เปิดสถานการณ์สุขภาพเยาวชนไทยในรั้วอุดมศึกษา

สู่การยกระดับ “13 มหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ”

 

เปิดสถานการณ์สุขภาพเยาวชนไทยในรั้วอุดมศึกษา          “มหาวิทยาลัยในปัจจุบันกลายเป็นฝูงชนผู้เปล่าเปลี่ยว คณาจารย์ต่างคนต่างอยู่ทุกคนเรียกหาความเป็นปัจเจก (Privacy) แต่ไม่เรียกหาความเป็นหมู่คณะ (Society) แต่ละมหาวิทยาลัยมีปัญหาไม่เหมือนกันเช่นที่จุฬาฯ ก็มีปัญหาเรื่องอาหารของนิสิตที่ส่วนใหญ่เป็นเนื้อสัตว์ ไม่ค่อยมีผักรับประทานและเริ่มมีวัฒนธรรมกาแฟเข้ามา ยังไม่นับสุขภาพทางจิต เช่น ความเครียด วิตกเพ้อฝัน ทั้งนิสิตและคณาจารย์มีหัวใจปั่นป่วน และเป็นสังคมที่ตัวใครตัวมัน” ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ คณะกรรมการสำนักสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าว

 

          เวทีการสะท้อนสถานการณ์สุขภาพของเยาวชนไทยในระดับอุดมศึกษา พบว่า ปัญหาหลักที่นิสิต-นักศึกษากำลังเผชิญมีทั้งโรคอ้วนที่มาจากการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ความดัน และหลอดเลือด , ขาดการออกกำลังกาย, ปัญหาเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยจากชายรักชายและการตั้งครรภ์ระหว่างเรียน, ยาเสพติด การบริโภคแอลกอฮอล์จนนำไปสู่อุบัติเหตุและการทะเลาะวิวาท

 

          รศ.อำนาจ อยู่สุข รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สะท้อนว่า “90% ของ นศ.มีปัญหาสารเคมีตกค้างในกระแสเลือดที่มาจากการรับประทานผักที่มีสารพิษขณะที่นักศึกษาที่ไม่ชอบกินผักก็ประสบปัญหา “โรคอ้วน” ที่ทำให้เกิดโรคความดันคอเรสเตอรอล เบาหวาน โดยพบว่า ผู้ที่ป่วยมากที่สุดคือ กรรมการสภา เลยต้องมีการตั้งชมรมเมตาบอริค ซึ่งหากมีระบบการดูแลสุขภาพของนักศึกษาเรื่องการป้องกันโรค ก็จะประหยัดงบประมาณของประเทศได้อย่างมาก รวมถึงปัญหากลุ่มรักร่วมเพศที่เสี่ยงโรคเอดส์”

 

          เช่นเดียวกับ รศ.ผดุงยศ ดวงมาลา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ “เรื่องเพศสัมพันธ์ถือเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะชายรักชาย ซึ่งที่ มอ.มีงานวิจัยจากหน่วยระบาดวิทยามองว่า เป็นการระบาดอย่างหนึ่งที่เริ่มมีมากยิ่งขึ้นและได้ขยายเครือข่ายไปยังกลุ่มมัธยมอีกด้วยโดยชักชวนรุ่นน้องว่า ที่นี่เปิดกว้าง เพื่อดึงเข้ามหาวิทยาลัย ดังนั้น มหาวิทยาลัยจะต้องดูแลและให้คำแนะนำนักศึกษาอย่างใกล้ชิด แม้แต่เรื่องยาเสพติด เพราะติดแล้วจะมีชีวิตปกติได้ยากรวมถึงพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดโรคอ้วน ที่สำคัญคือ เยาวชนส่วนใหญ่ที่อยู่ในช่วงของการค้นหาตัวเอง จึงต้องหากิจกรรมที่ทำให้เขารู้จักตัวเองที่แท้จริง เพื่อพัฒนาศักยภาพของเขา”

 

          โจทย์ใหญ่ที่เริ่มกลับมาคิดคือ “จะทำอย่างไรให้มหาลัย มีความร่มรื่น งดงามและมีสิ่งแวดล้อมที่ดี” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้เชิญชวน 13 มหาวิทยาลัย เข้าร่วมในโครงการ “มหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ” เพื่อยกระดับสุขภาพของบุคลากรและนักศึกษาในมหาวิทยาลัยให้มีสุขภาพทางกาย ใจ สังคมและปัญญาที่ดียิ่งขึ้น โดยมี 13 มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วม ได้แก่ มหาวิทยาลัยของรัฐ 3 แห่งคือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลานครินทร์

 

          มหาวิทยาลัยเอกชน 10 แห่ง ประกอบด้วยวิทยาลัยราชพฤกษ์ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี, วิทยาลัยกรุงเทพสุวรรณภูมิ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร, วิทยาลัยเซาธ์อีสบางกอก เขตบางนา กรุงเทพมหานคร, มหาวิทยาลัยธนบุรี เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร, มหาวิทยาลัยปทุมธานี อ.เมือง จังหวัดปทุมธานี, วิทยาลัยนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา, วิทยาลัยบัณฑิตบริหารธุรกิจ จังหวัดขอนแก่น, วิทยาลัยตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี, มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา, วิทยาลัยอินเตอร์เทคลำปาง จังหวัดลำปาง

 

          ศ.สุมน กล่าวว่า หลักสำคัญของการดูแลนักศึกษาคือ คณาจารย์ต้องดูแลนิสิตหน้าที่ของเราคือสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนิสิตนักศึกษา กรณีชายรักชายคงต้องเน้นเรื่องสุขภาพจิต รวมถึงปัญหานักศึกษาตั้งครรภ์ระหว่างเรียน หากอาจารย์เข้ามาช่วยเหลือ มีคลินิกทางจิตใจก็จะช่วยได้ระบบอาจารย์ที่ปรึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถดูแลนักศึกษาได้อย่างใกล้ชิด โดยมีการพบปะระหว่างอาจารย์และนิสิตเป็นระยะ ไม่ควรห่างเหินจากนักศึกษา

 

          เพราะเรายอมรับว่าคนรุ่นใหม่ไม่เหมือนรุ่นเรา แต่เราจะไม่ยอมรับให้เขาตกอยู่ในความสุ่มเสี่ยง และถ้าเขาพลาดเราจะอยู่เป็นเพื่อนเขา และแนะนำเขา

 

          มหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพในอุดมคติ ผศ.ลิขิต อมาตยคง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า“มหาวิทยาลัยต้องมีความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งสุขภาพกาย ใจ และสิ่งแวดล้อมที่ดี สามารถเรียนมหาวิทยาลัยได้อย่างมีความสุข เราต้องสร้างนักศึกษาที่เก่ง มีความดี และมีความสุข เพื่อจบมามีศักยภาพในการรับใช้สังคม”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

 

 

Update 15-10-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

Shares:
QR Code :
QR Code