เปลี่ยน ‘ปิด’ เป็น ‘เปิด (ใจ)’ ลดปัญหาแม่วัยรุ่น
ที่มา : คมชัดลึก
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เปลี่ยน "ปิด" เป็น "เปิด" (ใจ) ลดปัญหาแม่วัยรุ่นในวัยเรียน
3 ปีที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.ได้ร่วมกับภาคี เครือข่ายทั้งภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ นักวิชาการและภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ระดับนโยบายและลงลึกในทางปฏิบัติระดับพื้นที่ ใน 20 จังหวัด เพื่อแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ที่ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ยังเพิ่มปัญหาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศด้วย
หนึ่งในนั้นคือ "ประจวบคีรีขันธ์" จังหวัดติด อันดับ 4 ของประเทศที่มีอัตราการคลอดในแม่วัยรุ่นอายุ 15-19 ปีมากที่สุดในปี 2558 โดยมีสูงถึง 1,137 คน หรือ 65.1 ต่อวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี ต่อ1,000 คน ทำให้หลายฝ่ายในพื้นที่เริ่มตระหนักและร่วมมือกันหามาตรการแก้ปัญหายั่งยืน ที่ อ.บางสะพาน ได้มีทีมทำงานทั้งระดับอำเภอและตำบล ขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันและแก้ปัญหาในวัยรุ่นอย่างเข้มแข็งและเกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม โดยมีจำนวนแม่วัยรุ่นลดลงอย่างชัดเจน จากปี 2557 ที่อัตรา 58.9 ลดลงเหลือ 39.2 ต่อวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ในปี 2559 และถือเป็นอำเภอต้นแบบของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในการขับเคลื่อน โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นภายใต้การสนับสนุนของ สสส.
เจริญ เจริญลักษณ์ สาธารณสุขอำเภอบางสะพาน เล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ว่า จากการสำรวจในพื้นที่ รวมทั้งประสบการณ์ทำงานผ่านมา พบว่าสาเหตุสำคัญคือเยาวชนในพื้นที่ไม่รู้จักวิธีคุมกำเนิดที่ถูกวิธี "ร้อยละ 90 จากกลุ่มเด็กที่ท้องในวัยนี้ คือเด็กที่พลาด เท่าที่สัมผัสมาจริงๆ จากการทำงานคือถุงยางเข้าไม่ถึง หรือเด็กไม่รู้ว่าวิธีคุมกำเนิดที่ถูกต้องคืออะไร"
คณะทำงานพยายามเจาะลึกถึงกลุ่มเป้าหมาย คือวัยรุ่นผู้ชายก็ต้องรู้จักใช้ถุงยางเป็น เดิมในพื้นที่นักเรียนที่ใช้ถุงยางระหว่างมีเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนระดับปวช. เพียงร้อยละ 23 ในปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 36.54 ในปี 2557 และร้อยละ 78.50 ปี 2558 หลังจากเริ่มโครงการนี้ส่วนเยาวชนผู้หญิงจะเน้นการ คุมกำเนิด การเรียนรู้สรีระของร่างกายรู้จักสังเกตตัวเอง
นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งคลินิกวัยรุ่น ที่โรงพยาบาลบางสะพาน เพื่อให้คำแนะนำปรึกษาปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร เยาวชนที่มาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลแห่งนี้จะต้องมารับคำแนะนำที่คลินิกนี้ก่อนเป็นอันดับแรก นอกจากนี้ยังตั้งแฟนเพจ love care บางสะพาน รวมทั้งประชาสัมพันธ์สายด่วน 1663 (สายให้คำปรึกษาปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมทางโทรศัพท์) เพื่อเป็นช่องทางเชื่อมต่อกับกลุ่มเป้าหมาย โดยจะประชาสัมพันธ์ช่องทางดังกล่าวทุกครั้งในการจัดอบรมนักเรียน พร้อมกับอบรมครูในโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่เพื่อตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาในโรงเรียน และ มีระบบการส่งต่อนักเรียนที่ประสบปัญหาไปยังคลินิกวัยรุ่นเพื่อแก้ปัญหาแต่แรกเริ่ม
