เปลี่ยนกองขยะ เป็นสวนสุขภาวะ สร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน

เรื่องโดย เทียนทิพย์  เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.com


เปลี่ยนกองขยะ เป็นสวนสุขภาวะ สร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน thaihealth


  แฟ้มภาพ       


หากกล่าวถึงพื้นที่ที่เป็นศูนย์รวมของกองขยะในชุมชน หลายคนคงจินตนาการถึงความสกปรก และความไม่น่ามองของพื้นที่ดังกล่าว  นอกเหนือจากนั้น หลายฝ่ายยังกังวลเรื่องปัญหาอื่นๆ ที่ตามมา เช่น ปัญหาเรื่องไฟไหม้ และปัญหาเกี่ยวกับมลภาวะ รวมไปถึงสุขภาพจิตของคนในชุมชน


 ‘ชุมชนภาษีเจริญ’ พื้นที่ที่ซุกซ่อนตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่สะท้อนให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนพื้นที่รกร้าง เป็นพื้นที่สุขภาวะ สำหรับคนในชุมชน โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชม (ศวพช.) และมหาวิทยาลัยสยาม จัดพิธีเปิด “สวนสุขภาวะ และห้องสมุดกำแพง” ณ สวนพื้นที่สุขภาวะแห่งการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยสยาม เพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย ปรับเปลี่ยนพื้นที่รกร้าง สร้างพื้นที่สุขภาวะ รวมไปถึงมีห้องสมุดกำแพงแห่งแรกในประเทศอีกด้วย


เปลี่ยนกองขยะ เป็นสวนสุขภาวะ สร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน thaihealth


แฟ้มภาพ


นายทวีศักดิ์  เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึง การพัฒนาพื้นที่ชุมชนที่อดีตเคยเป็นกองขยะสูงเท่ากำแพง ว่า กทม.มีนโยบายที่เน้นในการพัฒนาพื้นที่รกร้าง หรือพื้นที่ว่างเปล่าที่ไม่ได้ใช้งาน จะนำพื้นที่ดังกล่าวมาพัฒนาเป็นพื้นที่สุขภาวะได้อย่างไรบ้าง โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า ใน 1 เขต จะต้องมีพื้นที่สุขภาวะเช่นเดียวกับเขตภาษีเจริญ หากลำพังหน่วยงานภาครัฐเข้ามาพัฒนาเองก็อาจจะไม่สำเร็จเท่ากับการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ซึ่งหากคนในชุมชนมีส่วนร่วมด้วยกัน ความเป็นเจ้าของพื้นที่ก็จะเกิดขึ้น ตลอดจนนำไปสู่ความยั่งยืนและถาวร นับเป็นประชารัฐแบบเต็มรูปแบบนั่นอง


เปลี่ยนกองขยะ เป็นสวนสุขภาวะ สร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน thaihealth


แฟ้มภาพ


ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์  เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุภาวะ สสส. กล่าวถึง เป้าหมายของ สสส.ในการส่งเสริมและสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าว ว่า สสส.มีเป้าหมายชัดเจนให้คนในชุมชนมีสุขภาพแข็งแรง มีสุขภาพจิตที่ดี และที่สำคัญต้องมีพื้นที่ให้คนในชุมชนเข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าว อีกทั้งการปรับเปลี่ยนพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นการพัฒนาสังคมตลอดจนนำไปสู่ การมีสุขภาพจิตที่ดี


เปลี่ยนกองขยะ เป็นสวนสุขภาวะ สร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน thaihealth


แฟ้มภาพ


สอดคล้องกับ ดร.พรชัย  มงคลวนิช  อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม ในฐานะเป็นเจ้าของพื้นที่และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการสร้างสวนสุขภาวะและห้องสมุดกำแพง กล่าวถึง แนวคิดในการดำเนินการปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ โดยการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนและสมาชิกในชุมชน โดยกล่าวว่า มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันการศึกษา มองพื้นที่สวนสุขภาวะ เป็นห้องทดลองที่มีชีวิต และชุมชน กับสังคม เป็นห้องทดลองของมหาวิทยาลัย ในทางกลับกัน มหาวิทยาลัยไม่ได้ให้ชุมชนอย่างเดียว แต่ชุมชนก็ให้มหาวิทยาลัยในการทำให้การศึกษามีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งหากไม่มีชุมชนก็ไม่สามารถสร้างการเรียนรู้ได้ และการดำเนินการในครั้งนี้หากเกิดความสำเร็จ ก็คงเป็นความสำเร็จร่วมกันของทุกภาคส่วนทั้ง สสส. กทม. และมหาวิทยาลัยสยาม รวมไปถึงชุมชนก็ประสบความสำเร็จด้วยเช่นกัน


