เปิดเฟซบุ๊ครณรงค์ลดเจ็บ-ตายสงกรานต์

กทม.เปิดเฟซบุ๊ครณรงค์ลดเจ็บ – ตายช่วงสงกรานต์ เผย 12 สาเหตุอุบัติเหตุคนเมืองหลวง นครบาลระดมตร.เฝ้าระวัง “ชวรัตน์”วอนคุมเข้มทุกจังหวัดจัดโซนนิ่งสงกรานต์ปลอดเหล้า  จุรินทร์ออกนโยบายสงกรานต์ปลอดเหล้าปลอดภัย


สงกรานต์


(7 เม.ย.) นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ขณะนี้ กทม.ได้เปิดช่องทางโซเชี่ยลมีเดีย ทางเฟซบุ๊ค www.face.com/clubddbma เพื่อให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวินัยจราจรและส่งเสริมให้เกิดการรณรงค์ ภายหลังช่วงสงกรานต์ทุกปีจะพบสถิติจากการบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยสถิติช่วง 7 วันอันตรายช่วง 12-18 เม.ย. 2553 มีผู้เสียชีวิต 361 คน บาดเจ็บ 3,802 คน โดยใน กทม.พบว่าสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด 12 อันดับแรกเกิดจากความประมาท และการไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร ประกอบด้วย 1. ตามกระชั้นชิด 2. ตัดหน้ากระชั้นชิด 3. ขับรถเร็วเกิดกำหนด 4. เมาแล้วขับ 5. แซงผิดกฎหมาย 6. ฝ่าฝืนสัญญาณไฟ 7. ไม่ให้รถที่มีสิทธิ์ไปก่อน 8. ขับรถผิดช่องทาง 9. ไม่ให้สัญญาณเวลาเลี้ยว 10. ไม่ขับในช่องซ้ายสุด 11. ฝ่าฝืนป้ายหยุด และ 12. ขับรถไม่ชำนาญ

นครบาลระดม ตร.เฝ้าระวังช่วงสงกรานต์ 13-15 เม.ย.


พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รองผบช.น.) รับผิดชอบงานป้องกันปราบปราม กล่าวว่า มาตรการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 13-15 เม.ย. จะให้ตำรวจระดมกำลังทุกสายงาน ออกตรวจตราป้องกันเหตุ สถานีขนส่ง แหล่งชุมชน สถานที่ ซึ่งมีประชาชนไปใช้บริการจำนวนมาก เพิ่มความถี่พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม เพิ่มความเข้มในการปฏิบัติของจุดตรวจค้น โครงการฝากบ้านกับตำรวจ โครงการเพื่อนบ้านเตือนภัย การปรับสภาพแวดล้อมเพื่อป้องกันอาชญากรรม


มาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยต้องติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังเหตุ ในกรณีมีกลุ่มประชาชนรวมตัวกันประท้วง เพื่อสืบสวนหาข่าว การก่อความไม่สงบหรือก่อวินาศกรรม ป้องกันการฉวยโอกาสของผู้ไม่หวังดีหรือผู้เสียผลประโยชน์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ต่างๆเป็นกรณีพิเศษ


ทั้งนี้ จะต้องใช้มาตรการแสวงหาหาความร่วมมือจากประชาชน โดยระดมกำลังอาสาสมัครภาคประชาชนออกตรวจตราป้องกันเหตุ จัดทำโครงการต่างๆ ได้แก่ ฝากกับเพื่อนบ้าน โครงการอาสาสมัครพิทักษ์ซอย โครงการสมาชิกแจ้งข่าวอาชญากรรม โครงการสายลับคอนโด


“ส่วนด้านการจราจรจะระดมกำลังตำรวจออกปฏิบัติในช่วงที่ประชาชนเดินทางออกจากกรุงเทพฯ จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจช่าง จราจร ให้บริการเพิ่มเติมตามสถานีขนส่งๆ โดยประชาสัมพันธ์เส้นทางที่ควรเลี่ยงและมอบหมาย บก.จร. ทำหน้าที่ศูนย์ควบคุมการจราจรเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนโดยการแจ้งเตือน การป้องกันการประทุษร้ายต่อทรัพย์ การแนะนำการปฏิบัติตนของประชาชนที่เดินไปท่องเที่ยว การป้องกันอัคคีภัย การป้องกันอุบัติเหตุ ดื่มไม่ขับ โทรไม่ขับ ห้ามพกอาวุธไปที่สาธารณะ ส่วนการขอความร่วมมือจากประชาชนให้เล่นน้ำด้วยความสุภาพ กรณีพบบุคคลต้องสงสัยให้แจ้งตำรวจ” รองผบช.น. กล่าว

