เปิดยุทธศาสตร์”ตะเกียบสองขา”
รัฐ-เอกชนร่วมต่อต้านคอร์รัปชัน
“กรุงเทพธุรกิจ” จัดสัมมนาโต๊ะกลม หัวข้อ “ยุทธศาสตร์ต่อต้านคอร์รัปชัน ตะเกียบสองขาแห่งความร่วมมือรัฐ-เอกชน” โดยมี นายภักดี โพธิศิริ กรรมการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายชาญชัย จารุวัสตร์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (ไอโอดี) ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ดร.อุทิศ ขาวเจียร ผู้ทรงคุณวุฒิ ป.ป.ช. และนายสุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบันเช้นจ์ฟิวชันฯ
นายภักดี กล่าวว่า ป.ป.ช. ได้จัดทำยุทธศาสตร์ต่อต้านทุจริตระยะ 5 ปี (ปี 2551-2555) เน้นสาระหลักที่ทำให้ทุกภาคส่วนทำงานร่วมกัน เน้นการป้องกันทุจริตคอร์รัปชันตั้งแต่รากฐาน เพื่อสร้างค่านิยมให้เกิดการต่อต้านคอร์รัปชันและทุจริต การเสริมความแข็งแกร่งให้แก่องค์กรทุกภาคส่วน ยึดหลักธรรมาภิบาล ทำให้ประเทศไทยในสายตาชาวโลกดีขึ้น
ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ยังไม่น่าพอใจ เพราะรัฐบาลไม่มีความชัดเจน ทั้งๆ ที่ภาครัฐต้องเป็นตัวหลัก ขณะที่ในต่างประเทศภาคเอกชนจะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเรื่องนี้
“เราต้องมุ่งมั่นให้สังคมดี มีวินัย ตั้งแต่รากฐาน ระดมกำลังทุกภาคส่วนในการเสริมสร้างความโปร่งใสทั้งระดับองค์กรและระดับบุคคล โดยมีเป้าหมายให้การทุจริตลดดง แต่ยอมรับว่าการขับเคลื่อนที่ผ่านมา ไม่น่าพอใจ การที่ยุทธศาสตร์ไม่ไปไหน เพราะกลไกขับเคลื่อนยังเป็นสนิม ไม่ไปไหน ยังไม่มีองค์กรรับผิดชอบที่ชัดเจน โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องการประสานงานและเชื่อมโยงหลายองค์กรจะล้มเหลวทันที ขณะนี้ ป.ป.ช.พยายามออกแบบกลไกระบบขับเคลื่อนติดตามและประเมินผลแบบบูรณาการตั้งแต่ก่อนได้รับงบประมาณ การบริหารความเสี่ยง มาตรฐานการใช้งบประมาณ จะทำเป็นยุทธศาสตร์ เตรียมจะเสนอ ครม. เร็วๆ นี้”
นอกจากนั้น ยังมีปัญหาบางภาคส่วนยังไม่มีกลไกขับเคลื่อนเพียงพอ เช่น ภาคการเมือง เห็นได้จากกลุ่มเป้าหมาย นักการเมือง ส.ส., ส.ว.ยังไม่ยอมรับหลักการในเรื่องจริยธรรม ดังนั้น เราควรจะมีมาตรการกดดันจากภาคประชาชน คว่ำบาตร (แซงชั่น) ด้านสังคม ไม่เลือกตั้งเข้ามาอีก หรือไม่คบค้าด้วย มาตรการเหล่านี้ยังไม่ได้จำกัดเฉพาะภาคการเมือง แต่ควรใช้กับทุกภาค ซึ่งเรื่องนี้ภาคสังคมจะมีบทบาทมากขึ้น ยังไม่รวมถึงภาคศาสนาก็ควรเข้ามาร่วม ขณะที่ภาคอื่น เช่น บุคลากรยุติธรรม ตุลาการ พนักงานสอบสวนก็ควรเข้ามาร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าว
นายภักดี กล่าวอีกว่า แนวโน้มการคอร์รัปชันจะไม่จำกัดเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่กลายเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ เพราะระบบกฎหมายไทยยังล้าหลัง ทำให้ตามอาชญากรรมข้ามชาติไม่ทัน ปัจจุบันมีการต่อต้านการให้สินบนข้ามชาติในต่างประเทศ แต่กฎหมายไทยยังไม่มี ทั้งๆ ที่ความจริงไม่จำเป็นต้องรอกฎหมาย เพราะภาคเอกชนควรจะมี ความรับผิดชอบของภาคธุรกิจ (corporate liability) ทั้งหมดต้องดูที่ภาคปฏิบัติ การแซงชั่น หรือบทลงโทษทางสังคม
