เปิดคู่มือจิตวิทยา “เลี้ยงลูก ยุค 4.0”

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ


ภาพโดย สสส.


เปิดคู่มือจิตวิทยา


เพราะเข้าใจว่าเลี้ยงลูกยุคนี้ไม่ง่ายสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักพิมพ์ bookscape และ dtac จึงชวนพ่อแม่ทั้งหลายมาล้อมวงสนทนา พูดคุยแลกเปลี่ยนหาทางแก้ปัญหา เปิดโลกจิตวิทยาเด็ก กับ 3 ผู้เชี่ยวชาญจาก 3 เพจดัง มาช่วยเติมความรู้ ความเข้าใจ สร้างสายสัมพันธ์พ่อแม่ลูกให้กระชับขึ้น และมาร่วมไขปัญหาทุกคำตอบเกี่ยวกับจิตวิทยาเด็กและการเลี้ยงดูสำหรับพ่อแม่ยุคใหม่ ผ่านโครงการขับเคลื่อนความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและครอบครัว และการพัฒนาศักยภาพเยาวชน


สู้ หนี หรือยอม


เริ่มกันที่ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร (หมอโอ๋) กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน เอ่ยถึงประเด็นช่องว่างระหว่างพ่อแม่กับลูกว่า ปัญหาเกิดจากความคาดหวังที่เยอะเกินไปของพ่อแม่ และการขาดความเข้าใจพัฒนาการ ตามธรรมชาติของเด็กและวัยรุ่น


"เรามักคาดหวังให้เขาทำตาม ให้เชื่อฟังเรา อยากให้เขาเป็นคนดี รู้จักแบ่งปัน เรียกว่า เราคาดหวังสิ่งที่เป็นผู้ใหญ่ในตัวเด็ก" หมอโอ๋กล่าว


"พอลูกไม่เป็นอย่างที่หวัง ก็ทำให้พ่อแม่รู้สึกว่าลูกฉันมีปัญหาแต่ความจริงแล้วเด็กต้องเรียนรู้ผ่านการเป็นตัวเองด้วยตัวเขา ทั้งความเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ เพื่อเรียนรู้ความมีตัวตน ก่อนที่เขาจะรู้จักเผื่อแผ่ไปสู่สังคมภายนอกหรือคนอื่น"


ที่สำคัญ หมอโอ๋เปรยว่า พ่อแม่ยุคนี้คาดหวังสูง แต่ลงทุนน้อย วัยตั้งต้นของชีวิตคือช่วงที่สำคัญที่สุดของลูก ดังนั้นพ่อแม่ต้องทำให้ตัวเองมีตัวตนและมีความหมายกับลูกในช่วงเวลานี้ให้ได้


แต่ปัญหาที่พบคือ แพทเทิร์นการเลี้ยงดูบ้านเราส่วนใหญ่ลูกในวัยเล็ก ๆ ปล่อยให้คนอื่นเลี้ยง ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่พ่อแม่จำต้องทำมาหากิน เมื่อลูกโตรู้เรื่องพอจึงเอามาเลี้ยงเอง หาไม่รู้ว่าช่วงเวลาที่หายไปตรงนั้นทำให้เด็กได้ขาด "Trust" หรือความเชื่อมั่น ความรู้สึกว่าตัวเอง เป็นคนสำคัญของพ่อแม่


"ปัจจุบันสัตว์ร้ายของเด็กคือ พ่อแม่ กับครู เพราะโดนขู่ตลอดเวลา โดนว่า ตำหนิ ให้เขารู้สึกเครียด ไม่ปลอดภัย เมื่อคนเราไม่รู้สึกปลอดภัยก็ต้องหนี ไม่ก็สู้หรือต่อต้าน เลยกลายเป็นลูกดื้อ ส่วนลูกประเภทที่ยอมทำตามแม่ อนาคตอาจจะเป็นเด็กที่นับถือตัวเองต่ำ กลายเป็นปัญหาของเด็กในวัยรุ่นสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่มีปัญหาท้องในวัยเรียน"


เปิดคู่มือจิตวิทยา


พ่อแม่ต้องมีอยู่จริง


"หากถามหมอ การลงทุนสร้างเด็กตั้งแต่วัยเล็กง่ายกว่าการซ่อม พอเด็กมีปัญหาแล้ว ก็พามาหาหมอ แต่มันยากกว่า เพราะสมองคนเรากว่าจะปรับตัวได้ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร"


เสริมด้วยความมุมมองของนักจิตวิทยาด้านเด็กและครอบครัว เมริษา ยอดมณฑป เจ้าของเพจ ตามใจนักจิตวิทยา ที่เห็นด้วยในเรื่องนี้ว่า การทำให้ลูกสัมผัสได้ว่าพ่อแม่มีอยู่จริงจะเป็นการปูรากฐานสำคัญที่ทำให้เขาจะพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับทุกเรื่องในชีวิต ไม่ว่าจะหนักหนาแค่ไหน


"ถ้าเราไม่ได้อยู่ตรงนั้นเพื่อลูก เขาจะรู้ได้อย่างไรว่ามีคนที่เขาเชื่อใจได้ มีอยู่จริงบนโลก เพราะขณะเขาร้องยังไม่มีใครมาอุ้ม หรืออย่างพ่อแม่ที่อยู่กับลูก แต่ตาจ้องแต่มือถือก็ไม่เรียกว่าอยู่กับลูก เพราะลูกต้องการพ่อแม่ทั้งตัวและใจ ดังนั้นปัญหาเกิดจากพ่อแม่ไม่มีอยู่จริงและไม่มีเวลาให้ลูก"


เปิดคู่มือจิตวิทยา


อีกความเห็นจาก ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ หรือ หมอวิน กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก โรงพยาบาลเวชธานี และเจ้าของเพจ เลี้ยงลูกตามใจหมอ ที่เปิดประเด็นชวนคิดว่า ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวที่เจอบ่อย คือเรื่องการกิน สอง ลูกไม่เชื่อฟังคำสั่ง สาม ลูกขี้บ่น และสี่ ลูกมีการใช้ถ้อยคำรุนแรงกับคนอื่น


"พ่อแม่ส่วนใหญ่เลี้ยงลูก โดยไม่เข้าใจพัฒนาการตามวัยของเขา เช่น ถึงวัยเขาใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กได้แล้ว ไม่สอนให้เขาหยิบจับเอง กินอาหาร แต่ต้องป้อน บังคับให้เขากิน บ่น แทนที่โต๊ะอาหารจะเป็นโต๊ะแห่งความสุข กลายเป็นโต๊ะแห่งความทุกข์ ทำให้เด็กฝังใจว่าการกินเป็นช่วงเวลาแห่งความทรมาน ซึ่งวิธีง่าย ๆ ที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ดีที่สุด คือพ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างทำให้ลูกดู"


"ปัญหาวัยรุ่นส่วนใหญ่เกิดจากบ้านไม่น่าอยู่ เปิดมาเจอแม่นักพากย์ นักตัดสิน พยายามแทรกแซงลูกตลอดเวลา แค่ฟังเยอะ ๆ ไม่ต้องตัดสินเขา พยายามเคารพ หัวหน้าแกงค์ของเขา และสิ่งที่เขาชื่นชอบเสมอ"


"สิ่งที่พ่อแม่ขาด คือการลงมือทำ" คุณเมย์ ช่วยเอ่ยเสริม "พ่อแม่ยุคนี้มีความรู้มากมาย แต่มักหาข้อมูลที่สนับสนุนความเชื่อตัวเอง แต่ไม่เคยลงมือปฏิบัติ และที่สำคัญอาจไม่เหมาะสมกับลูก"


ซึ่งจากประสบการณ์เป็นนักจิตวิทยาเด็ก เธอยังอธิบายถึงพัฒนาการและความต้องการของเด็กแต่ละช่วงวัยให้ฟังอย่างเห็นภาพว่า สำหรับเด็กวัย 3 ปี เด็กมีความต้องการทดสอบความสามารถของร่างกาย ทุกอย่างเป็นของเล่นของเขาหมด เขาไม่สามารถแยกแยะ พ่อแม่ต้องพูดว่า หยุด ห้าม ให้น้อยที่สุด


"รู้หรือไม่คะ เด็กวัย 2 ปี มีสมาธิแค่ 5-7 นาที แต่เราบังคับให้เขาเข้าห้องเรียนเป็นชั่วโมง บังคับให้เด็กอ่านออกเขียนได้ คัดลายมือสวยงาม และวัดผลตัดสินเขาด้วยมาตรวัดมาตรเดียว ด้วย "เกรด" มันไม่ยุติธรรม"


ส่วนเด็กวัย 2-7 ปี ภูมิใจจากการแสดงความสามารถว่าตัวเองทำอะไรได้หรือช่วยเหลือตัวเองได้มากกว่าเพื่อน แต่ยุคนี้เด็กถูกครูหรือพ่อแม่สั่งให้เด็กทำหรือช่วยทำให้เด็ก ความจริงสิ่งที่ควรทำคือสอน จับให้เขาลงมือทำ สอนให้เด็ก ช่วยเหลือตัวเองให้ได้


ด้าน หมอวิน เอ่ยว่า "ลูกเราทุกวันนี้ ถือเป็น Global Citizen หากได้รับการพัฒนาการดีก็จะเป็นพลเมืองที่ดีของโลก แต่หากไม่ดี ก็จะกลายเป็นปัญหาสังคมที่เห็นทุกวันนี้ เช่น ขี้เกียจ ไม่มีสมาธิ อดทนรอคอยไม่ได้ แก้ปัญหาผิดวิธี"