ภาวิณี พันพราน หญิงสาวที่เคยตั้งครรภ์ ในวัยเรียนเมื่อขณะกำลังศึกษาอยู่ปี 2 ในระดับอุดมศึกษา แต่ปัจจุบันภาวิณีได้นำประสบการณ์ที่เธอมีทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครประจำคลีนิควัยรุ่น โรงพยาบาลบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีหน้าที่คอยเป็นที่ปรึกษาและ ให้คำแนะนำแก่กลุ่มเยาวชนที่มีปัญหาตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งจากประสบการณ์ทำงาน เธอเล่าว่าเยาวชนส่วนใหญ่มักมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตหรือมีความเครียดเมื่อพบว่าตัวเองท้อง
"สิ่งแรกที่กังวลคือเวลาเดินออกไปนอกบ้านกลัวคนมอง อาย กดดัน กลัวพ่อแม่จะอับอาย ถามว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่รับได้ไหม ช่วงแรกไม่มีพ่อแม่คนไหน รับได้ เด็กที่ตั้งท้องบางคนจึงเป็นโรคซึมเศร้า เราจะให้กำลังใจคุยกับเขาเพื่อให้เขาสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง ขณะเดียวกันเราคอยสอนเรื่องการป้องกัน การคุมกำเนิดให้กับเขาไปในตัวเพื่อไม่ให้เขาผิดพลาดอีก"
เธอบอกต่อว่า ในระยะหลังเด็กๆ เริ่มคุ้นเคยกับคลีนิควัยรุ่นและเข้าใจว่าควรมีการคุมกำเนิดหรือป้องกัน ทุกวันนี้เป็นเรื่องปกติที่จะเห็นกลุ่มเด็กนักเรียนเดินมาขอรับถุงยาอนามัยจากที่คลีนิคมากขึ้น
"เด็กบางคนรู้นะว่าต้องใช้ถุงยาง แต่ติดที่เขาไม่กล้าไปซื้อ อาย ก็บอกเขาไม่ต้องไปซื้อมาเอาที่นี่ได้เลย เดี๋ยวนี้มีเดินมา บอก "พี่เบิกของหน่อย" เราก็จะบอกเอาไปเลย ถ้าหมดแล้วมาเอาได้ตลอด ที่สำคัญเราอยากให้เขาบอกต่อ แค่เขากล้าที่จะมาขอที่เราก็ดีใจแล้ว"
จุดเด่นของการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของบางสะพาน คือการทำงานเป็นเครือข่ายระหว่างหน่วยงานสาธารณสุข ฝ่ายผู้ใหญ่ ทั้งฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.) โรงเรียน และอสม. และผู้ปกครองที่ร่วมมือกันเปิดใจยอมรับปัญหาและช่วยกันคิดหาทางออก โดยเริ่มต้นจากร่วมกันจัดทำแผนการทำงาน การอบรมวิทยากรกระบวนการเพื่อให้ความรู้กับพ่อแม่ในการสื่อสารเชิงบวกกับลูกเรื่องเพศ
"การจัดค่ายเยาวชนกลุ่มเสี่ยง" คืออีกหนึ่ง กลไกสำคัญของงานนี้ที่เจริญมองว่าตอบโจทย์ การทำงานที่ถึงกลุ่มเป้าหมาย แต่เขาก็ต้องลองผิด ลองถูกมาหลายครั้งในกระบวนการพัฒนาค่าย
"ครั้งแรกเราทดลองจัดค่ายอบรมเป็นการเข้าค่ายกลุ่มเด็ก โดยไม่มีพ่อแม่มาร่วมด้วย พบว่าหลังเข้าค่ายก็ยังมีเด็กตั้งครรภ์ 6 คน จาก 60 กว่าคน นั่นคือ ความล้มเหลวของการจัดค่ายนะ เราจึงมองว่าหลักสูตรที่มีอยู่คงไม่เหมาะสม ถามว่าเด็กรู้ไหม เขาก็เรียนรู้ แต่ไม่สามารถนำไปปฏิบัติใช้จริงด้วยตัวเองได้"
ทีมงานจึงนำผลสำรวจข้อมูล มาจัดกระบวนการเรียนการสอน ปรับหลักสูตรใหม่ มีการเปิดตัวมิสเตอร์ถุงยาง เป็นการรณรงค์ให้เด็กสนใจและเข้าใจเรื่องการคุมกำเนิดที่ถูกต้อง ขณะที่การจัดค่าย เปลี่ยนรูปแบบให้มีทั้งเยาวชนและกลุ่มพ่อแม่หรือผู้ปกครองมาร่วมอบรมด้วยพร้อมกัน ปรากฏว่าหลังอบรมค่ายดังกล่าวยังไม่มีเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการท้องเลย
