เปลี่ยนพื้นที่เสี่ยงรอบ รร. เป็นชุมชนสีขาว

สิ่งแวดล้อมดี…สร้างเด็กคุณภาพ

 

 เปลี่ยนพื้นที่เสี่ยงรอบ รร. เป็นชุมชนสีขาว

          โรงเรียนถือเป็นพื้นที่สีขาว และเป็นที่ขัดเกลาจิตใจของเยาวชนให้เติบโตเป็นกำลังใจสำคัญของชาติต่อไป แต่สภาพสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะเมืองใหญ่ที่เน้นในเรื่องของวัตถุมากกว่าจิตใจ ทำให้เกิดสภาพเสื่อมโทรมต่างๆ รอบรั้วโรงเรียน ซึ่งทำให้เด็กมีความเสี่ยงที่เกิดอันตราย หรือหลงผิด ไปตามสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม

 

          การสร้างสิ่งแวดล้อมทั้งบ้าน โรงเรียน ชุมชน เป็นสิ่งที่นักวิชาการต่างลงความเห็นว่า จำเป็นและเชื่อมโยงกับการเกิดพฤติกรรมด้านบวกหรือด้านลบของเด็กและเยาวชนได้

 

          โครงการ “แผนที่สุขภาพ ปฏิบัติการสร้างสุข จากโรงเรียนสู่ชุมชน” เป็นแนวคิดในการสำรวจพื้นที่เพื่อให้เด็กได้แยกแยะ สิ่งที่ดีเป็นประโยชน์ต่อตัวเองและรู้จักพื้นที่เสี่ยง เพื่อหลีกเลี่ยงและนำไปสู่การพัฒนาชุมชน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี และลดพื้นที่เสี่ยงได้ตามศักยภาพของเด็ก ด้วยรายงานแผนที่สุขภาพที่เด็กลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง

 

          สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นผู้ริเริ่มโดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งได้มีตัวแทนเยาวชนจาก 4 ภาค ทั่วประเทศเข้าร่วมการอบรมเพื่อร่วมแยกแยะพื้นที่ดีพื้นที่เสี่ยง

 

          เริ่มต้นจากการให้ความรู้กับเยาวชนจาก 4 ภาค ทั่วประเทศเข้าร่วมการอบรมเพื่อร่วมแยกแยะพื้นที่ดีพื้นที่เสี่ยง เริ่มต้นจากการให้ความรู้กับเยาวชนตัวแทนจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วทุกภาคทั้งประเทศ เพื่อให้รู้วิธีการแยกแยะพื้นที่ดี พื้นที่เสี่ยงออกจากกันได้

 

          ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2549 จนถึงปัจจุบัน มีเด็กและเยาวชนในโรงเรียนต่างๆ จำนวน 153 โรงเรียน จากทั่วประเทศ รวมกลุ่มกันเพื่อดำเนินโครงการแผนที่สุขภาพ เพื่อเพิ่มพื้นที่ดี ลดพื้นที่เสี่ยงรอบโรงเรียน เพื่อสำรวจพื้นที่ดี โดยมีการสำรวจพื้นที่เสี่ยงรอบโรงเรียน อย่างน้อย 1 ตารางกิโลเมตร

 

          จากการสรุปผลของโครงการระยะที่ 2 จาก 96 โรงเรียน ของโรงเรียนทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการในช่วงเดือนกันยายน 2549 – มีนาคม 2550 เมื่อพิจารณาข้อมูลแยกตามภาค พบว่า

 

          กทม. มีพื้นที่ดีคิดเป็นร้อยละ 45 พื้นที่เสี่ยง ร้อยละ 52 และ พื้นที่เฝ้าระวัง ร้อยละ 3

 

          ภาคกลาง มีพื้นที่ดีคิดเป็นร้อยละ 58 พื้นที่เสี่ยง ร้อยละ 37 และ พื้นที่เฝ้าระวัง ร้อยละ 5

 

