เปลี่ยนวิธีคิด ลดปัญหาความรุนแรงทางเพศ
ที่มา: มติชนออนไลน์
ภาพประกอบจากมติชนออนไลน์
มูลนิธิหญิงชายฯ เผย กทม.แชมป์กระทำความรุนแรงทางเพศ กระทบทั้งร่างกายและจิตใจ เร่งปรับเปลี่ยนวิธีคิด เคารพร่างกายซึ่งกันและกัน
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีรายงานสถานการณ์ความรุนแรงทางเพศ ในหัวข้อ “ข่มขืน ไกล่เกลี่ย ยอมความ:เราจะออกจากวังวนนี้ได้อย่างไร?”
โดย นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยว่า จากการรวบรวมสถิติข่าวความรุนแรงทางเพศในรอบปี2558 จากหนังสือพิมพ์14 ฉบับ ได้แก่ คมชัดลึก,ข่าวสด,มติชน,เดลินิวส์,แนวหน้า,ไทยโพสต์,กรุงเทพธุรกิจ,บ้านเมือง,ไทยรัฐ,สยามรัฐ,ผู้จัดการรายวัน,สยามกีฬา,พิมพ์ไทย,โพสต์ทูเดย์ พบว่ามีข่าวความรุนแรงทางเพศ ทั้งหมด306 ข่าวมากที่สุดคือข่าวข่มขืนรุมโทรม 224 ข่าว คิดเป็น 73.2% และมีผู้ที่เสียชีวิตถึง 20 ราย คิดเป็น 60% อาชีพของผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เป็นนักเรียน/นักศึกษา 53.5% สำหรับปัจจัยกระตุ้นมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 30% รองลงมามีปัญหาการยับยั้งอารมณ์ทางเพศ 23.3% ที่น่าห่วงคือ อายุผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 1-20 ปี และน้อยที่สุดคือ 1ปี8เดือน สูงสุดคือ 86 ปี ทั้งนี้ ผู้กระทำ46% เน้นที่คนใกล้ชิดและรู้จัก ขณะที่จังหวัดหรือพื้นที่ที่ใช้ก่อเหตุมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ รองลงมา ชลบุรี และสมุทรปราการ
“ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ถูกกระทำ มีทั้งทางด้านจิตใจ หวาดผวา ระแวง ซึมเศร้า รองลงมาคือ สูญเสียทรัพย์ ถูกบังคับมีเพศสัมพันธ์หลายครั้ง ถูกทำร้ายร่างกายสาหัส สถานที่ใช้ก่อเหตุส่วนใหญ่เป็นที่พักของผู้ถูกกระทำ21.4% และที่พักผู้กระทำ19.9%และที่สำคัญผู้ที่ก่อเหตุ ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ค้าขาย หรือมีแม้กระทั่งเป็นนักเรียนนักศึกษา ครู/อาจารย์ ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า การกระทำความรุนแรงทางเพศถือเป็นปัญหาที่สะท้อนวิธีคิดจากระบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นรากเหตุแห่งปัญหาคือผู้กระทำใช้อำนาจเหนือบังคับให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย โดยเฉพาะเรื่องเพศที่ผู้ชายไม่ได้ถูกปลูกฝังให้มีการควบคุม ผู้ชายจึงมักแสดงพฤติกรรมทางเพศแบบไหนก็ได้ผู้ชายส่วนหนึ่งจึงใช้อำนาจกับผู้หญิงในเรื่องเพศ ดังนั้นในการแก้ไขปัญหานี้จำเป็นอย่างยิ่งต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด มนุษย์ทุกคนต้องเคารพเนื้อตัวร่างกายผู้อื่น” นางสาวจรีย์กล่าว
นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากข้อมูลการให้คำปรึกษาผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศของมูลนิธิฯ พบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุไม่เกิน 20 ปีที่ถูกกระทำจากคนใกล้ตัวหรือคนในครอบครัว ที่สำคัญคือผู้ประสบปัญหาส่วนใหญ่ไม่ทราบขั้นตอนการดำเนินคดีความจึงทำให้คดีขาดอายุความ พยานหลักฐานไม่พร้อมเกิดความท้อและอายที่ต้องเล่าเหตุการณ์ซ้ำหลายครั้ง ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม และกลไกการคุ้มครองของหน่วยงานรัฐอาจไม่สามารถคุ้มครองสิทธิ โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความผิดทางเพศที่ต้องไม่บัญญัติให้มีการยอมความในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ
“ส่วนใหญ่แล้วผู้ถูกกระทำมีภาวะความกลัวอายและมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจที่รุนแรงนอกจากนี้การรวบรวมสถิติข่าวยังได้สะท้อนภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ไม่ได้มีกระบวนการหรือกลไก ป้องกันแก้ไขปัญหา เยียวยาผู้ถูกกระทำแบบรอบด้าน ทั้งกระบวนการเสริมพลังให้กล้าออกมาขอความช่วยเหลือ รวมถึงระบบช่วยเหลือที่เป็นมิตรดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้พนักงานสอบสวนรับแจ้งความดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับเพศโดยไม่อาศัยช่องว่างกฎหมายในความผิดข่มขืนสามารถยอมความได้ นอกจากนี้พนักงานสอบสวนต้องแจ้งสิทธิขั้นตอนและระยะเวลาในชั้นสอบสวนที่สำคัญต้องมีการตรวจร่างกายเพื่อบันทึกหลักฐานอย่างครบถ้วนและเป็นระบบ เคารพสิทธิ คุ้มครองสิทธิ" นางสาวอังคณา กล่าว