โดยสาเหตุที่มาของปัญหาเลี้ยงลูกในยุคปัจจุบันนั้นเกิดจาก หนึ่ง วิธีการเลี้ยง ไม่ถูกต้อง เนื่องจากเด็กเจนเนอรชัน Z และ Alpha มักถูกเลี้ยงด้วยพ่อแม่เจเนอเรชัน Y ซึ่งโตมากับเทคโนโลยี ซึ่งพ่อแม่กลุ่มนี้ มักอดทนรอคอยไม่ได้ และใช้เงินแก้ปัญหา หาเครื่องมืออำนวยความสะดวกแทนที่จะลงมือทำด้วยตัวเอง สอง เทคโนโลยี และโลกไร้สายยุคนี้ ดึงสมาธิของเด็กจากสิ่งที่ควรจะได้เล่นตามวัย ไปนั่งมองหน้าจอ ซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว สาม สิ่งแวดล้อม รอบตัวเด็กเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคม สี่ การพัฒนาสมองส่วนหน้า ที่เป็นส่วนควบคุมความคิดความรู้สึก และ EF (Executive Functions)


เปิดคู่มือจิตวิทยา


การเรียนรู้ ที่ไม่ใช่แค่ความรู้


เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ที่หลังพ้นช่วงปฐมวัยของชีวิต เด็กจำเป็นต้องเข้า สถานศึกษา ซึ่งได้กลายเป็นอีกปัญหา  เมื่อสถานศึกษาเองก็ไม่เข้าใจบริบทการเรียนรู้และพัฒนาการตัวตนของเด็ก ซ้ำยังเร่งให้เด็กต้องเรียนและแข่งขัน


หมอโอ๋ เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน อธิบายต่อว่า เป้าหมายในเรื่องการศึกษา ควรทำให้เด็กคนหนึ่งค้นพบตัวเองว่า มีทักษะอะไร และทำให้เกิดการงานอาชีพ ที่ดี มีประโยชน์ต่อสังคม พ่อแม่จึงต้องช่วยลูกค้นพบตัวเอง


"ที่สำคัญการเลี้ยงลูกอย่ามุ่งผลลัพธ์ ให้มุ่งกระบวนการ เด็กวัยเล็กพัฒนาการที่สำคัญต้องผ่านการเล่น และประสาทสัมผัสทั้ง 5 สิ่งเหล่านี้สร้างวงจรใยประสาท สร้าง EF ในสมองส่วนหน้า"


ซึ่ง EF จะเป็นกระบวนการทางความคิด (Mental process) ที่ประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก คือ Working Memory การจดจำและเรียกใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่าง ๆ สำหรับการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน Self-Control การควบคุมอารมณ์ต่าง ๆ การยั้งใจคิดไตร่ตรอง โดยเฉพาะอารมณ์ และ Menthol Flexibility หรือการมีความยืดหยุ่นทางความคิด การตั้งเป้าหมาย วางแผน ความมุ่งมั่น


"สำหรับหมอมองว่า หน้าที่สำคัญของพ่อแม่ คือควรเลี้ยงดูลูกเอง มีเวลาให้ และเป็นต้นแบบที่ดี นี่คือสามอย่างที่พ่อแม่ที่ทำได้ สิ่งที่พ่อแม่ควรให้คือ ให้ความรัก ให้เงื่อนไข ให้ความรับผิดชอบแก่เขา และพร้อมจะซัพพอร์ท เคยมีคนถามหมอว่าเลือกโรงเรียนอนุบาลให้ลูกยังไง สำหรับหมอเลือกโรงเรียน ที่ไม่ใช้เวลาเดินทางมาก เพราะอยากให้เขามีเวลาเพื่อเล่นที่บ้าน และจะเลือกโรงเรียนที่เล่นเยอะๆ ซึ่งช่วยสร้าง EF เด็กได้ดีกว่า"


เปิดคู่มือจิตวิทยา


เป้าหมายขอพ่อแม่ ไม่ใช่เป้าหมาย 'และความสุข' ของลูก


"บางครั้งสิ่งที่เราทำเพื่อความคาดหวัง ใครสักคนมันเป็นทุกข์นะ" คุณเมย์  นักจิตวิทยาเด็กกล่าว


บ่อยครั้งสิ่งที่พ่อแม่มักเลือกให้ลูก วางแผนให้ลูก ผ่านคำว่า "ความหวังดี" ล้วนแต่เป็นการตัดสินใจของพ่อแม่ ทั้งสิ้น