โพลล์ บจ.700 แห่งชี้ไร้มาตรการป้องกันคอร์รัปชัน
นายชาญชัย กล่าวว่า ภาคประชาสังคมจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน โดยจะต้องมีมาตรการที่ให้เกิดการตื่นตัวในทุกภาคส่วน
“ความสำคัญให้กลุ่มประชาชนต้องรีบทำ ต้องสร้างเซลล์ดีให้มากๆ ต้องลงไปถึงระดับคนทั้งประเทศ สร้างแคมเปญประชาสัมพันธ์ระดับชาติ กระตุ้นให้สังคมให้เข้าใจ คอร์รัปชันนั้น รวยกันไม่กี่คน แต่จนกันทั้งชาติ” นายชาญชัย กล่าว
นายชาญชัย กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการภาคเอกชนได้เข้ามามีบทบาทในการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยการศึกษารูปแบบจากต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งในที่สุดก็ได้โมเดลที่มุ่งในแง่ของจรรยาบรรณและจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ เริ่มจากภายในองค์กร ที่จะต้องพัฒนาให้มีการต่อต้านทุจริตทุกรูปแบบ
ขณะเดียวกันสมาคมได้สร้างแนวร่วม (collective action) ในการต่อต้านคอร์รัปชันขึ้นมา โดยเริ่มจากลุ่มนำร่องที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ได้รับคะแนนซีจี ระดับ 4 และ 5 ดาว และเอามาตรฐานต่อต้านคอร์รัปชันเข้าไปเสริม โดยขณะนี้มีบริษัทจดทะเบียนที่มีคะแนนซีจี 5 ดาว 52 บริษัท และ 4 ดาว จำนวน 148 บริษัท ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นสมาชิกนำร่องของแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชัน ที่คาดหวังว่าในอนาคตจะมีการขยายวงกว้างมากขึ้น
เปิดโรดแมพ 8 ขั้นสร้างแนวร่วม
ที่ผ่านมาสมาคมไอโอดีมีแผนการพัฒนาเพื่อนำไปสู่แนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชัน 8 ระดับ ได้แก่ 1.หาแนวร่วม จะมีหอการค้าไทย หอการค้าต่างประเทศ ไอโอดี สมาคมบริษัทจดทะเบียน เป็นแนวร่วมก่อตั้ง และจะขยายไปถึงสมาคมธนาคารไทย และ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)
2.การสำรวจความคิดเห็น เพื่อดูความพร้อม 3.โฟกัสกรุ๊ป จะจำกัดไม่เกิน 50 บริษัท 4.การประชุม เพื่อขยายวงให้กว้างขึ้น 5.การตั้งสภาขึ้นมากำกับดูแล 6.การเปิดรับสมาชิก 7.การพัฒนาองค์กร จัดเป็นหลักสูตรเผยแพร่ถึงมาตรฐานที่ทำ และเกิดความร่วมมือเป็นรูปธรรม ประการสุดท้าย การวัดผล
นายชาญชัย กล่าวอีกว่า สมาคมไอโอดีได้ออกแบบสำรวจความคิดเห็นของผู้นำธุรกิจเอกชน เกี่ยวกับ “การสร้างแนวร่วม (collective action) ในการต่อต้านคอร์รัปชัน” โดยได้ส่งหนังสือออกไป 4,000 ฉบับ ได้รับตอบกลับมาแล้ว 700 ฉบับ พบว่า ในหัวข้อระดับความคิดเห็นต่อปัญหาคอร์รัปชัน 47% ตอบว่าสูง 45% ตอบว่าสูงมาก แสดงว่า 92% ยังเชื่อว่าปัญหานี้รุนแรง
นายชาญชัย กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าคาดว่าจะมีผู้ตอบแบบสอบถามกลับมาอีกอย่างน้อย 300-400 ราย แต่เชื่อว่าผลที่ได้รับคงไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก ขณะที่ผลการสำรวจครั้งนี้ กลุ่มบริษัทจดทะเบียน 59% พร้อมจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชัน หากมีกฎที่ปฏิบัติได้ แต่อีก 14% บอกว่า เข้าร่วมแน่นอน ไม่ว่ากฎจะออกมาเป็นอย่างไร
“ที่น่าสนใจมี 10 รายตอบกลับมาว่า จะสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มแล้ว แต่กลายเป็นว่าเป็นบริษัทต่างชาติทั้งหมด”
ภาคสังคมแนะหาจุดเริ่มต้นร่วมต้านคอร์รัปชัน
ทพ.กฤษดา กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมามีการพูดถึงปัญหาคอร์รัปชันในสังคม จนกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ เหมือนโรคร้ายที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และเร็ว จนเชื่อว่า จะถึงจุดที่ทำให้ประเทศหยุดพัฒนาได้หรือไม่ ซึ่งหากสังคมคิดว่าต้องหยุดคอร์รัปชันให้ได้ ถ้าหยุดไม่ได้ประเทศจะเดินหน้าต่อไม่ได้ แต่สิ่งที่ทุกภาคส่วนทำอยู่ทุกวันนี้ ดูเหมือนจะไม่ได้ผล เหมือนเป็นแค่พิธีกรรมเท่านั้น
สำหรับภาคประชาสังคมนั้น อยากมีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน แต่ไม่รู้ว่าจะร่วมต่อต้านอย่างไร โดยเห็นยุทธศาสตร์ต่อต้านคอร์รัปชันที่ออกมาก็ค่อนข้างดี แต่การปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ยังไม่ชัดเจน และยังหาจุดเริ่มที่ชัดเจนไม่ได้ ส่วนตัวคิดว่า จะต้องเริ่มจากหลายภาคส่วนพร้อมกัน โดยเริ่มจากภาคธุรกิจหรือเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง
ขณะภาควิชาการ ก็สามารถทำข้อมูลให้ประจักษ์ในเรื่องคอร์รัปชัน ซึ่งคิดว่าควรทำเป็นทางเลือก มาให้ชัดๆ จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมขึ้นมา นอกจากนั้นแบบฟอร์ม ในการทำงาน และการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งในประเทศไทยยังมีข้อมูลหลายอย่างไม่ได้ถูกเปิดเผยออกมา เช่น การใช้จ่ายงบประมาณ ข้อมูลการเสียภาษีของบริษัทต่างๆ ยังปิดกั้นไม่สามารถดูข้อมูลได้แม้จะมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารที่จะใช้เปิดเผยข้อมูลได้ก็ตาม โดยหากภาคเอ็นจีโอหรือภาคสังคม เข้ามาช่วยได้ แต่ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลทุกด้าน รวมถึงนโยบายสำคัญที่ต้องบังคับใช้จริงจัง เช่น กรณียอมรับผิดในทางอาญา ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้สังคมเข้ามาร่วมได้
“จุดเริ่มต้นคือภาคธุรกิจและภาคสังคมต้องสร้างงานวิชาการ วิเคราะห์ ทำทางเลือก สร้างแบบฟอร์ม เปิดเผยข้อมูล ทำเรตติ้งด้านธรรมาภิบาล เหล่านี้ต้องมีเจ้าภาพดุแลชัดเจน เพื่อเป็น good governance ที่ดี”
การเมืองแทรกคอร์รัปชันพุ่ง