ชวรัตน์วอนคุมเข้มทุกจังหวัดจัดโซนนิ่งสงกรานต์ปลอดเหล้า


นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) พร้อมด้วยเครือข่ายประชาคมงดเหล้า กว่า 30 คน เดินทางเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอความร่วมมือจากทางกระทรวงให้สนับสนุนการรณรงค์สงกรานต์ปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า พร้อมทั้งหารือถึงมาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ด้วย ทั้งนี้นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นผู้รับเรื่องแทน


นายธีระ กล่าวว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มีมากถึง 3,516 ครั้ง เสียชีวิต 361 ราย บาดเจ็บกว่า 3,802 ราย ส่วนสาเหตุส่วนใหญ่ยังเกิดจากเมาแล้วขับมากถึง 39.36% นอกจากนี้การทำผิดกฎหมายจราจรกรณีเมาแล้วขับ ยังมีมากถึง 9,952 ราย โดยพบว่าผู้ถูกดำเนินคดียังเป็นเด็กและเยาวชนอายุน้อยกว่า 20 ปี มากกว่า 10.61 % และตั้งแต่ปี 2549-2553 หลายจังหวัดมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงอย่างต่อเนื่อง อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย นครสวรรค์ นครศรีธรรมราช เป็นต้น


เพื่อให้การเล่นน้ำสงกรานต์ปีนี้อยู่ในขนบธรรมเนียมที่ดีงาม และลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ทางเครือข่ายจึงขอเสนอแนวทางเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.)เพื่อลดอุบัติเหตุทางท้องถนน ดังนี้ 1.มีนโยบายไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยจัดทำเขตพื้นที่(Zoning)เล่นน้ำสงกรานต์ให้ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะสามารถลดปัญหาอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท ลวนลามอนาจาร และการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ ได้ ตามที่เครือข่ายได้ดำเนินการร่วมกับบางท้องถิ่นมาแล้ว เช่น ที่จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น มหาสารคาม สุรินทร์ เป็นต้น รวมทั้ง ขอให้มีการทำรายงานผลการดำเนินงาน เพื่อเป็นการประเมินผลพัฒนาในปีต่อไปด้วย 2.พิจารณาเร่งรัดไปยังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ออกกฎกระทรวงเพิ่มเติม ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เช่น ห้ามดื่มท้ายรถกระบะ ให้เขตพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์เป็นเขตห้ามดื่ม ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นข้อเสนอของ ศปถ. จะทำให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต


ขณะที่ นายพิจิตร ปัญญาพิชิต ผู้แทนเครือข่ายองค์กรงดเหล้าและประชาคมงดเหล้าสิงห์บุรี กล่าวว่า นอกจากแนวทางแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้วทางเครือข่ายฯ ยังขอชื่นชมกระทรวงมหาดไทยที่สนับสนุนออกเป็นคำสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศจัดงานกาชาดปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด แต่ทั้งนี้จากการเก็บข้อมูลของประชาคมงดเหล้าในการจัดงานกาชาดที่ผ่านมา ยกเว้นในกรุงเทพมหานคร ปี 2553 จนถึงเดือน เม.ย. 2554 พบว่า มีการจัดงานกาชาด แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.จังหวัดที่จัดงานโดยไม่รับสปอนเซอร์ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์จากภาคธุรกิจเลยรวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ใช้ตราสัญลักษณ์ใกล้เคียงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น น้ำดื่ม หรือ โซดา และยังมีมาตรการป้องปรามการดื่มการขายในการจัดงานจริง จำนวน 44 จังหวัด 2.จังหวัดที่จัดงานโดยไม่รับสปอนเซอร์จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ยังรับสปอนเซอร์จากผลิตภัณฑ์ที่มีตราสัญลักษณ์ใกล้เคียงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น น้ำดื่ม โซดา จำนวน 5 จังหวัด 3.จังหวัดที่รับสปอนเซอร์ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์จากธุรกิจโดยตรง และมีการดื่มการขายในงาน จำนวน 23 จังหวัด 4.จังหวัดที่ยังไม่ได้จัดงาน 2 จังหวัด และ จัด แต่ไม่มีมาตรการห้ามปราม 1 จังหวัด


“ภาคประชาชนต้องขอชื่นชม 44 จังหวัด อาทิ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา สิงห์บุรี นครนายก พัทลุง สงขลา ที่ให้ความร่วมมือกันจัดงานกาชาดปลอดเหล้า รวมถึงไม่รับสปอนเซอร์จากบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ครั้งนี้ยังพบว่ามีลานเบียร์ในงานกาชาดที่หลายจังหวัดท้าทายนโยบายและการบังคับใช้ ดังนั้น จึงอยากให้ทางกระทรวงนำเรื่องนี้ไปพิจารณาด้วย” นายพิจิตร กล่าว


นายชวรัตน์ กล่าวภายหลังจากรับหนังสือจากทางเครือข่ายฯว่า จากปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ ตนจึงอยากนำสโลแกน เมาไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น ซึ่งตนตั้งขึ้นมาเองให้นำไปใช้โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่ใกล้เข้ามาถึงนี้ อย่างไรก็ตามจากข้อเสนอของทางเครือข่าย กระทรวงยินดีและเห็นด้วยพร้อมที่จะผลักดันแต่คงต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม และที่สำคัญจะเร่งปัดฝุ่นในจังหวัดที่ยังปล่อยปละละเลย หากในพื้นที่ไหนยังไม่ควบคุมการห้ามขายห้ามดื่มตามนโยบายของทางกระทรวง คงต้องมีการสั่งย้าย เพื่อเป็นการลงโทษในทางวินัย ทั้งนี้หากเครือข่ายฯมีข้อมูลและหลักฐานต่าง ๆ ก็ให้รายงานมาที่กระทรวงได้ทันที

จุรินทร์ออกนโยบายสงกรานต์ปลอดเหล้าปลอดภัย


สงกรานต์


ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และพลเอก นายแพทย์ชูศักดิ์ สุวรรณศิริกุล กรรมการเภสัชกรองค์กรร่วมทศวรรษโรคกระดูกและข้อ แถลงข่าว การเตรียมความพร้อมรับมืออุบัติเหตุสงกรานต์ 2554 “สงกรานต์ปลอดเหล้า ปลอดภัย”


นายจุรินทร์ กล่าวว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตประมาณ 12,000 คน บาดเจ็บอีกกว่า 1 ล้านคน และผู้พิการอีกหลายหมื่นคน สาเหตุเกิดจากสภาพยานพาหนะ พื้นผิวการจราจร และที่สำคัญคือพฤติกรรมของผู้ขับขี่ มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับขี่ และขับรถเร็ว ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2553 ที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุจราจรเกิดจาก เมาแล้วขับร้อยละ 40 ขับรถเร็วร้อยละ 20 พาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือรถจักรยานยนต์คิดเป็นร้อยละ 80 รองลงมาคือรถปิกอัพ นอกจากนั้นยังพบว่าเกิดจากการขับขี่ของเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ประมาณร้อยละ 30 อายุ 15-19 ปี ร้อยละ 17.7 รัฐบาลจึงได้กำหนดให้อุบัติเหตุทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงานเข้าด้วยกัน โดยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ กำหนดให้ดำเนินงานเข้มข้นในช่วงวันที่ 11-17 เมษายน 2554 ตั้งเป้าหมายลดจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากปี 2553 ให้ได้ร้อยละ 5


นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ปีนี้จะดำเนินการควบคู่กันทั้งมาตรการป้องกันและมาตรการรักษาพยาบาล เพื่อมุ่งเน้นให้สงกรานต์ปีนี้เป็นสงกรานต์ปลอดเหล้า ปลอดภัย โดยมาตรการป้องกัน ประการแรกจะบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเคร่งครัด ทั้งเรื่องอายุ สถานที่ และเวลาห้ามขาย ประการที่ 2 ขอฝากเตือนผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะต่างๆต้องไม่ประมาทและคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ที่สำคัญคือ ต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาด ในปีที่ผ่านมาได้จับกุมผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับขี่ยานพาหนะ 9,952 ราย


สำหรับมาตรการด้านการรักษา ได้เตรียมความพร้อมการแพทย์ฉุกเฉินภายใต้สายด่วน 1669 ตั้งเป้าหมายทันที่ที่ได้รับแจ้งเหตุจะประสานหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินไปถึงจุดเกิดเหตุภายใน 10 นาทีให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของกรณีที่ได้รับแจ้ง โดยให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และสั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับ ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน เตรียมพร้อมห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู ตึกผู้ป่วยใน ตลอด 24 ชั่วโมง


ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2552 เปรียบเทียบกับปี 2553 พบว่า ยอดรวมอุบัติเหตุในปี 2553 ลดลง ผู้บาดเจ็บลดลงร้อยละ 12 จาก 4,332 รายเหลือ 3,802 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 3 โดยลดจาก 373 ราย เหลือ 361 ราย อุบัติเหตุร้อยละ 67.7 เกิดขึ้นบนถนนสายรอง เช่น ถนนตามหมู่บ้าน ส่วนถนนทางหลวงแผ่นดินเกิดร้อยละ 32.9 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดในปี 2553 ได้แก่นครศรีธรรมราช 142 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุดคือนครราชสีมา 18 ราย ส่วนจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุดคือนครศรีธรรมราช 159 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเลย ได้แก่ ตราด พังงา แม่ฮ่องสอน ระนอง สมุทรสงคราม สุโขทัย และยะลา


ด้าน นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการมาตรการด้านการป้องกันให้ดำเนินการให้สอดคล้องกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยจะมีการบูรณาการงานของทุกภาคส่วนภายในจังหวัด ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีการรายงานผลการปฏิบัติงาน และรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัย การตั้งจุดตรวจ/จุดบริการร่วม มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอสม. ร่วมเฝ้าระวังและให้บริการชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่จะขับขี่มอเตอร์ไซค์ในถนนสายรองซึ่งเป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุมากขึ้นนอกเหนือจากถนนสายหลัก และจะให้โรงพยาบาลที่เป็นเครือข่ายเฝ้าระวังการบาดเจ็บ 33 แห่งทั่วประเทศ รวบรวมข้อมูลเฝ้าระวังการบาดเจ็บช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อวิเคราะห์สาเหตุการบาดเจ็บต่อไป นอกจากนั้น ให้สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคเขตเฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งเรื่องสถานที่ เวลา และอายุในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


ด้าน นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปีนี้กรมควบคุมโรคจะให้ สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคเขต ทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ จัดทีมออกสุ่มสำรวจการขายสุรา ในสถานที่ เช่น ปั๊มน้ำมัน สวนสาธารณะ และร้านค้าตามเส้นทางต่างๆ ใน วันที่ 11 และ 13 เมษายน 2554 เพื่อตรวจสอบการจำหน่ายสุราในสถานที่และและเวลาห้ามขาย คือนอกเวลา 11.00 – 14.00 น..และ 17.00 – 24.00 น. จากการสำรวจในช่วงสงกรานต์ 2553 พบว่ามีการขายสุราในสถานที่และเวลาที่ห้ามขายลดลงจากปี 2552 โดยการขายในสถานที่ห้ามขาย เฉพาะที่ปั๊มน้ำมันลดจาก ร้อยละ 15 ในปี 2552 เหลือ ร้อยละ 7 ในปี 2553 ส่วนการขายในเวลาห้ามขายลดจากร้อยละ 18 เหลือร้อยละ 8


ทางด้าน นายแพทย์ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือศูนย์นเรนทร จะเน้นหนักในการดูแลผู้ป่วยจากจุดเกิดเหตุมาโรงพยาบาล ขณะนี้มี บุคลากรกู้ชีพประมาณ 100,000 คน มีรถปฏิบัติการกู้ชีพกู้ภัยฉุกเฉินกว่า 10,000 คัน รวมทั้งได้ทำสัญญากับเรือกู้ชีพกู้ภัยอีกกว่า 1,000 ลำ และเฮลิคอปเตอร์พยาบาลอีก 100 กว่าลำ พร้อมปฏิบัติการที่จุดเกิดเหตุ โดยรับแจ้งเหตุที่หมายเลข 1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมงทั่วประเทศ และในปีนี้จะให้รถพยาบาลไปประจำจุดเสี่ยงของกรมทางหลวงที่มีทั้งหมด 100 กว่าจุดเพิ่มเติมด้วย


ด้าน นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวถึงมาตรการควบคุมการดื่มของผู้โดยสารท้ายรถปิกอัพ ว่า ปัจจุบันนี้ มีเฉพาะการตรวจแอลกอฮอล์ในลมหายใจของผู้ขับขี่ ตามกฎหมายเดิมเท่านั้น ส่วนของการห้ามดื่มท้ายรถกระบะ ขณะนี้กฎหมายลูกในการควบคุมยังไม่ออกมา มีเฉพาะมาตรการขอความร่วมมือเท่านั้น



ที่มา :  หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
 

Shares:
QR Code :
QR Code