เปิดพื้นที่ชุมชนต้นแบบเพื่อการเรียนรู้
เมื่อการเรียนรู้ในห้องเรียนไม่สามารถตอบโจทย์การเรียนรู้ในชีวิตจริงได้เสมอไป Professional Learning Community (PLC) หรือ ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาผู้เรียน จึงเป็นอีกเครื่องมือที่ถูกคิดค้นมาใช้ขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ “ผู้สอน” เกิดการปรับกระบวนทัศน์ในการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่สอดรับกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่ครูปรับบทบาทเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้แทนที่จะเป็นผู้สอน ขณะที่นักเรียนก็เปลี่ยนจากผู้เรียน เป็นนักตั้งคำถาม นักค้นคว้าวิเคราะห์
และเพื่อให้เกิดพื้นที่ต้นแบบแห่งการเรียนรู้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบกลไก และแนวทางการหนุนเสริมชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาผู้เรียน (PLC) ขึ้น โดยมี 5 จังหวัดแนวหน้าที่เสนอตัวเข้าร่วม ได้แก่ น่าน เชียงใหม่ อำนาจเจริญ นครราชสีมา และสุราษฎร์ธานีเพื่อนำกระบวนการ PLC ถ่ายทอดสู่โรงเรียนที่สนใจ และมีความพร้อมเพื่อเป็นต้นแบบให้โรงเรียนในพื้นที่อื่นๆ
ปัจจุบันมีโรงเรียนในจังหวัดนำร่องที่ใช้กระบวนการ PLC อย่างเต็มรูปแบบ อาทิ ร.ร.หัวดงหนองคลอง จ.อำนาจเจริญ, ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเจดีแม่ครัว จ.เชียงใหม่, ร.ร.ป่ากลางมิตรภาพที่ 166 จ.น่าน, ร.ร.บ้านหนองมะค่า (ทองศรีสงเคราะห์) จ.นครราชสีมา และ ร.ร.องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี 2 (บ้านดอนเกลี้ยง) จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งโรงเรียนทั้ง 5 แห่ง ถือเป็นหน่ออ่อน PLC ที่กำลังเรียนรู้และเติบโตไปสู่ชุมชน PLC ที่มีประสิทธิภาพ
โรงเรียนบ้านหนองมะค่า (ทองศรีสงเคราะห์) หน่ออ่อน PLC ของจังหวัดนครราชสีมา ได้สร้างและเริ่มขับเคลื่อนชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพฯ ของตนเองอย่างเป็นระบบ โดยการรวมพลังของกลุ่มผู้บริหาร กลุ่มครูผู้สอน กลุ่มนักการศึกษา และบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกคนในโรงเรียน เริ่มต้นด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการ PLC ให้บุคลากรทุกคนเข้าใจถึงความหมายและวิธีการ โดยมีการกำหนดเป้าหมายสูงสุดร่วมกันคือการแก้ปัญหาด้านการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพด้านการศึกษาของลูกศิษย์ให้สูงขึ้น
นายทรงพล ฐานวิสัย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองมะค่า (ทองศรีสงเคราะห์) กล่าวว่า หลังจากที่ทำความเข้าใจเรื่องกระบวนการ PLC ให้ทุกคนเข้าใจเรียบร้อยแล้ว ครูทุกคนจะช่วยกันวิเคราะห์ถึงปัญหาด้านการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดและครอบคลุมทุกรอบด้าน เพื่อร่วมกันกำหนดวิธีแก้ปัญหา
“เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ คณะครูจะร่วมกันสร้างชุมชนการเรียนรู้ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาที่พบ ประกอบด้วย ชุมชนวัยใสใฝ่คุณธรรม ทำหน้าที่ปลูกฝังให้เด็กปฐมวัยให้มีความรับผิดชอบ ชุมชนสอนซ้ำย้ำทวน แก้ปัญหาอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ของนักเรียนชั้นป.1-ป.3 ให้หมดไป ชุมชนO-NET หัวแหลม และ ชุมชน PISA พาเพลิน ทำหน้าที่เพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นป.6 และ ม.3 ให้สูงขึ้น โดยครูทุกคนต้องร่วมกันวางแผนบทเรียนและการจัดกิจกรรมการสอนเพื่อแก้ปัญหาในชุมชนของตนเอง เมื่อปฏิบัติตามขั้นตอนแล้วต้องร่วมกันสะท้อนผลที่เกิดจากกระบวนการเพื่อวัดผลการจัดกิจกรรมการสอน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเพื่อนำไปสู่การแก้ไขและปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้น”
ทางด้าน โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี 2 (บ้านดอนเกลี้ยง) หน่ออ่อน PLC ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่เคยประสบปัญหาขาดแคลนเด็กนักเรียนจนเกือบถูกปิด เนื่องจากเหลือนักเรียนเพียงร้อยกว่าคนเท่านั้น เพราะตั้งอยู่บริเวณรอบนอกของอำเภอเมือง จึงได้ทำการโอนย้ายเข้าไปอยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้วยระยะเวลาเพียง 6 ปี มีเด็กนักเรียนกลับมาเรียนเพิ่มมากขึ้นเป็น 600 กว่าคน ทำให้พบปัญหาขาดแคลนครูผู้สอนที่มีประสบการณ์ เพราะส่วนใหญ่เป็นครูจบใหม่
นางสาวกัลยกร บุญนำ รองผู้อำนวยการโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี 2 (บ้านดอนเกลี้ยง) กล่าวว่า ถือเป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส เพราะครูจบใหม่ส่วนใหญ่มีความตั้งใจและไฟแรง พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ หากนำกระบวนการ PLC มาใช้ จะเกิดการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีครูระดับอาวุโสที่มากประสบการณ์ช่วยเป็นพี่เลี้ยง
“หลังจากที่คณะผู้บริหารมีความเห็นตรงกันว่าต้องนำกระบวนการ PLC มาใช้ในโรงเรียน ก็ได้จัดประชุมบุคลากรทุกคนในโรงเรียนเพื่อทำความเข้าใจและกำหนดเป้าหมายร่วมกัน โดยครูผู้สอนได้ร่วมกันแบ่งชุมชนย่อย PLC ออกเป็น 3 วง โดย วงที่ 1 แก้ปัญหาระเบียบวินัยในกลุ่มเด็กปฐมวัย วงที่ 2 แก้ปัญหาการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี และ วงที่ 3 แก้ปัญหาการเรียนรู้ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ซึ่งปัญหาทั้งหมดที่ต้องแก้ไขในแต่ละวง ครูทุกคนในชุมชนต่างยอมรับถึงต้นเหตุของปัญหา และร่วมกันปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา ทุกคนเห็นตรงกันว่า PLC ช่วยพัฒนาทั้งผู้เรียนและผู้สอนไปพร้อมๆกัน โดยในวงครูผู้สอนได้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้เรียนก็สนุกและมีความสุขกับการเรียนรู้มากขึ้น เกิดความเข้าใจบทเรียนมากขึ้น และสุดท้ายเกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน”
ทั้งนี้ หัวใจสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้กระบวนการ PLC ประสบความสำเร็จได้ คือ ผู้บริหารสถานศึกษาต้องหนุนเสริมโดยการเป็นที่ปรึกษาให้บุคลากรครู มีกำลังใจและแรงผลักดันในการทำงานร่วมกัน รวมถึงสามารถชี้นำทิศทางขับเคลื่อนกระบวนการได้ เพื่อให้กระบวนการ PLC มีความต่อเนื่องและยั่งยืน.
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)
ภาพประกอบจากเว็บไซต์สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)