ดร.เดือนเด่น เห็นว่า จากข้อมูลสะท้อนภาพการคอร์รัปชันที่น่ากลัวกว่าที่คิด สอดคล้องกับการศึกษาของทีดีอาร์ไอที่พบว่า การคอร์รัปชันในสังคมแย่ลงอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการเมืองเข้ามาแทรกแซงมากขึ้น โดยเฉพาะในแวดวงข้าราชการที่อ่อนแอลงมาก ซึ่งเห็นได้ชัดจากการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่ก่อนหน้านี้การเมืองจะเกี่ยวข้องเฉพาะตำแหน่งปลัดแต่ตอนนี้ล้วงลึกไปถึงระดับซี 6 – ซี 7 ด้วยซ้ำซึ่งเป็นภาพที่ค่อนข้างน่ากลัว
ทั้งนี้ ยอมรับว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชันนั้นเป็นเรื่องที่ยากและดูเหมือนไม่มีความหวังที่การเมืองจะเข้ามาแก้ไขให้ นอกจากประชาชนจะเลือกนักการเมืองมือสะอาดเข้ามา ซึ่งอาจเป็นเรื่องในระยะยาวแต่ขณะนี้สิ่งที่ทำได้ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความตระหนักมากขึ้น และถือเป็นบทบาทของสื่อด้วยที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นในเรื่องนี้ เพราะต้องยอมรับว่าประชาชนส่วนใหญ่คิดถึงเรื่องปากท้องมากกว่าปัญหาการคอร์รัปชัน
“คนทั่วไปไม่รู้สึกเสียหายเพราะหากเสียหายก็เป็นการใช้เงินของรัฐ จึงต้องทำให้ประชาชนเห็นชัดเจนโดยแปลงความเสียหายเป็นเม็ดเงินที่ประชาชนควรได้รับแต่กลับถูกคอร์รัปชันไป ซึ่งจุดนี้เป็นหน้าที่ของนักวิชาการที่จะสื่อออกมาให้ประชาชนรู้สึกและเห็นถึงความสำคัญ ส่วนกรณีของสื่อที่ผ่านมามักเป็นการนำเสนอข้อมูล 2 ด้านไม่ได้สรุปชี้ชัดลงไปว่าใครทุจริต อย่างไร ข้อมูลที่ให้โดยนักการเมืองส่วนใหญ่ก็ล้วนเป็นตัวเลขเท็จ ทำให้ชาวบ้านจะเลือกเชื่อข้างที่ตัวเองจะฟัง สังคมไทยจึงมีการแบ่งขั้วมากขึ้นและเกิดความแตกแยกตามมา”
ดร.เดือนเด่น เห็นด้วยในการหวังพึ่งพลังของสังคมเป็นแรงกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่มองว่าทุกฝ่ายต้องช่วยกันทั้งการให้ข้อมูล การคุ้มครองพยานหรือผู้แจ้งเบาะแสให้ ป.ป.ช. เพราะแม้ขณะนี้จะมีกฎหมายออกมาใช้แล้วแต่ดูเหมือนจะไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควรทำให้ไม่มีใครกล้าเสี่ยง นอกจากนั้นการศึกษาของทีดีอาร์ไอพบว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุกจริตของบริษัทเอกชนมีทั้งข้าราชการและนักการเมือง จึงเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนและการออกกฎหมายต่างๆ ก็มักใช้อำนาจหรือดุลพินิจของนักการเมืองซึ่งไม่ได้มีการตรวจสอบตัวเองและส่วนใหญ่ไม่มีการกำหนดบทลงโทษไว้ชัดเจน
หวั่นไทยเสี่ยงซ้ำรอยฟิลิปปินส์
ด้าน ดร.อุทิศ ยอมรับว่า ค่อนข้างเป็นห่วงภาคประชาคม เห็นว่าต้องเร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน โดยการอ้างอิงจากตัวอย่างที่เห็นเด่นชัด เช่น กรณีของประเทศฟิลิปปินส์ ที่มีการโกงกินของผู้บริหารประเทศมายาวนานนับ 10 ปีนั้น ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำและยังไม่ฟื้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ คนไทยเองก็ควรตระหนักว่าการคอร์รัปชันเชิงนโยบายนั้นเป็นการทำลายเศรษฐกิจของประเทศและจะได้เห็นไม่เกินเจเนอเรชั่นเดียว โดยควรเริ่มจากประชาคมที่ได้รับความเดือดร้อนก่อน เพราะส่วนใหญ่หากเป็นเรื่องไกลตัวมักจะไม่ค่อยรู้สึกอะไร