"การมีพ่อแม่และเยาวชนมาเข้าค่ายด้วยกัน มันทำให้สองฝ่ายเปิดใจคุยกันตรงนั้น ขณะเดียวกัน มันจะเป็นแนวทางในการเปลี่ยนทัศนคติเรื่องครอบครัวด้วย บางคนมาอบรมมากกว่าหนึ่งครั้งนะถึงจะเริ่ม เปิดใจได้ พอลูกรับรู้แล้วว่าพ่อแม่เข้าใจเราแล้ว เขาก็จะเริ่มให้เกียรติทำอะไรจะนึกถึงพ่อแม่ก่อน เริ่มคุยกันได้ ถามว่ามีเพศสัมพันธ์ไหม เขาก็ยังมี แต่มีแบบปลอดภัย"
ปีนี้ เขาและทีมงานสาธารณสุขบางสะพาน จึงคิดทำค่ายด้วยหลักสูตรใหม่ที่ได้รับการปรับปรุงดังกล่าว เน้นเด็กที่มีภาวะการเสี่ยงหรือกลุ่มเสี่ยงจริงๆ ขณะเดียวกันยังมีการสร้างแกนนำเยาวชนเป็นเครือข่าย เพื่อเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่น โดยเน้นคนที่เขายอมรับหรือ คุยภาษาเดียวกันเพื่อแนะนำเรื่องเพศและการคุมกำเนิด
ในด้านผู้ใหญ่ฝั่งท้องถิ่นอย่าง บุญยฤทธิ์ แดงรักษา ปลัด อบต.ร่อนทอง เล่าว่า ร่อนทองเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีวัยรุ่นตั้งท้องจำนวนมาก ผู้ประสานงานระดับอำเภอ จึงชวนทาง อบต.มาหารือเพื่อร่วมกันหาแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เมื่อเห็นความสำคัญปัญหา จึงได้ร่วมสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม เน้นกลุ่ม เป้าหมายคือ เยาวชนในสถานศึกษาและผู้ปกครอง เพื่อให้ทำงานทันกับสถานการณ์ร่อนทอง จึงเริ่มที่โรงเรียนในสังกัดท้องถิ่น 3แห่ง ประกอบด้วยโรงเรียนขยายโอกาส 1 แห่ง และโรงเรียนประถม 2 แห่ง โดยเริ่มให้ความรู้ตั้งแต่ชั้น ป.5 เพราะมองว่าการให้ ความรู้เรื่องเพศยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี
"ในช่วงแรกก็มีเสียงต่อว่าจากผู้ปกครองบางส่วนที่ไม่เข้าใจ มองว่าเป็นการชี้โพรงให้กระรอก แต่เดินหน้าทำต่อจนปัจจุบันจำนวนเด็กตั้งท้องลดลงและผู้ปกครองก็ร่วมสนับสนุน"
นอกจากนี้ทาง อบต.ร่อนทองได้จัดประกวดหนังสั้นเรื่อง safe sex ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เยาวชนได้ริเริ่มและทำขึ้นเอง จึงเป็นที่สนใจของวัยรุ่น พร้อมกับเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ทั้งด้านกีฬาและการแสดงทางวัฒนธรรมเพื่อดึงความสนใจจากเรื่องเพศ
อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือสังคมไทย โดยเฉพาะต่างจังหวัด ยังไม่ยอมรับปัญหาเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน ทั้งที่สภาพสังคมได้เห็นทุกวันเด็กมีเพศสัมพันธ์อายุน้อยลงมากขึ้น เจริญเชื่อว่าแนวทางสำคัญที่จะทำให้ก้าวข้ามผ่านปัญหา "ท้องในวัยเรียน" ได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ คือการเปิดใจยอมรับว่าเรื่องเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนอาจเกิดขึ้นได้ แต่ต้องมีอย่างปลอดภัยและไม่ตั้งท้องก่อนวัยอันควรหรือก่อนเรียนจบ
"จุดมุ่งหมายหลักๆ ของเราอยากให้คนบางสะพานมองว่านี่คือลูกหลานของเราที่ต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา คือเราห้ามเขาไม่ได้ เด็กมีปัญหาจะหันหน้าไปปรึกษา แม้แต่ครูบางคนก็มีกำแพงทำให้เขายิ่งแก้ปัญหาแบบไม่ถูกต้อง อีกสิ่งที่เราพบจากการทำค่าย คือเด็กไม่มีเป้าหมายชีวิตเลย เด็กไม่รู้อะไรคือสิ่งที่ถูกที่ผิด เราเคยถามเขาเด็กตอบว่า "อยากเป็นเด็กแวนซ์" เพราะเขาไม่รู้ว่าการทำแบบนั้นทำความเดือดร้อนให้คนอื่น หรือผิดกฏหมาย นี่คือความจริงในสังคมเจนวาย" เจริญกล่าว