เปิดพื้นที่วัยโจ๋ ชูวิถีภาคตะวันตก
ผ่านพ้นไปอย่างเรียบร้อยสำหรับงาน “ปลุกพลังเยาวชนชูวิถีคนตะวันตก” ณ ลานวัฒนธรรมนาคะวะรังค์ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน ที่ผ่านมา ภายใต้โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.
กิจกรรมนี้ผู้มาร่วมงานเป็นเยาวชนจากภาคตะวันตก ได้แก่ จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี จ.สมุทรสงคราม และ จ.เพชรบุรี รวมทั้งสิ้นจำนวน 20 กลุ่ม พร้อมนำเสนอโครงการชุมชนที่ตัวเองได้เรียนรู้จากการลงมือทำเพื่อสืบสานวัฒนธรรม นำสิ่งดีๆ ในภาคตะวันตกมาอนุรักษ์ให้ดำรงอยู่สืบไป โดยบรรยากาศในงานเต็มไปด้วยความสนุกสนานกับฐานการเรียนรู้ การแสดงศิลปวัฒนธรรมภาคตะวันตก การแสดงละคร การแสดงฉ่อย การแสดงวงดนตรี วงเสวนาเยาวชน หัวข้อ “Change” ซึ่งเกิดจากเหล่าเยาวชนร่วมคิดร่วมกันทำในครั้งนี้
นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า เยาวชนคือรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น ประเทศชาติ ให้มีจิตสำนึกความเป็นพลเมืองและมีทักษะชีวิต เพราะเราเชื่อว่าเยาวชนจะเติบโตและมีคุณลักษณะดังกล่าวต้องผ่านกระบวนการการเรียนรู้จากการลงมือทำ อีกทั้งสิ่งสำคัญสุดคือผู้ใหญ่ต้องเปิดโอกาสและเปิดพื้นที่ให้สามารถทำความรู้จักโจทย์จริงของชุมชน ให้รู้จักตนเอง ให้สามารถเข้าใจบริบทและปัญหา จนรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน รู้สึกรักบ้านเกิด และมีพลังอยากลุกขึ้นมาทำประโยชน์
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสร้างพลเมืองเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ โดยมีพันธมิตรร่วมงานกว่า 15 องค์กร สถาบันการศึกษากว่า 55 สถาบัน และมีเยาวชนเข้าร่วมสร้างสรรค์โครงการกว่า 5,000 คน ซึ่งมีโครงการอยู่ทั่วประเทศ และเป็นโครงการที่หลากหลาย ทั้งการส่งเสริมเยาวชนสู่การพัฒนาท้องถิ่น การพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ การร่วมสร้างชุมชนด้วยแนวเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาผู้ประกอบการทางสังคมรุ่นใหม่ เป็นต้น เพราะเราเชื่อว่าพลังของเยาวชน พลเมืองสร้างสรรค์ (Active Citizen) คือพลังที่แข็งแรง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่นที่เข้มแข็งต่อไป
ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยากรที่ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ กล่าวว่า จากที่ได้เดินดูนิทรรศการการเรียนรู้ของเยาวชนทั้ง 20 กลุ่ม ได้เห็นว่าเด็กๆ มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เพราะได้ทำประโยชน์ให้แก่สังคม และยังคิดเป็นอีกด้วย เช่น กลุ่มน้องที่ทำนาเกลือ จากเกลือกิโลละบาทห้าสิบสตางค์ เพิ่มมูลค่าเกลือให้เป็นขีดละ 35 บาท
“พวกเขามีความมั่นใจแบบสากล แต่แสดงออกแบบวัฒนธรรมไทย ทั้งกล้าแสดงออก กล้าพูด แต่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เราไม่ค่อยเห็นเด็กไทยสมัยนี้มีกัน เพราะส่วนใหญ่จะก้าวร้าว ฟุ้งซ่าน นี่คือความลงตัวที่ชุมชนขัดเกลา เป็นโมเดลที่ทำให้เด็กเป็นแกนกลางได้จริง โครงการที่สามารถเชื่อมโยงโรงเรียนมาสู่โจทย์ของชุมชน อันนี้เป็นก้าวสำคัญเรื่องการศึกษา”
