เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ด้วยยุทธศาสตร์เมือง มองใต้ผ่านสายตาคนรุ่นใหม่3 ดี
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
คำกล่าวที่ว่า "เราจำเป็นต้องรู้ว่าเราคือใคร เติบโตและเกิดมาจากที่ใด" ถูกปลูกฝังในเยาวชนชาวใต้จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อตอกย้ำถึงการระลึกรู้ถึงรากวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเองเสมอมา และบอกเล่าเรื่องราวความเป็นคนใต้ให้กับคนรุ่นใหม่ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
งานมหกรรมเยาวชนสร้างสรรค์ "รวมพลคนรุ่นใหม่ขยับปีกฝัน" ที่จัดขึ้นภายใต้โครงการ "Spark U ปลุกใจเมือง" นับเป็นการรวมพลเยาวชนครั้งแรกบน ถนนยะหริ่ง จ.สงขลา โดยความร่วมมือของ 3 แผนงานสำคัญของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประกอบด้วย แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ แผนสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และแผนสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน ภายใต้แผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา
เรื่องราวความฝันของพลังเยาวชนภาคใต้ถูกสื่อสารสาธารณะผ่านเวทีในครั้งนี้ ด้วยการเชื่อมร้อย 3 หัวใจหลัก ทั้งจากภูผาถึงทะเล จากรากเหง้าถึงอนาคต และจากอัตลักษณ์ถึงพหุวัฒนธรรม โดย นางเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) หนึ่งในแผนงานหลัก เล่าให้ฟังว่า สสส.และภาคีเครือข่ายจัดงานเช่นนี้ขึ้นใน 3 ภูมิภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ จัดที่ จ.เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดที่ จ.ขอนแก่น และภาคใต้จัดที่ จ.สงขลา ทั้งนี้ สสส. เชื่อมั่นว่าเรื่องสุขภาพไม่ได้มีแค่เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ แต่ครอบคลุมไปถึงการมียุทธศาสตร์เมือง 3 ดี คือพื้นที่ดี สื่อดี และภูมิดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้สำคัญมากต่อการสร้างสุขภาวะที่ดีให้ประชาชนในพื้นที่ด้วยพลังสร้าง สรรค์ที่เกิดจากเยาวชน
"จากการถอดบทเรียนของภาคีเครือข่าย สสส. พบว่า การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ด้วยยุทธศาสตร์เมือง 3 ดี เป็นกระบวนการสร้างพลังของพลเมืองรุ่นใหม่ที่ตื่นรู้ เพื่อร่วมเปลี่ยนแปลงเมืองและสิ่งแวดล้อมให้เกิดพื้นที่สุขภาวะที่ดี ซึ่งจะเป็นตัวจุดประกาย (Spark) ทุกคนที่รับสารจากเราไป ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ของตน โดยเยาวชนภาคใต้ที่ร่วมกิจกรรมในวันนี้เกือบ 400 คน พลังเยาวชนที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ และสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง เชื่อมร้อยกลุ่มต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้ลมหายใจของภาคใต้ขับเคลื่อนและเต้นต่อไปด้วยพลังของเยาวชนรุ่นใหม่" ผู้จัดการ สสย. อธิบายเพิ่มเติม
เสียงคนเล็กๆ จากเสวนา "มองใต้ผ่านสายตาคนรุ่นใหม่" อย่างเยาวชนชาวสวนกงที่บอกเล่าผ่านคติสั้น ๆ ว่า "ทะเลคือชีวิต" ซึ่งบ่งบอกถึงห่วงโซ่ชีวิตของคนบ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ที่ปัจจุบันกำลังต่อสู้กับโครงการสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลา แห่งที่ 2 ณ ชายหาดบ้านสวนกง น.ส.ไครีย๊ะห์ ระหมันยะ หรือ ย๊ะห์ แกนนำเยาวชนกลุ่มเด็กรักหาดสวนกง เล่าให้ฟังว่า บ้านสวนกงมี "ดูหลำ" หรือคนฟังเสียงปลาที่สืบทอดวิชามาจากบรรพบุรุษ ซึ่งสามารถฟังเสียงปลาได้ทุกชนิดและรู้ว่าอยู่ตำแหน่งใดของท้องทะเล รวมถึงดูดาวเหนือเพื่อหาทางกลับบ้าน "อูหยำ" หรือการสร้างบ้านปลาจากวัสดุธรรมชาติ เพื่อเป็นเครื่องมือดึงดูดปลาเล็กปลาน้อยเข้ามาอาศัยร่มเงาทำการประมงในบริเวณนั้น "เจ้าทะเล" ซึ่งมีความสามารถพยากรณ์ดินฟ้าอากาศได้อย่างแม่นยำ ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของภูมิปัญญาของบ้านสวนกง
เช่นเดียวกับกลุ่มเยาวชน Beach for life จ.สงขลา ที่หวงแหนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของท้องทะเลสงขลา น.ส.เพรชเชิซ เอเบเล อีเลซุคกู หรือเกรซ แกนนำเยาวชนกลุ่ม Beach for life เล่าให้ฟังว่า การกัดเซาะชายฝั่งหาดสงขลา เป็นปัญหาที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น แม้พลวัตที่เกิดขึ้นของชายหาด จะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่ความเข้าใจผิดทางวิชาการและแก้ปัญหาโดยวิธีที่ไม่เหมาะกับชายหาดทำให้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว วิถีชีวิต และระบบนิเวศของหาดสงขลา
"ขอบคุณ สสส.และภาคีเครือข่ายที่จัดพื้นที่ให้พวกเราได้พูดคุยกัน หนูได้เจอเพื่อน ๆ จากหลายกลุ่มที่ปกป้องพื้นที่ของตนเองจนเกิดการแชร์ไอเดียใหม่ ๆ ระหว่างกัน การขับเคลื่อนเรื่องทรัพยากรให้คงอยู่ได้นั้นไม่ใช่แค่สร้างองค์ความรู้และเดินหน้าทำงาน เราจำเป็นต้องส่งต่อความรู้เหล่านี้ให้กับคนอื่น ๆ ด้วย" เกรซ เล่าให้ฟังทิ้งท้าย
บรรยากาศภายในงาน "Spark U ปลุกใจเมือง" ยังได้รวบรวมอัตลักษณ์และสังคมพหุวัฒนธรรมของภาคใต้มาสร้างบรร ยากาศสนุกสนานไว้เต็มพื้นที่ ถนนยะหริ่ง ซึ่งประกอบไปด้วย ผ้ามัดย้อม ขนมมาดูฆาตง สมุดทำมือหน้าปกผ้าปาเต๊ะ ระบายสีนกเงือก ไข่ปลาหารัก ตาข่ายดักฝัน นุ่งซิ่นดีกว่านุ่งสั้น ฯลฯ ซึ่งสร้างสีสันและช่วยต่อลมหายใจของคนใต้ต่อไปได้อีกไม่น้อย