ 2.มีการพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ ส่งเสริมการวิจัย และสถิติความเสี่ยงที่ชัดเจน และ 3.การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย จึงจะนำไปสู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาโลกที่ดีสำหรับเด็กปี 2550-59 ที่มีเป้าหมายในการลดอัตราการตายของเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ “ประเด็นพื้นที่ทับซ้อนทำให้ไม่สามารถสร้างศูนย์เด็กเล็กในชุมชนแออัดได้นั้น มองว่า ต้องสร้างความเข้าใจชุมชนเป็นอันดับแรก บางพื้นที่มีการใช้ “วัด” เปิดเป็นศูนย์เด็กเล็ก เพื่อแก้ปัญหาร่วมกันในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐพึงกำหนดและประกาศเกณฑ์สิทธิความปลอดภัยขั้นต่ำสำหรับเด็ก ซึ่งเป็นเกณฑ์ความปลอดภัยขั้นต่ำสุดที่รัฐและองค์กรกรท้องถิ่นต้องประกันการเข้าถึงเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเสมอภาคของเด็กทุกคน โดยไม่ยินยอมให้เด็กผู้ใดต้องตกอยู่ในสภาพที่มีความปลอดภัยต่ำกว่าเกณฑ์นี้ และต้องจัดให้มีการรายงานพื้นที่(จังหวัดและตำบล)ที่มีการละเมิดเกณฑ์สิทธิความปลอดภัยขั้นต่ำสำหรับเด็กอันส่งผลให้เด็กเสียชีวิตจากการบาดเจ็บรุนแรง” นางสุกัญญา กล่าว
นายคมสัน จันทร์อ่อน ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า ใน 4 จังหวัดที่เด็กมีความเสี่ยงตายสูงสุดนั้นเนื่องจากอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งเป็นเมืองใหญ่ จึงเกิดเป็นชุมชนแออัด จนกลายเป็นสลัม จึงทำให้เกิดความเสี่ยงในการตายสูง การให้ความรู้ทั้งแก่ผู้ปกครอง และตัวเด็กในเรื่องมาตรการป้องกันความปลอดภัย และการเพิ่มปริมาณศูนย์เด็กเล็กเพื่อดูแลเด็กก่อนวัยเรียนจึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน โดยปัจจุบันเครือข่ายสลัมได้ตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อแก้ปัญหาให้คนจนที่เข้ามาอาศัยในเมืองใหญ่ ขณะเดียวกันก็ใช้เป็นวิธีตรวจสอบแหล่งที่อยู่ของผู้ปกครองและเด็กให้ชัดเจน ซึ่งจะสะดวกต่อการจัดสรรพื้นที่พักพิง และศูนย์เด็กเล็กในอนาคต เชื่อว่าจะสามารถช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุให้กับเด็กได้
“หากที่อยู่อาศัยไม่มีหลักแหล่งก็จะเกิดผลกระทบทำให้ไม่สามารถเข้าบริการของฝ่ายรัฐ ส่วนเรื่องความปลอดภัยในเด็กก็อยู่กันตามอัตภาพ ชุมชนทุกชุมชนก็อยู่แบบเสี่ยงตาย เด็กไม่มีสนามเด็กเล่นทำให้ไปเล่นน้ำตามริมคลอง ทางเครือข่ายสลัมได้เสนอให้รัฐจัดทำโครงการบ้านมั่นคงเพื่อจัดตามที่อยู่อาศัย มีศูนย์ดูแลเด็กเพื่อไม่ต้องไปเล่นนอกชุมชน แต่ก็ยังเป็นปัญหาในต่างจังหวัดเพราะเกิดสลัมขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในกรุงเทพฯอัตราการตายในเด็กกลับลดลง เนื่องจากได้มีการจัดพื้นที่ให้อยู่เป็นหลักแหล่ง เด็กที่เกิดมาก็ไม่กลายเป็นเด็กเร่ร่อนที่กระจายไปตามอัตภาพทำให้เกิดสลัมขึ้นมาเรื่อย ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาทางการ และหากรัฐดำเนินการตามข้อเรียกร้องได้ก็จะมีความปลอดภัยในเด็กดีขึ้น” นายคมสัน กล่าว
ที่มา:สำนักข่าว สสส.
Update:6-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย:คีตฌาณ์ ลอยเลิศ