เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย เปลี่ยนผู้ป่วยเป็นพลังสู่สังคม
เรื่องโดย: อัจฉริยา คล้ายฉ่ำ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก: เวทีสานพลังชุมชนล้อมรักษ์ กรุงเทพมหานคร
ภาพโดย: อัจฉริยา คล้ายฉ่ำ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
“ยาเสพติดไม่ใช่แค่ปัญหาการเจ็บป่วยอย่างเดียว เพราะการถูกตีตราจากสังคมจึงกลายเป็นตราบาปทำให้เขาเกิดความอับอาย หากชุมชนมีส่วนในการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหา อาจทำให้คนบางคนที่เสพจนติด ชีวิตเปลี่ยนเป็นพลังบวกได้ และแทนที่จะส่งผู้ติดยาทุกรายไปบําบัดรักษาที่โรงพยาบาล หรือ สถานฟื้นฟู มักมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และบางรายต้องพักอยู่ระยะยาว จึงเกินความจำเป็น”
จากการสำรวจครัวเรือนระดับชาติ เพื่อประมาณจำนวนประชากรไทย ผู้ใช้สารเสพติดทั่วประเทศ ในปี 2566 พบว่า มีผู้ใช้สารเสพติดถึง 1.9 ล้านคน และ สถานการณ์ผู้เสพยา อายุ 12 – 65 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงนำมาสู่การขยายประเด็นการป้องกัน เพื่อนำไปสู่การบูรณาการทำงานร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 1 กล่าวทางออกการแก้ไขปัญหายาเสพติดในเวที “สานพลังชุมชนล้อมรักษ์” โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมภาคีเครือข่ายถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนเพื่อผสานจุดแข็ง ของ 6 พื้นที่ภูมิภาค ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น
“…ที่ผ่านมา รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ มีแผนและยุทธศาสตร์การจับกุมสกัดกั้นตามแนวชายแดน ยึดทรัพย์ผู้ค้า และเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยให้ได้รับการบำบัด เพื่อลดปัญหาจิตเวชอย่างจริงจัง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ใช้ชุมชนเป็นฐานในการช่วยเหลือ ดูแล ฟื้นฟู สนับสนุนผู้ติดและต้องการเลิกยามาเป็นพลังสังคม สอดคล้องกับนโยบายขับเคลื่อน “ชุมชนล้อมรักษ์” Community Based Treatment หรือ: (CBTx) ของกระทรวงสาธารณสุข อีกด้วย
ดังนั้น การจัดเวทีถอดบทเรียน 6 ภูมิภาคนี้ จะช่วยให้กรอบแนวคิดการดำเนินงานฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน “ชุมชนล้อมรักษ์” (CBTx) เป็นการบรูณาการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม ป้องกัน บำบัดรักษา เสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน ยึดคนเป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงสิทธิ ความเท่าเทียมและประโชยน์ จึงต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนอย่างมาก…” นายสมศักดิ์ กล่าว
ด้าน นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา สสส. มีพื้นที่ต้นแบบปลอดภัยจากยาเสพติด 25 พื้นที่ทั่วประเทศ และ มีพื้นที่ต้นแบบที่สามารถลดจำนวนผู้ติดยาเสพติดได้สำเร็จ นำไปสู่การขยายผลสร้างโมเดลจัดการปัญหายาเสพติดสู่ชุมชนอื่น ๆ ล้วนได้มาจากการถอดบทเรียนสถานการณ์สิ่งเสพติด จึงทำให้เข้าใจปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นในชุมชนเป็นอย่างดี
“โมเดลชุมชนล้อมรักษ์ มุ่งเน้นการฟื้นฟู ดูแล ให้โอกาส สร้างคุณค่าให้กับผู้ป่วย จะทำให้ผู้เข้ารับการบำบัดกลับมาใช้ชีวิตในชุมชนได้อย่างปกติสุข เนื่องจากพวกเขาได้รับโอกาส เนื่องจากการติดยาเสพติด เป็นลักษณะโรคเรื้อรังไม่สามารถให้เลิกเด็ดขาดได้ทันทีจากการรักษาครั้งเดียว หรือจากการบําบัดรักษาในโรงพยาบาลหรือสถานบําบัดฟื้นฟูแต่เพียงอย่างเดียว ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อน ป้องปรามยาเสพติด เพื่อให้ได้แนวทางแก้ไขที่ยั่งยืน
จากเดิมคนเสพยาไม่เคยมีใครกล้ายุ่ง เพราะเป็นปัญหาของบุคคล ในขณะเดียวกันชุมชนเองก็มีความเข้มแข็ง กล้าช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การขับเคลื่อนโดยใช้โมเดลนี้ สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการคิดที่ละมุนละม่อม เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยเปลี่ยนผู้ป่วยกลับคืนสู่สังคมได้ในที่สุด” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
คุณสุขวิชัย อิทธิสุคนธ์ แกนนำเยาวชนชุมชนวัดอัมพวา ตัวแทนจากโครงการบางกอกนี้ดีจัง หนึ่งในภาคีเครือข่าย สสส. เป็นคนหนึ่งที่เติบโตมากับครอบครัวค้ายาเสพติด พ่อถูกวิสามัญจากคดียาเสพติด ลุงและป้าก็ถูกดำเนินคดี เล่าให้ฟังว่า
“…ตนเองก็ถูกตีตราว่าโตมาก็จะต้องค้ายาเหมือนครอบครัว ทุกวันหยุดจะถูกใช้ให้ไปส่งยา ซึ่งตนไม่เคยชอบเลยสักครั้ง จึงเป็นสาเหตุที่เขาไม่อยากอยู่บ้าน เลยเลือกที่จะออกไปหากิจกรรมในชุมชนทำ จนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่เรียนรู้สร้างสรรค์ ซึ่งมีแนวคิดเดียวกับ “ชุนล้อมรักษ์” ใช้กลไกชุมชนดูแลป้องกันกลุ่มเสี่ยง
ดึงศักยภาพเชิงบวกของเด็กและเยาวชนออกมา ผมเองได้รับรู้ถึงความเลวร้ายของยาเสพติดและเห็นวิธีการทางเลือกช่วยเหลือผู้ยาเสพติดมากมาย โดยเฉพาะการฟื้นฟูเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา ให้มีเป้าหมายในชีวิตสามารถเรียนจบ มีอาชีพ สร้างรายได้ให้กับครอบครัว หรือเขาสามารถออกแบบชีวิตของตัวเอง
สุดท้าย คุณสุขวิชัย บอกกับตัวเองเสมอว่า ชีวิตจะไม่เดินตามรอยแบบครอบครัว เพื่อพิสูจน์ว่า คนเหมือนกันแต่คนไม่จำเป็นต้องทำอะไรเหมือนกัน…”
สสส. และภาคีเครือข่าย พร้อมพัฒนาแกนนำจัดการปัญหายาเสพติด เสริมองค์ความรู้ สร้างพื้นที่ต้นแบบปลอดปัจจัยเสี่ยงทั่วประเทศ โดยชุมชนมีส่วนในการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเพื่อ “คืนคนสู่สังคมอย่างปลอดภัย” และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข