เปิดสถานการณ์ผู้บริโภค ปี 57

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง


เปิดสถานการณ์ผู้บริโภค ปี 57 thaihealth


ท่ามกลางความหลากหลายของสินค้าอุปโภคบริโภค ปฏิเสธไม่ได้ว่าย่อมมีสินค้าไม่ปลอดภัยปะปนอยู่ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ผู้บริโภคต้องเผชิญ และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้


แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดทำ "ตัวชี้วัดการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพระดับชาติ" เพื่อประเมินสถานการณ์และเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพของประเทศต่อไป


เปิดสถานการณ์ผู้บริโภค ปี 57 thaihealthเมื่อไม่นานนี้ ในการประชุมสภาผู้บริโภคแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ผศ.ดร.ภญ.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ รองผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ได้กล่าวถึง สถานการณ์คุ้มครองผู้บริโภค ปี 2557 ประเมินสถานะผู้บริโภคไทยตามดัชนีชี้วัดการคุ้มครองผู้บริโภคระดับชาติ พบว่า ผู้บริโภคมีความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพในระดับดี ร้อยละ 79.8 โดยสามารถเลือกซื้อและเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัยในระดับดีมาก ร้อยละ 89.3 แต่กลับมีพฤติกรรมการบริโภคเพื่อสุขภาพในระดับพอใช้


อีกทั้งยังพบว่า มีการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง ร้อยละ 65.5 บริโภคเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ร้อยละ 49.6 และบริโภคอาหารกรุบกรอบ ร้อยละ 35.5 นอกจากนี้ ผู้บริโภคมีการปกป้องสิทธิผู้บริโภคอยู่ในระดับดี เมื่อพบปัญหาจากการซื้อสินค้า ผู้บริโภคมีพฤติกรรมปกป้องสิทธิผู้บริโภค ร้อยละ 77.3 โดยส่วนใหญ่เป็นการขอคืนสินค้า


ผศ.ภญ.ดร.วรรณา กล่าวต่อว่า ในด้านคุณภาพของสินค้าหรือบริการ ยังมีผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่เข้าเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 17.3 อาหารสดมีปริมาณสารปนเปื้อนเกินกว่าที่กำหนด ร้อยละ 13.6 ขณะที่ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบตามมาตรฐานที่กำหนดในระดับดีมากกว่าร้อยละ 98.0 แต่ก็ยังพบการผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่เข้าเกณฑ์มาตรฐาน และโรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐาน HA (Hospital Accreditation) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังพบการร้องทุกข์โรงพยาบาลอยู่บ้าง


"สำหรับข้อมูลข่าวสารในการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น ผู้บริโภคยังเข้าถึงข้อมูลได้น้อยมากมีรายการคุ้มครองผู้บริโภคที่นำเสนอผ่านทางสถานีโทรทัศน์ในรอบปี เพียง 2 รายการเท่านั้นและบทความที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคที่เผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ มีค่าเฉลี่ย 16.7 บทความ/ฉบับ/ปี ซึ่งถือว่ามีจำนวนน้อยมาก" ผศ.ภญ.ดร.วรรณา กล่าว


เปิดสถานการณ์ผู้บริโภค ปี 57 thaihealth


ขณะที่ รศ.ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ได้เล่าถึง "โครงการจัดลำดับความสำคัญสินค้าไม่ปลอดภัย" ว่าเป็นการสำรวจ รวบรวมปัญหา และจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัย ที่วางจำหน่ายอยู่ในแต่ละพื้นที่ โดยพบว่าสินค้าไม่ปลอดภัยจากการประเมินระดับประเทศ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.สารเคมีการเกษตรตกค้างในผักผลไม้ หรือปลาเค็ม 2.เครื่องสำอางผสมสารเคมีอันตราย 3.น้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ 4.สเตอรอยด์ปลอมปนในผลิตภัณฑ์สุขภาพยาไม่เหมาะสมในชุมชน และ 5.ฟอร์มาลีนในอาหาร


"การสำรวจ รวบรวมปัญหา และจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัย เป็นหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้ผู้บริโภคได้รู้เท่าทัน เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจก่อนที่จะเลือกซื้อสินค้านั้นๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดนโยบาย มาตรการ หรือแผนการจัดการปัญหาสินค้าให้เหมาะสม เพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้บริโภคเอง" รศ.ดร.ภก.วิทยา กล่าวทิ้งท้าย


ปัญหาของผู้บริโภคมีหลายรูปแบบ ดังนั้นผู้บริโภคเองจึงต้องมีข้อมูลให้รู้เท่าทันสถานการณ์ สร้างความตระหนักในการเลือกสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อความปลอดภัย และการมีสุขภาพที่ดีต่อตัวเราเอง


 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