เปลี่ยน “ภาระ” เป็น “พลัง” เพื่อสูงวัยอย่างสตรอง
ที่มา : ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากไทยโพสต์
โครงสร้างประชากรไทยกำลังจะเปลี่ยนโฉมในระดับที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึก เพราะในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์" นั่นหมายความว่า คนสูงวัยจะครองสัดส่วนเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ขณะที่กลุ่มเจนวายเป็นต้นไป เรื่อยมาถึงเจนแซดและเจนอัลฟาจะต้องกลายเป็นพลเมืองกลุ่มน้อยในสังคมไทย อีกเพียง 12 ปี ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดในปี 2574
การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญที่กำลังจะมาถึงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงนี้ ส่งผลให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเร่งหาทางรับมือกับโครงสร้างทางสังคมที่หันเหทิศทางการขับเคลื่อนใหม่ ผลักดันสังคมไทยก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ผู้คนทุกวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หนึ่งในหน่วยงานผู้ขับเคลื่อนกระตุ้นเตือนสังคมคือ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ที่มุ่งทำงานเชิงรุก เพื่อจุดประกาย กระตุ้น สานและเสริมพลังบุคคลและองค์กรทุกภาคส่วนให้มีขีดความสามารถและสร้างสรรค์ระบบสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะของ สสส. สะท้อนถึงสถานการณ์ผู้สูงอายุที่เหล่าเจนวายต้องรับฟังอย่างเข้าใจ ว่า ภาวะซึมเศร้าและติดบ้านเป็นปัญหาใหญ่ของผู้สูงอายุในปัจจุบัน จากสถิติพบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุไทยมีความเปราะบางทางจิตใจ เนื่องมาจากหลากหลายปัจจัย ทั้งความเสื่อมถอยของร่างกายจนส่งกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ภาวะการพึ่งพาตัวเองลดลง จากเคยเป็นผู้นำครอบครัวกลับกลายเป็นเพียงสมาชิกในบ้านที่ต้องพึ่งลูกหลาน รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระจึงนำมาซึ่งความวิตกกังวลต่าง ๆ เริ่มมองว่าตัวเองด้อยค่า โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตเพียงลำพัง เนื่องจากไม่ได้แต่งงาน (ประมาณ 13.8%) และกลุ่มที่แต่งงานแต่ไม่มีบุตร (23.3%) เป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญหน้ากับความโดดเดี่ยว ขาดหลักหลักประกันในชีวิต โดยเฉพาะหากไม่มีการเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่วัยเกษียณที่ดีพอ อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายได้ในที่สุด
เพื่อเปลี่ยนความรู้สึกเป็น "ภาระ" ของกลุ่มผู้สูงอายุให้เป็น "พลัง" จึงกลายเป็นที่มาแห่งภารกิจของ สสส.ในปีนี้ที่เน้นส่งเสริมคุณภาพชีวิตกลุ่มผู้สูงอายุวัย 60-72 ปี ที่ยังแอคทีฟสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ให้แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ห่างไกลจากภาวะซึมเศร้าและติดบ้าน ด้วยการให้การสนับสนุนกลุ่ม Young Happy ธุรกิจเพื่อผู้สังคมที่มุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงวัย ก่อตั้งโดยสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ แต่เข้าใจหัวอกของผู้สูงอายุอย่างถึงแก่น ภายใต้กิจกรรมดี ๆ ชื่อ แอคทีฟ ซิกซ์ตี้ (Active 60)
"แม้ Young Happy จะก่อตั้งโดยคุณรุ่นใหม่ แต่กลับออกแบบแพลตฟอร์มและกิจกรรมที่เข้าใจหัวอกของผู้สูงอายุอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมให้ความรู้ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ค้นพบความสามารถที่ซ่อนอยู่ของตัวเอง ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ หรือกิจกรรมเวิร์กช็อปเก๋ ๆ ที่เป็นสะพานลดช่องว่างแห่งวัยในการใช้ชีวิตในสังคมยุคดิจิทัล ตั้งแต่เรียนรู้การใช้โซเชียลมีเดีย การถ่ายภาพ ตลอดจนกิจกรรมที่ช่วยสร้างคอมมูนิตี้ให้ผู้สูงอายุได้พบปะกับเพื่อนใหม่กับหลากหลายกิจกรรมที่ไม่จำเจ สอดคล้องกับวิถีความเป็นคนเมือง เช่น ชวนกันไปดูหนัง ลงคอร์สเรียนภาษาใหม่ รวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชัน การใช้ช่องทางออนไลน์เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ให้ข้อมูลข่าวสาร ทั้งหมดนี้นอกจากจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่า ไม่ใช่ภาระของลูกหลานแล้ว แต่ยังสามารถออกมาใช้ชีวิต มีสังคม พบปะเพื่อนใหม่ ๆ และยังมีไฟที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคมต่อไป"
อุษาวดี สินธุเสน อดีตบรรณาธิการบริหารคนแรกของ Secret วัย 60 ปี และยังเป็นคุณแม่ของขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร นักจิตวิทยาพัฒนาสมองและนักเขียนชื่อดัง เจ้าของหนังสือ Best Seller มากมาย ได้มาร่วมสะท้อนมุมมองแห่งวัย และสวมหัวใจความเป็นแม่มาเตือนสติมนุษย์ลูกได้อย่างถึงแก่น ว่า เกษียณตั้งแต่อายุ 55 ปี เพราะอยากใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีความสุขทำในสิ่งที่ชอบ ช่วงปีแรก ๆ ที่เกษียณออกมาก็ได้ทำสมใจ จนเมื่อปีที่แล้ว เริ่มรู้สึกว่าง เพราะสิ่งที่อยากทำก็ได้ทำหมดแล้ว เลยเริ่มหาคอร์สเรียนต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ เพราะเราไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองแก่ หรือไม่มีคุณค่าจนทำอะไรไม่ได้ เพียงแต่เราอาจจะไม่มีเวทีที่ให้ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเหมือนสมัยก่อน แต่เรายังเชื่อเสมอว่าคุณค่าเรายังมีอยู่เสมอ อยู่ที่ว่าใช้มันตรงไหน
"พอได้มารู้จักกับกลุ่ม Young Happy ก็รู้สึกประทับใจเพราะนอกจากจะนำเสนอคอนเทนต์ที่ตรงกับวัย ยังมีกิจกรรมที่ออกแบบมาอย่างเข้าใจผู้สูงอายุอย่างแท้จริง อย่างกิจกรรมไปดูหนัง เพื่อสร้างคอมมูนิตี้ใหม่ ๆ ให้คนวัยเดียวกัน ยิ่งตอนนี้ได้มีโอกาสเข้ามาช่วยทำคอนเทนต์ให้ทาง Young Happy ยิ่งดีใจ เพราะได้กลับมาทำสิ่งที่รักอีกครั้ง และยังได้ใช้ความสามารถที่มีสร้างประโยชน์ให้กับคนวัยเดียวกันและขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมของกลุ่มคนรุ่นใหม่"