เปลี่ยนกองขยะ เป็นสวนสุขภาวะ สร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน thaihealth


แฟ้มภาพ


เช่นเดียวกับ นางศรุตา  วงษ์เอก สมาชิกในชุมชนเขตภาษีเจริญ ที่เล่าให้ฟังด้วยแววตาเปื้อนยิ้มและมีความภาคภูมิใจในพื้นที่สุขภาวะแห่งนี้ว่า ตนก็มีส่วนร่วมในการริเริ่มและพัฒนา จนปัจจุบันกลายมาเป็นสวนสุขภาวะ และห้องสมุดกำแพงที่ใช้ประโยชน์ได้จริง โดยกล่าวว่า ในอดีต สภาพพื้นที่ตรงนี้เป็นกองขยะแล้วชุมชนกลัวจะเกิดไฟไหม้ จากกองขยะใหญ่ๆ ค่อยๆพัฒนากันเรื่อยๆ ทำกันเองด้วยใจ เมื่อมีพื้นที่สุขภาวะเกิดขึ้น ก็ได้ใช้ประโยชน์ เช่น เทศกาลสงกรานต์ ประชุมพบปะสร้างสรรค์ เสวนา มีการละเล่น เด็กก็มาใช้ ซึ่งเราเป็นชุมชนใหญ่ เป็นชุมชนแรกที่สวยงาม แต่ละวันก็มีคนมาออกกำลังกาย มาวิ่งเล่น มาดูแล ในอนาคตก็น่าจะปรับปรุงไปเรื่อยๆ


เปลี่ยนกองขยะ เป็นสวนสุขภาวะ สร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน thaihealth


แฟ้มภาพ


“พื้นที่ตรงนี้ดีมากเลยนะ ทุกคนมาช่วยกัน ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วม ภูมิใจมากเลยกับสวนสุขภาวะตรงนี้ที่ทำขึ้นมา ดีกว่าเป็นกองขยะเหมือนเมื่อก่อน” นี่คือคำบอกเล่าของ นายอนุชาติ  ทับเทศ  สมาชิกในชุมชนเขตภาษีเจริญ วัย 80 ปี ที่มักจะจูงมือหลานตัวน้อย มาร่วมทำกิจกรรมที่สวนสุขภาวะแห่งนี้ในทุกๆเย็น  โดยเล่าว่า พื้นที่ตรงนี้แต่ก่อนรกรุงรัง ขยะสูงแทบจะข้ามรั้ว หลังจากนั้นทุกฝ่ายรวมถึงชุมชนมาปรับปรุงเป็นให้เป็นพื้นที่ของชุมชนหลังมหาวิยาลัยสยาม คุณภาพชีวิตดีขึ้นเยอะมาก มีคนมาออกกำลังกายและช่วยกันพัฒนา มีทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ นับว่ามีแทบทุกรุ่น มาพักผ่อนหย่อนใจ ผิดกับแต่ก่อนที่น่ากลัว มีสัตว์แทบทุกชนิดอยู่ตรงบริเวณนี้ เวลาเดินผ่านต้องระวัง


การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และการสนับสนุนของทุกภาคส่วนทั้ง สสส. กทม. และ ม.สยาม ที่เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการใช้พื้นที่ว่างเปล่า ก่อเกิดเป็นพลังที่สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่เปลี่ยวเป็นพื้นที่โปร่ง สร้างความเป็นเจ้าของร่วมกัน นี่คือก้าวแรกของชุมชนที่มีพื้นที่ดีๆ ในการใช้ประโยชน์ แต่ก้าวต่อไปที่ต้องคำนึงถึงต่อนั้น ทำอย่างไรถึงจะรักษา และธำรงให้พื้นที่ดังกล่าวยั่งยืนและถาวรสู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป


 

Shares:
QR Code :
QR Code