          ภาคเหนือ มีพื้นที่ดีคิดเป็นร้อยละ 51 พื้นที่เสี่ยงร้อยละ 42 และพื้นที่เฝ้าระวัง ร้อยละ 7

 

          ภาคอีสาน มีพื้นที่ดีคิดเป็นร้อยละ 44 พื้นที่เสี่ยง ร้อยละ 45 และพื้นที่เฝ้าระวัง ร้อยละ 11

 

          ภาคใต้ มีพื้นที่ดีคิดเป็นร้อยละ 54 พื้นที่เสี่ยง ร้อยละ 44 และ พื้นที่เฝ้าระวังร้อยละ 2

         

          โดยเฉลี่ย พบว่ามีพื้นที่ดีคิดเป็นร้อยละ 50 พื้นที่เสี่ยง ร้อยละ 44 และ พื้นที่เฝ้าระวัง ร้อยละ 6

 

          สิ่งแรกที่เด็กได้เรียนรู้ คือ การแยกแยะเรื่องที่ดี กับ เรื่องที่จะนำไปสู่ความเสี่ยง จากเด็ก 1 คน ไปสู่เพื่อนนักเรียนอีกเป็นสิบ เป็นร้อย และสิ่งต่อไปคือการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ การวางแผนเพื่อให้ได้ข้อมูลต่างๆ มาประกอบกัน

 

          การลงพื้นที่ของเด็กๆ นอกจากทำให้ได้รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว ยังมีการนำข้อมูลที่ได้รับมาขยายผลในรูปแบบต่างๆ บางพื้นที่สามารถลงมือปฏิบัติเองได้ ก็ลงมือช่วยกันอย่างแข็งขัน เช่น การถางป่ารกร้างให้มีความสวยงาม และลดอันตรายลง

 

           แต่งานบางอย่างที่สำรวจได้ ก็หนักเกินที่เด็กจะสามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ร้านเกมส์ที่เปิดให้เด็กมั่วสุม ร้านคาราโอเกะ โต๊ะสนุก โรงแรมม่านรูด ที่รกร้าง หอพัก หรือสถานที่ที่เปิดให้เยาวชนเข้าไปมั่วสุม หรือบางพื้นก็มีพื้นที่เสี่ยงซ้อนอยู่ในพื้นที่ดี เช่น ในสนามเด็กเล่น มีบางมุมที่เด็กมั่วสุมกันทำเรื่องที่ไม่ดี หรือวัด จัดว่าเป็นสถานที่ดี แต่บริเวณหลังวัดซึ่งเป็นที่ลับตาคน ก็กลับกลายเป็นที่มั่วสุมกันได้

 

          ทำให้ต้องมีการร่วมมือกันระหว่างเด็ก ครู ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่บ้านเมือง เพื่อลดปัญหาในสถานที่ต่างๆ เหล่านั้น ตามที่เด็กได้ลงมือสำรวจมา ซึ่งผลออกมาเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง เพราะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชุมชน อย่างเช่น ร้านเกมส์ มีความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของเด็กๆ ทำให้มีการติดป้ายห้ามเยาวชนเข้ามาเล่นเกมส์ในช่วงเวลาที่กฎหมายประกาศห้ามไว้

 

          นอกจากนั้น คนในชุมชน ยังเป็นหู เป็นตา แจ้งเหตุและช่วยเหลือเด็กที่ทำกิจกรรมนอกลู่ นอกทาง ถือเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง ที่มีการประสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ให้ทำงานร่วมกัน และลงมือแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นร่วมกัน

 

          เรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จจากความพยายามเล็กๆ ของเยาวชน ที่จะต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้พัฒนาชุมชนรุ่นต่อไป ให้รู้จัก “รัก” และอยากพัฒนาชุมชนไปในทิศทางที่ดี และเริ่มลงมือทำด้วยตนเอง

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

Update 12-03-52

 

Shares:
QR Code :
QR Code