เปิดช่องทางพิเศษ ช่วย ‘คนไข้หัวใจ’
สถาบันโรคทรวงอกเผยระบบ fast track mi ช่วยลดอัตราตายผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันลงเหลือ 3% ฟุ้งน้อยกว่าต่างประเทศ แนะต้องทำเป็นเครือข่ายและมีระบบส่งต่อรวดเร็วช่วยยื้อชีวิตผู้ป่วยได้
พญ.สุวรรณี ตั้งวีระพรพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอกกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงระบบการให้บริการช่องทางด่วนผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (fast track mi) ว่า จากการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 พบว่าระบบ fast track mi สามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลงได้จากร้อยละ 6 เหลือเพียงร้อยละ 3
เมื่อเทียบกับในต่างประเทศ พบว่า อัตราการตายอยู่ที่ร้อยละ 4 ทั้งนี้ สถาบันโรคทรวงอกได้สร้างเครือข่ายเพื่อรับส่งต่อผู้ป่วยปัจจุบันมีการส่งต่อถึงร้อยละ 90 โดยมีการอบรมโรงพยาบาลเครือข่าย โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี และ จ.พระนครศรีอยุธยา ในเรื่องการวินิจฉัย การรักษา การเคลื่อนย้าย การส่งต่อ เพื่อให้การช่วยเหลือเบื้องต้นดียิ่งขึ้น เพราะโรคนี้ยิ่งรักษาได้เร็วจะยิ่งลดอัตราการเสียชีวิตได้
“หากผู้ป่วยมีอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรงพยาบาลในเครือข่ายจะต้องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (อีเคจี) ภายใน 10 นาที หากสวนหัวใจเองไม่ได้ จะต้องให้ยาละลายลิ่มเลือด แล้วส่งผลตรวจอีเคจีไปยังสถาบันโรคทรวงอก ซึ่งจะมีแพทย์และพยาบาลทำงานตลอด 24 ชั่วโมง รวมเวลาที่ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาไม่เกิน 90 นาที ซึ่งจะลด ขั้นตอนต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเร่งด่วน” พญ.สุวรรณี กล่าว
ปัจจุบันพบว่า การรักษาโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2555 มี ผู้ป่วยเข้ารับการรักษากว่า 200 คน จากปี 2554 ที่มีประมาณ 100 คน ซึ่งเกิดจากประชาชนมีโรคความดัน เบาหวาน โรคอ้วน สูบบุหรี่มากขึ้น ทั้งนี้ เดิมอัตราการเสียชีวิตจากโรคระบบหลอดเลือดสมองหัวใจ คิดเป็นร้อยละ 17 แต่ปัจจุบันสามารถลดลงด้วยวิธีต่างๆ ทั้งป้องกัน รักษาอย่างรวดเร็ว ทำให้มีอัตราเหลือประมาณร้อยละ 9.8 เท่านั้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน