เปิดชั้นเรียน `วิชา` ความเป็นมนุษย์
ที่มา : บ้านเมืองออนไลน์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ศูนย์จิตตปัญญา ม.มหิดล ร่วมกับ สสส. เปิดชั้นเรียนวิชาความเป็นมนุษย์โครงการหยั่งรากจิตตปัญญา สู่สังคมแห่งความสุข ปีที่ 3
โดย ศูนย์จิตตปัญญา มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม ‘ตื่นรู้101’ หวังเปิดโอกาสให้คนในสังคม ได้เรียนรู้รูปธรรมของการนำจิตตปัญญาไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งในระดับตัวตน องค์กร และแวดวงการศึกษา ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา
รศ.นพ.ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงการจัดกิจกรรมครั้งนี้ว่า “ปัจจุบันบริบทในสังคมมีสิ่งเร้าทำให้คนไหลไปตามอารมณ์ได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดีย เปรียบเหมือนการหลับใหลไม่รู้ตัว การตื่นรู้จึงนับเป็นเรื่องจำเป็นของคนในยุคปัจจุบัน การตื่นรู้ทำให้เรารู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ถ้าเรารู้ตัวเราจึงจะปรับชีวิตของเราให้ดีขึ้นได้ คำว่า‘ตื่นรู้101’ตั้งชื่อเป็นเชิงสัญลักษณ์ คล้ายวิชาเรียนพื้นฐานในระดับปริญญาตรี เป็นการแนะนำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้ว่า คำว่าตื่นรู้นั้นหมายถึงอะไร แล้วนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร เพราะหลายคนยังเข้าใจว่าตื่นรู้ต้องไปโยงกับการปฏิบัติธรรมเท่านั้น ต้องเดินช้า ๆ กินช้า ๆ แต่ในความจริงแล้วมันทำได้ง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน ถ้าเราได้ฝึกฝนการตื่นรู้ เมื่อเผชิญหน้ากับปัญหาในชีวิต เราจะสามารถวางใจของเราได้อย่างเป็นกลาง ไม่จมไปกับอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ เป็นการใช้ชีวิตอย่างมีสติแบบที่เรามักจะพูดถึงกัน
”กิจกรรมครั้งนี้ประกอบด้วย เวทีเสวนา “สุข…สัญจร ความสุขสร้างได้ด้วยตัวเอง” และการเปิดห้องเรียนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 120 คน จากทั้งองค์กรการศึกษา องค์กรเอกชน นักเรียนนักศึกษา ฯลฯ ได้เข้าร่วมเรียนรู้ผ่านพื้นที่กิจกรรม 3 ห้อง ได้แก่ ห้องเรียนที่ 1 ห้องเรียนผ่านการเรียนรู้ระดับตัวตน ห้องเรียนที่ 2 ชั้นเรียนเพื่อการเปลี่ยนแปลง และ ห้องเรียนที่ 3 เส้นทางสู่องค์กรแห่งความสุขดำเนินกิจกรรมโดยเครือข่ายที่ร่วมทำงานในโครงการจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ อาทิ ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาบัณฑิต คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะศิลปกรรมศาสตร์ และ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
นพ.ดร.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า "ท่ามกลางสภาพสังคมในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คน จึงมีความจำเป็นที่บุคคลจะพัฒนาทักษะชีวิตที่จะช่วยให้ก้าวผ่านปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ สสส.เห็นถึงความสำคัญต่อการพัฒนาขีดความสามารถของคนในสังคมให้เอื้อต่อการเกิดสุขภาวะ การเข้าถึงประสบการณ์ตรงด้านสุขภาวะทางปัญญา ด้วยการฝึกฝนให้เกิดการรู้เท่าทันความรู้สึกหรืออารมณ์ในชีวิตประจำวัน จะเป็นการพัฒนาคนให้เกิดปัญญาในการเท่าทันชีวิต และยังมีส่วนช่วยแก้ปัญหาในหลายด้าน เช่น การหลงไปกับกระแสบริโภคนิยม ปัญหาความรุนแรงทางอารมณ์ โครงการนี้จึงเป็นประตูหนึ่งที่เปิดให้คนได้เข้าถึงการฝึกฝนตนผ่านกระบวนการที่ใช้ได้จริงในชีวิต"
ดร.ผกามาศ จิรจารุภัทร รองคณบดีฝ่ายบริหารและแผนงาน คณะศิลปกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้กล่าวถึงความรู้สึกและประสบการณ์จากการได้เรียนรู้จิตตปัญญาแล้วนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันว่า “แต่เดิมเป็นคนที่ค่อนข้างเป๊ะ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามแบบแผน แต่พอได้มาเรียนรู้จิตตปัญญา ทำให้เราได้กลับมาเรียนรู้เข้าใจตัวเอง มีสติในการพูดคุยปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นมากขึ้น ยอมรับและเข้าใจคนอื่นมากขึ้น สามารถปล่อยวาง ยืดหยุ่น ให้อภัยกับตัวเองและคนอื่นได้มากยิ่งขึ้น”
ด้าน ดร.คณิต ภู่ไข่ ภาควิชาสรีรวิทยา ม.มหิดล กล่าวว่า “ที่คณะได้มีการนำกิจกรรมด้านจิตตปัญญาไปใช้ทั้งในระดับนักศึกษาและอาจารย์ ทำให้การทำงานระดับอาจารย์ที่ต่างGenerationกัน เป็นไปด้วยความเข้าใจกันมากขึ้น อาจารย์กับนักศึกษาก็ปรับตัวเรียนรู้อยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุขมากขึ้น ในอนาคตคาดหวังว่า อยากนำจิตตปัญญาไปใช้ในวงวิจัย คือการเพิ่มมิติในด้านการพัฒนาจิตใจและความเป็นมนุษย์ลงไปในงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย”
สำหรับผู้ที่พลาดโอกาสไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ รศ.นพ.ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ฝากคำแนะนำว่า ทุกคนสามารถฝึกการตื่นรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยอาจเริ่มต้นที่ปีใหม่เป็นจุดเริ่มต้น “เริ่มต้นง่าย ๆ ที่ปีใหม่ เราลองตั้งเป้าที่จะงดเว้นไม่ทำอะไรที่เรารู้ว่าไม่ดีตามใจของเราสักอย่างหนึ่ง เช่น เลิกเป็นคนขี้บ่น เลิกเป็นคนขี้น้อยใจ ฯลฯ เมื่อไรก็ตามที่เรากำลังจะทำสิ่งนั้น ขอให้เรานึกขึ้นมาได้ แล้วหยุดพฤติกรรมนั้น ๆ นั่นก็คือตื่นแล้ว หรือให้ง่ายกว่านั้น ทุกเช้าเมื่อแปรงฟัน ขอให้เรากลับมารู้ตัวว่ากำลังแปรงฟัน เผลอใจลอยไปเมื่อไร ให้นึกได้แล้วกลับมาอยู่กับตัวเอง ถ้าฝึกฝนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เราก็จะเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ไหลไปตามอารมณ์ต่าง ๆ ได้ดีมากขึ้น”