“เอ็นจีโอ ควรรุกเข้าไปจับกลุ่มเป้าหมายให้เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้และชี้ให้เห็นว่าการทุจริตทำให้เขาได้รับความเดือดร้อนด้วย เพราะขณะนี้ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงสุดที่จะเดินตามรอยฟิลิปปินส์ แม้ว่าอินโดนีเซียก็เข้าข่ายแต่ผู้บริหารเขาเริ่มตระหนักเรื่องนี้แล้ว ขณะที่ไทยยังไม่มีการตื่นตัวยิ่งผลสำรวจที่ออกมาพบว่าทุกอำเภอมีการทุจริตโครงการไทยเข้มแข็งร้อยเปอร์เซ็นต์ ยิ่งตอกย้ำว่าไทยมีโอกาสจะเกิดปัญหาขึ้นได้แน่เพราะระดับท้องถิ่นการทุจริตเหมือนไวรัสที่กลายพันธุ์ได้เร็วมาก การเข้าไปตรวจสอบทำได้ยากขึ้นเพราะวิธีการทุจริตที่แยบยลมากขึ้น เช่น การตั้งนอมินีไว้บังหน้าทั้งในรูปของมูลนิธิ บริษัทประชาสัมพันธ์ บริษัททัวร์เป็นต้น ส่วนการทุจริตระดับชาติหากเป็นอาชญากรรมข้ามชาติด้วยจะยิ่งน่าเป็นห่วง”
ส่วนของภาคเอกชนไม่ค่อยกังวลเพราะเริ่มมีการตื่นตัวมากขึ้นแม้ว่ามีบางจุดยังต้องแก้ไข เช่น กรณีของสถาบันการเงินน่าจะให้ความร่วมมือตรวจสอบหรือรายงานความผิดปกติของธุรกรรมทางการเงินให้ ป.ป.ช.รับทราบมากขึ้น ส่วนสื่อต้องมีการรายงานกระตุ้นให้เกิดความสนใจมากขึ้น แต่ที่น่าเป็นห่วงคือภาครัฐที่ตนไม่มีคำตอบเหมือนกันว่าจะกระตุ้นอย่างไร เพราะเท่าที่เห็นมากระตุ้นยาก ซึ่งที่ผ่านมาเคยเสนอยุทธศาสตร์ชาติแต่รัฐบาลกลับมีท่าทีเพิกเฉย เคยเสนอสภาก็ไม่ได้รับความสนใจ จึงต้องอาศัยภาคประชาชนและสังคมเป็นตัวรุกในเรื่องนี้
นายสุนิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่อยากเห็นไทยเหมือนฟิลิปปินส์ จึงเสนอให้พัฒนาความร่วมมือต่อต้านทุจริต ซึ่งเกี่ยวข้องกับกลไกของภาครัฐด้วยในการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญเพื่อให้ตรวจสอบง่ายขึ้น รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและสังคม โดยอาจทำโรดแมพร่วมกันเพราะภาคประชาชนส่วนใหญ่ขาดเงินทุนสนับสนุน นอกจากนั้นต้องมีการสื่อสารรณรงค์เรื่องการคอร์รัปชันร่วมกัน โดยอาศัยเวทีการประชุม ไอเอซีซีที่จะจัดขึ้นที่ไทยเร็วๆ นี้เป็นจุดเริ่มต้นก่อนพัฒนาไปสู้ก้าวต่อไป และที่สำคัญต้องสร้างกลไกให้เกิดการขับเคลื่อนได้ อย่าง ป.ป.ช.ในฐานะที่ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันภาครัฐแต่กลับไม่ได้รับการอุดหนุนงบประมาณดำเนินการเท่าที่ควรล่าสุดโดนตัดงบเหลือเพียงพันล้านบาทเท่านั้น
“หากลดการทุจริตคอร์รัปชันลงได้ เชื่อว่าเม็ดเงินที่หายไป 20% ของงบประมาณหรือกว่า 3.4 แสนล้านบาทนั้นน่าจะกลับคืนมาใช้ประโยชน์กับประชาชนในการดูแลด้านสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตายได้ โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นภาษีหรือหารายได้เข้ามาเพิ่มด้วยซ้ำ” นายสุนิตย์ กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
update: 04–10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน