เปิดสถิติรุนแรงครอบครัว ฆ่า-ท้องไม่พร้อม น้ำเมากระตุ้น

 

เป็นเพราะเหล้ามีผลกระทบในหลายๆด้าน แม้จะมีความพยายามทำกิจกรรมงดเหล้ามายาวนาน และเห็นผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมบ้าง มีคนตั้งใจแน่วแน่ไม่แตะต้องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีผู้ที่ยังไม่เลิกเพียงแต่ลดปริมาณการดื่ม รวมถึงกลุ่มที่ยังไม่ก้าวออกจากสังคมของคนติดเหล้าอยู่ ตามสถิติของเครือข่ายองค์กรงดเหล้าชี้ชัดว่า ประเทศไทยต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคล เพราะเสียชีวิตจากการดื่มเหล้าไม่ต่ำกว่าปีละ 26,000 คนเลยทีเดียว สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านบาท

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เหล้านอกจากมีผลต่อสุขภาพร่างกายสุขภาพจิตแล้ว ปัญหาด้านคุณธรรมจริยธรรม และปัญหาความรุนแรงในครอบครัวตามมาติดๆ ทั้งฆ่ากันตาย ฆ่าตัวตาย กระทั่งเรื่องหึงหวง ทะเลาะกันเมียหนีออกจากบ้าน มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญ น่าเป็นห่วงหากสังคมไทยยังผูกติดกับการดื่มเหล้า

ล่าสุดก็เพิ่งจะมีการสัมมนาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่ชื่อ “กลไกและมาตรการเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว” โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีการเปิดเผยสถิติความรุนแรงในครอบครัวล่าสุด ปี 2553 ทางหน้าหนังสือพิมพ์จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ ไทยรัฐ มติชน เดลินิวส์ ข่าวสด และคมชัดลึก จะเห็นได้ว่าข่าวความรุนแรงในครอบครัวมีมากถึง 296 ข่าว แบ่งเป็นข่าวการฆ่ากันตาย 139 ข่าว หรือ 47% รองลงมาเป็นการฆ่าตัวตาย 72 ข่าว หรือ 24% การทำร้ายกัน 30 ข่าว การตั้งครรภ์ไม่พร้อม 29 ข่าว การละเมิดทางเพศในครอบครัว 18 ข่าว และในจำนวนนี้มี 63 ข่าว หรือ 21% เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง หรือทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เป็นข้อมูลที่กระตุกให้ทุกภาคส่วนร่วมมือและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

สำหรับ นิตยา พิริยะพงษ์พันธ์ หัวหน้าฝ่ายรณรงค์และเผยแพร่ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล วิเคราะห์ถึงสาเหตุของการฆ่าตัวตาย โดยระบุพบสามีจะฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายมากกว่าภรรยา ซึ่งมีถึง 46% ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่างๆ อาทิ หย่าร้างกับภรรยา ภรรยาหนีไปมีสามีใหม่ หวาดระแวงภรรยา น้อยใจภรรยา ส่วนกรณีที่ภรรยาฆ่าตัวตายนั้นมีเพียง 24% ซึ่งเกิดจากการน้อยใจสามี เพิ่งเลิกกับสามี หึงหวงสามี และรักสามเศร้า ขณะที่เหลือเป็นกรณีที่ลูกฆ่าตัวตายและผู้สูงอายุฆ่าตัวตาย

“ข่าวฆ่ากันตายในครอบครัวที่เกิดขึ้นจากปัญหาความสัมพันธ์ของหญิงชายนั้น ส่วนใหญ่สามีเป็นผู้กระทำต่อภรรยา เพราะความหึงหวง ระแวงว่าภรรยาจะมีคนอื่น คิดว่าภรรยาเป็นสมบัติของตน แม้บางรายจะหย่าร้างไปแล้ว และที่เลวร้ายมากนอกจากกระทำต่อภรรยาโดยตรงแล้ว ยังกระทำต่อลูกด้วย ขณะที่กรณีของภรรยาฆ่าสามีนั้น ส่วนใหญ่มาจากถูกสามีทำร้ายทุบตีเป็นประจำ บางรายบังคับหลับนอนด้วย ในจำนวนนี้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้นถึง 50%” หัวหน้าฝ่ายรณรงค์และเผยแพร่ มูลนิธิฯ ให้ข้อมูลที่น่าเป็นห่วง

ด้าน พัชรี จุลหิรัญ ฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิฯ เพิ่มเติมข้อมูลของการสำรวจอีกว่า ผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 31-40 ปี แต่ก็ยังพบว่ามีกลุ่มอายุที่น้อยที่สุด คือ หญิง 11 ปี ชาย 72 ปี สำหรับปี 2553 ถือว่ามีความรุนแรงมาก มีคนเข้ามาขอรับคำปรึกษากว่า 914 ราย เพิ่มจากปี 2552 มี 668 ราย ส่วนกรณีปัญหาความรุนแรงในปี 2552 มี 985 กรณีปัญหา แต่ในปี 2553 มียอดเพิ่มมากถึง 1,756 กรณี ทั้งนี้หากจำแนกการให้คำปรึกษาพบว่า 40% ต้องเข้าพบนักสังคมสงเคราะห์ รองลงมา 39% เป็นคดีแพ่ง และ 21% เป็นคดีอาญา โดยความรุนแรงระหว่างบุคคลในครอบครัวที่พบมากคือ การข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย ซึ่งผู้ถูกกระทำเหล่านี้เจ้าหน้าที่จะเน้นการให้คำปรึกษาด้านสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้พวกเขาได้ระบาย หาทางออกด้านจิตใจมากกว่าด้านกฎหมาย และที่น่าห่วงคือ สถานการณ์การตั้งครรภ์ไม่พร้อม ที่ยังคงเพิ่มมากขึ้นกว่า 9% ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เพราะสามีไม่รับผิดชอบ

จากการรวบรวมข้อมูลเพื่อดำเนินคดีด้านกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 พัชรียังให้ข้อมูลอีกว่า ขณะนี้มีทั้งสิ้น 74 ราย โดยในจำนวนนี้มีประมาณ 15% ที่พนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความ และน่าตกใจที่มีการดำเนินคดีนั้น มีผู้เสียหายถึง 94% ยืนยันที่จะไม่เอาผิดกับผู้กระทำ ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะมีการกระทำซ้ำ เนื่องจากไม่ได้เข้าสู่ขั้นตอนการบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามที่กฎหมายระบุไว้ นอกจากนี้ยังพบว่าสาเหตุที่พนัก งานสอบสวนไม่รับแจ้งความเพื่อดำเนินคดี เพราะยังมีทัศนคติมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว และเจ้าหน้าที่ตำรวจบางรายยังไม่รู้ว่า มี พ.ร.บ.คุ้มครองฯ ส่วนประชาชน 33% ยังเข้าใจผิดคิดว่า การลงบันทึกประจำวันเป็นการแจ้งความแล้ว ทั้งที่วิธีการนี้ไม่ม ผลต่อการดำเนินคดี หากผู้เสียหายไม่มีการยืนยันเพื่อดำเนินคดีและออกเลขที่กำกับ ก็จะทำให้คดีหมดอายุความภายใน 3 เดือน

“เป็นปัญหาที่ต้องเร่งสร้างความตระหนักต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อผู้ถูกกระทำ เพื่อสามารถพิทักษ์สิทธิของตนเองได้ หากไม่ได้รับการแก้ไขอาจนำไปสู่ความรุนแรงที่มากขึ้น เห็นได้จากการให้บริการ ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน มีกรณีฆ่าสามีเข้ามาปรึกษาทุกปี คดีล่าสุดศาลมีคำพิพากษาตัดสินจำคุก 2 ปีโดยรอลงอาญา เมื่อย้อนกลับไปทุกกรณี พบว่า ผู้หญิงถูกสามีทำร้ายร่างกายอย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่ได้แก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสามีและเยียวยาผู้หญิง ส่งผลให้เป็นการต่อสู้ครั้งแรกและครั้งเดียวของผู้หญิง” พัชรีกล่าว

จากการศึกษาซึ่งได้บอกว่า แอลกอฮอล์มีส่วนกระตุ้นพฤติกรรมรุนแรงในครอบครัว ทั้งสามีภรรยา การร่วมรณรงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และช่วยจัดกิจกรรมเรียกสติ ดึงนักดื่มออกจากวงจรที่เลวร้ายให้ได้ก็มีผลสำคัญ หากอยากแก้หรือบรรเทาตัวเลขความรุนแรงและการละเมิดทางเพศในครอบครัว หากเลิกเหล้าได้ ทั้งปัญหาและคดีจะลดลงกว่านี้ แถมสุขภาพกายและจิตใจพวกเขาจะดีขึ้น ยังไม่รวมเงินในกระเป๋าที่ไม่ลงขวดเหล้า ซึ่งคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาทต่อปีในบ้านเราด้วย

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code