"แล้วหากวันใดผิดหวังขึ้นมา ลูกจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร เมื่อเราไม่มีทางออกให้เขา เขาจะรู้สึกว่าเขาทำไปเพื่ออะไร ส่วนความต้องการเขาได้รับการได้ยินบ้างไหม"


คุณเมย์เล่าถึงสิ่งที่พ่อแม่หลายคนอาจคิดว่าสภาพแวดล้อมกับพันธุกรรม เป็นสิ่งที่สร้างคน ๆ หนึ่งมา แต่นอกจากนี้เธอบอกว่ายังมี "เสียง" ภายในจิตใจของเด็ก ซึ่งเป็นตัวตนที่ติดตัวเขามา


"เราควรรับฟังเขา ให้เขาเลือก  หากเขาพลาดเป็นสิ่งที่เขารับผิดชอบเอง


"สิ่งที่อยากขอร้องคุณพ่อคุณแม่ คือ หนึ่ง ฟังเสียงลูก สอง ถ้าเขาต้องผิดพลาดให้แก้ความผิดด้วยตัวเขาเอง อย่าเข้าไปช่วยเหลือทันที ให้เขาเรียนรู้ อย่างพ่อแม่ที่เวลาลูกเดินชนโต๊ะ อย่าไปโทษโต๊ะ หรือโทษคนอื่น แต่เขาควรรับผิดชอบผลของตัวเอง และ สาม สร้างภูมิคุ้มกันให้เขาบ้าง ด้วยการให้เขารู้จักอดทน รอคอย และพยายาม เพื่อตัวเขาเอง ความผิดหวังเป็นภูมิคุ้มกันให้เขาเติบโตเรียนรู้ และสุดท้ายควรปรับความคิดว่าลูกอยากเกิดมา เป็นตัวของเขาเองไม่ต้องการเป็นเงา ของใคร"


เปิดคู่มือจิตวิทยา


ทำอย่างไรไม่ให้ลูกซึมเศร้า


หมอโอ๋ แห่งเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน เล่าต่อว่า นอกจากเรื่องกรรมพันธุ์ ยังมีครอบครัวและการเลี้ยงดู จะเป็นเกราะป้องกันที่สำคัญช่วยไม่ให้เด็กเป็นโรคซึมเศร้าในวันนี้และวันหน้า


"ควรให้ความรักโดยไม่มีเงื่อนไข  อย่าทำให้เขารู้สึกว่าการจะเป็นที่รักของพ่อแม่คือเขาต้องน่ารักและเป็นคนดี  หรือทำท่าผิดหวังเวลาเขาสอบได้คะแนนไม่ดี แต่ควรทำให้เขารู้สึกว่าไม่ว่าเขาจะเป็นอะไรก็ตาม ฉันเป็นที่รักของพ่อแม่เสมอ จะทำให้เขาพัฒนาตัวตน


ขณะเดียวกัน อย่าเลี้ยงลูกด้วยความสุขตลอดเวลา เพราะจะทำให้เขาเปราะบางมาก หลัง ๆ เด็กซึมเศร้าไม่ใช่สาเหตุ จากครอบครัวอย่างเมื่อก่อนแล้ว แต่ยังมีจากเพื่อนและโลกไซเบอร์ การเห็นคนอื่นมีความสุข เปรียบเทียบ เพราะยุคนี้ ความเป็นเพื่อนทำผ่านโลกออนไลน์ หากเขาจิตใจเปราะบาง รักตัวเองไม่พอ ความซึมเศร้าเกิดได้ง่าย"


หมอโอ๋ บอกต่อว่า พ่อแม่ยุคนี้รับข่าวสารข้อมูลมากเกินไปจนกังวลสูง ทำให้เลี้ยงแบบปกป้องมากเกินไป  และละสายตาไม่ได้ แต่ฝึกเขาน้อย เพราะมองเห็นแต่สิ่งอันตรายรอบตัว ที่สำคัญเป็นเรื่องจริงที่พ่อแม่ยุคนี้ความอดทนต่ำลง ดังนั้นระหว่างที่เลี้ยงลูก ก็ต้องพัฒนาตัวเราเองด้วย ทั้งสติ ความรู้ และความเป็นคนที่ดีขึ้น


"พ่อแม่อยากทำอะไร ไม่ว่าจะอยากสอนลูก อยากสร้างภูมิต้านทาน อยากลงทุนเรื่องเวลาคุณภาพลูก ทำให้เขารู้ว่าพ่อแม่มีจริงต้องทำก่อนสิบขวบ เพราะหลังสิบขวบเขาไม่สนใจเราแล้ว เขาอยากอยู่กับเพื่อน เป็นพัฒนาการตามวัยที่เขาจะต้องแยกจากพ่อแม่" หมอโอ๋ กล่าวทิ้งท้าย

Shares:
QR Code :
QR Code