เปิดประชุมวิชาการสุราฯครั้งที่ 9 ย้ำสธ. หนุนมาตรการคุมเหล้าทุกมิติ

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข


เปิดประชุมวิชาการสุราฯครั้งที่ 9 ย้ำสธ. หนุนมาตรการคุมเหล้าทุกมิติ thaihealth


รมว.สธ. เปิดประชุมวิชาการสุราฯ ครั้งที่ 9 ย้ำสธ. หนุนมาตรการคุมเหล้า เบียร์ทุกมิติ พบจุดจำหน่ายเหล้า เบียร์ ทะลักสูงสุด 114 ร้าน/ตร.กม.


รมว.สธ. เปิดประชุมวิชาการสุราฯ ครั้งที่ 9 ชูปกป้องสิทธิเด็ก เยาวชน พ้นภัยสุรา เบียร์ ย้ำ สธ.หัวหอกหนุนมาตรการคุมเหล้า เบียร์ทุกมิติ จำกัดการเข้าถึง ทั้งโฆษณา การตลาด พร้อมบำบัดผู้ได้รับผลกระทบจากการดื่ม เผยผลวิจัย เกาะรั้วประเมินมาตรการ คุมร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัยทั่วกรุงเทพฯ พบจุดจำหน่ายเหล้า เบียร์ ทะลักสูงสุด 114 ร้าน/ตร.กม. เหตุมหาวิทยาลัยไม่เข้ม มาตรการรัฐไม่ชัดแต่ตำรวจ 80% พร้อมจัดการให้สิ้นซาก ขณะที่มหาวิทยาลัยเข้มงวดทำยอดขายลด ร้านเหล้าหดเหลือแค่ 3 ร้านต่อตารางกิโลเมตร แนะรัฐบาลทำมาตรการให้ชัด


เปิดประชุมวิชาการสุราฯครั้งที่ 9 ย้ำสธ. หนุนมาตรการคุมเหล้าทุกมิติ thaihealth


เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ โรงแรมรามาการ์เด้นท์ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในพิธีเปิดการประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 9 หัวข้อ “สานพลังพิทักษ์สิทธิเด็กและเยาวชน ให้พ้นภัยจากสุรา” จัดโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ว่า สถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะผลกระทบที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและกลายเป็นกลุ่มที่ต้องตกเป็นเหยื่อของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่าย จึงจำเป็นต้องมีการปกป้องและพิทักษ์สิทธิของเด็กและเยาวชนให้อยู่ในสังคมที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ ปลอดสิ่งเสพติด ซึ่งพบว่า บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่สิ่งเสพติดอื่นๆ ได้อีกด้วย


“การสร้างสังคมให้ปลอดภัย ถือเป็นบทบาทของภาคส่วนที่มีหน้าที่กำหนดนโยบาย  โดยในการประชุมวิชาการสุราระดับชาติ เป็นโอกาสที่ทุกหน่วยงานจะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานเพื่อสร้างนโยบาย และวิธีป้องกันปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในบทบาทที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญและพร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายการจำกัด การเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางกายภาพและเศรษฐศาสตร์ และการโฆษณาและการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มข้นตามมาตรฐานสากล การปกป้องผลกระทบจากข้อตกลงทางการค้าเสรีระหว่างประเทศ รวมทั้งการป้องกันปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรที่สัมพันธ์กับการดื่มสุรา และการดูแลและบำบัดรักษาผู้มีปัญหาจากการดื่มสุรา” ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าว


เปิดประชุมวิชาการสุราฯครั้งที่ 9 ย้ำสธ. หนุนมาตรการคุมเหล้าทุกมิติ thaihealth


ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง เกาะรั้วประเมินมาตรการ คุมร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัย โดยสำรวจพิกัดจุดจำหน่ายร้านเหล้าด้วยระบบ GIS และความคิดเห็นของนักศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปรอบรั้ว 15 มหาวิทยาลัยทั่วกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียงระหว่าง  1 ก.ย. – 23 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา พบว่า พื้นที่ในรัศมี  300 เมตร รอบมหาวิทยาลัยทั้ง 15 แห่ง  มีจุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น้อยที่สุดคือ 3.4 ร้าน/ตร.กม. และมากที่สุดคือ 114.3 ร้าน/ตร.กม.


 ดร.นพดล กล่าวต่อว่า พื้นที่ที่มหาวิทยาลัยที่มีการบังคับใช้มาตรการคุมร้านเหล้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้มงวดต่อเนื่อง ส่งผลให้มีจุดจำหน่ายเหล้า เบียร์ น้อยลง ยอดขายลดลง การก่อความเดือดร้อนรำคาญลดลง และการทะเลาะวิวาทลดลง และร้านค้าเหล่านี้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและกฎหมาย มากกว่าพื้นที่มหาวิทยาลัยที่ไม่มีการบังคับใช้ที่เข้มข้น ซึ่งผลเหล่านี้ยืนยันได้จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ผู้ประกอบการร้านเหล้าทั้งในพื้นที่หนาแน่นมากและเบาบาง รวมทั้งประชาชนและนิสิตนักศึกษาในทั้งสองพื้นที่


 “ผลการศึกษาสะท้อนว่า คณาจารย์ เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย และเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ เห็นด้วยกับมาตรการคุมร้านเหล้าฯ รอบรั้วมหาวิทยาลัย และเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดต่อเนื่องจะทำให้มีจุดจำหน่ายร้านเหล้าฯ ลดลง ปัญหาทะเลาะวิวาทลดลง ความเดือดร้อนรำคาญลดลง เป็นผลดีต่อการปกป้องรักษาคุณภาพนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ดังนั้นหากมาตรการมีความชัดเจน ย่อมเกิดผลดีมากยิ่งขึ้นต่อการลดปัญหาการดื่มของเยาวชน และถือเป็นการจัดสภาพแวดล้อมเชิงสุขภาวะที่ดีให้กับนักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาของประเทศไทยตามกรอบกฎบัตร ออตตาวา (Ottawa Charter) ต่อไป” ดร.นพดล กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code