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า ตอนนี้โมเดลของกระทรวงศึกษาธิการได้มีนโยบายลดเวลาเรียน โดยเลิกบ่ายสองโมง ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างการเรียนรู้ให้กับเยาวชนได้ และเชื่อมโยงให้มีหลักสูตรท้องถิ่นลงมาทำงานกับชุมชน มีนักพัฒนาชุมชนคอยช่วยตั้งโจทย์ชุมชน เด็กจะได้รับการพัฒนาให้มีทักษะชีวิตเพื่อเข้าสู่การศึกษาในศตวรรษที่ 21
นายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ หัวหน้าโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ได้กล่าวว่า โครงการนี้เข้ามาช่วยอุดช่องโหว่ของการศึกษา เพราะเป็นบทเรียนจากประสบการณ์ภายนอกมาใช้ และทำให้เด็กรักและอยากอยู่กับท้องถิ่น
“เมื่อเด็กพัฒนาประสิทธิภาพการเรียนรู้เพิ่มขึ้น การเรียนในห้องเรียนก็จะพัฒนาตามมา เช่น เด็กไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ พอผ่านโครงการก็จะกลับไปขยันเรียนมากขึ้น เนื่องจากเด็กได้สัมผัสกับสิ่งใหม่ๆ มากกว่า ได้รับคำแนะนำจากผู้คนที่พบเจอ เห็นการปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชน ทำให้รู้สึกว่าชุมชนไม่ได้ว่างเปล่าเหมือนก่อน แต่มีคุณค่าที่ทำให้เขาได้เรียนรู้อะไรอีกหลายด้าน
หัวหน้าโครงการเล่าต่อว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาเด็กไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ผ่านโครงการนี้ เติบโตและเข้าใจคำว่าสำนึกพลเมืองแบบลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่ท่องจำ เราก็เห็นว่าการเรียนรู้ท้องถิ่นทำให้เด็กมีวินัย มีความรับผิดชอบ และมีสำนึกรักท้องถิ่นมากขึ้น ดังนั้นในปีที่ 2 จึงเสนอกิจกรรมที่มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยจะให้ทำงานเชื่อมโยงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมกับวิถีชีวิตของเด็กมากขึ้น เช่น ดูแลเรื่องจัดการและคุณภาพน้ำ เพิ่มเนื้อหาเรื่องสิทธิพลเมือง สิทธิชุมชนมากขึ้น สำหรับปี 2 จะรับสมัครเยาวชนเข้าร่วมโครงการ 25 กลุ่ม โดย 5 กลุ่มมาจากความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตเพชรบุรี ที่จะส่งนักศึกษามาร่วมเรียนรู้ชุมชนด้วย
นายชนม์สวัสดิ์ ฉิมเชื้อ (นัท) อายุ 17 ปี เยาวชนแกนนำจากโครงการสำรวจท่าคาในอัมพวา ตามหาน้ำตาลมะพร้าว ร่วมสะท้อนการเรียนรู้ว่า การทำโครงการ แม้บางครั้งเหนื่อย มันก็เป็นการเหนื่อยที่มีความสุข เราได้เรียนรู้ ได้พบเจอผู้คน และได้ทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้ทำ ตรงนี้เป็นโอกาสที่จะได้ทำ ได้เรียนรู้จากของจริง
อยากบอกเพื่อนๆ ว่าควรจะได้โอกาสลงมาทำกิจกรรมแบบนี้ เพราะถ้าหากหมดคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ สิ่งดีๆ เช่น น้ำตาลมะพร้าว วัฒนธรรมท้องถิ่นก็อาจจะหายไป ถ้าเราไม่สืบทอด มันอาจเป็นแค่ตำนาน เมื่อเราอายุ 50 หรือ 60 ปี ลูกหลานมาถามจะตอบว่าอย่างไร และไม่ทราบว่าน้ำตาลมะพร้าวเป็นเช่นใด เพราะมันเหลือแค่เพียงชื่อ สิ่งที่ตามคือความรู้สึกผิดที่ไม่สามารถปกป้องภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีค่าเอาไว้ได้
ถึงแม้จะเป็นเพียงเริ่มต้นในปีแรก แต่ “ACTIVE CITIZEN ภาคตะวันตก” ก็แสดงพลังให้ผู้ใหญ่ได้อุ่นใจว่าจะมีเด็กรุ่นนี้มาช่วยสานต่อศิลปวัฒนธรรมจากรุ่นพวกเขาอย่างแน่นอน สำหรับเยาวชนที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการในปีต่อๆ ไป สามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.maeklongvijai.org และที่เว็บไซต์มูลนิธิสยามกัมมาจล www.scbfoundation.com
ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์