เปลี่ยนพฤติกรรมลดหวานในศูนย์เด็กเล็ก

เร่งผลักดันศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ปรับค่านิยมไม่กินหวานลดน้ำตาลในเด็ก


เปลี่ยนพฤติกรรมลดหวานในศูนย์เด็กเล็ก thaihealth



       ทพ.ญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่องค์การอนามัยโลก(WHO) มีคำแนะนำให้ผู้ใหญ่และเด็กลดการบริโภคน้ำตาลประเภท free sugar ลงเหลือไม่เกิน 10% จากปริมาณที่บริโภคในแต่ละวัน และแนะนำเพิ่มเติมให้ลดปริมาณลงอีกเหลือเพียงไม่เกิน 5% จากปริมาณที่เคยบริโภค หรือไม่เกิน 25 กรัม หรือ 6 ช้อนชาต่อวัน เพื่อให้มีผลดีต่อสุขภาพมากขึ้น

               

       ทั้งนี้ Free sugar ครอบคลุมถึง กลูโคส ฟรุกโทส ซูโครส ที่ถูกเติมในอาหารและเครื่องดื่ม รวมไปถึงน้ำตาลที่มีตามธรรมชาติในน้ำผึ้ง ไซรัป น้ำผลไม้ และน้ำผลไม้เข้มข้น แต่ในคำแนะนำนี้ไม่ได้รวมถึงน้ำตาลในธรรมชาติ อย่างเช่น ผลไม้ ผัก และนม เพราะยังไม่มีหลักฐานว่าอันตราย ซึ่งน้ำตาลเหล่านี้แฝงอยู่ในอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป ซึ่งมักมองไม่เห็นในรูปของรสหวาน เช่น ซอสมะเขือเทศปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะ มีน้ำตาลมากถึง 1 ช้อนชา

               

      ทพ.ญ.ปิยะดา กล่าวต่อไปว่า ทางเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานได้ร่วมกับภาคี ช่วยกันขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องใน 3 รูปแบบ คือ 1. โรงเรียนปลอดน้ำอัดลม เพราะน้ำตาลหลักมาจากน้ำอัดลม  2.พยายามให้ผู้ผลิตบอกค่าของน้ำตาลที่มีอยู่บนฉลากขนม เพื่อให้เห็นชัดๆ ว่าปริมาณน้ำตาลใน 1 บรรจุภัณฑ์มีปริมาณเท่าไหร่ และ  3.มีความพยายามจัดการปริมาณน้ำตาลในซองให้มีทางเลือกมากขึ้น เพราะน้ำตาลซองที่มีจำหน่ายในประเทศไทยมีทางเลือกให้น้อยมาก ส่วนใหญ่จะบรรจุขนาด 6-8 กรัม จึงอยากให้มีมาตรการบังคับให้บริษัทผู้ผลิตน้ำตาลบรรจุน้ำตาลที่ขนาด 4 กรัม เพื่อให้คนไทยมีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ตุรกี มีน้ำตาลซองหลายขนาดให้ผู้บริโภคได้มีทางเลือก

                

      "เราจะทำอย่างไรให้คนบริโภคน้ำตาลน้อยลง บางทีเราก็ต้องไปเริ่มทำงานกับเด็กเล็ก เช่น โครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอ่อนหวาน (ศพด.) เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กให้มีรสนิยมไม่กินหวานจนเคยชินเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่เขาก็จะไม่กินหวาน ไม่อ้วน ไม่เป็นโรคง่าย เป็นการสร้างค่านิยมอ่อนหวานที่จะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน เราทำประเด็นพวกนี้มาอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นจากคำแนะนำของ WHO จึงเป็นการเน้นย้ำงานที่เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง" ทพ.ญ.ปิยะดา กล่าว


 


 


ที่มา : เว็บไซต์บ้านเมือง


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code