‘เนคเทค’ สร้างสถานีแห่งความสุข
กว่าครึ่งทางแล้วที่ "แผนงานสร้างเสริมคุณภาพชีวิตการทำงานองค์กรภาครัฐ" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาและสร้างเสริมคุณภาพชีวิตการทำงานของข้าราชการไทยและองค์กรรัฐวิสาหกิจให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของหนี้สิน ความเคร่งเครียดในงานและชีวิตส่วนตัว ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ รวมไปถึงการไม่พึงพอใจในระบบงานและสภาพแวดล้อมการทำงาน ฯลฯ ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของระดับบุคคลในภาพรวม และต่อเนื่องไปยังระดับโครงสร้างในการพัฒนาประเทศ
และเป็นไปตามการคาดการณ์ของ ดร.ศิริเชษฐ์ สังขะมาน ตัวแทนจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯหัวเรือใหญ่ในเรื่องนี้ ที่เคยกล่าวไว้ว่าจะเริ่มเห็นผลของการดำเนินงานในช่วงครึ่งปี ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ จากระยะเวลา 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่งที่ได้กำหนดแผนไว้ ขณะที่การเดินสายถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องแฮปปี้ เวิร์กเพลส (Happy Workplace) ให้องค์กรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ จนเกิดเป็นการร่วมลงนามความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาองค์กรสุขภาวะภาครัฐ ใน 17 หน่วยงานหลักของปีที่แล้ว ยังได้เพิ่มมาเป็น 22 องค์กรสุขภาวะภาครัฐต้นแบบในปีนี้
โดยผลสำเร็จหนึ่งตัวอย่าง ที่เห็นชัดว่าแผนงานสร้างเสริมคุณภาพชีวิตการทำงานองค์กรภาครัฐเดินมาถูกทางแล้ว คือโครงการ "HappyStation"เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตพนักงาน ของ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 1 ใน 22 องค์กร ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ และลงมือทำวิจัยทันทีที่ได้เซ็น MOU เพื่อให้ได้มาซึ่งวิธีสร้างสุขในแบบตนเองที่เข้ากันได้กับองค์กร
"การสร้างสุขให้พนักงานต้องทำด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย การออกแบบองค์กรแห่งความสุขจึงเป็นบรรยากาศของการเรียนรู้ ชื่นชมผลงานกันและกัน ไม่ใช่เพื่อความสนุกเฮฮาเพียงอย่างเดียว และจุดเด่นของเราคือการนำ 4 งานวิจัยมาสร้างความสุขบุคลากร" ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผอ.เนคเทคอธิบายให้คนที่ไปเยี่ยมชมโครงการแฮปปี้ สเตชั่น ได้ฟังเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
ทั้งนี้แต่ละงานวิจัยที่สร้างความสุขแก่คนทำงานของเนคเทค ยังมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ทั้ง Sensor วัดความชื้นในดิน ที่นำมาประยุกต์ใช้ในโครงการสถานีผัก เปลี่ยนพื้นที่ดาดฟ้าเป็นแปลงต้นอ่อนทานตะวันเพื่อสุขภาพ หรือจะเป็น My Act แอพลิเคชั่นตรวจวัดกิจกรรมรายวันส่วนบุคคล โดยเฉพาะผู้ที่นั่งทำงานอยู่กับโต๊ะ ระบบจะให้ข้อมูลปริมาณแคลอรีที่ใช้แต่ละวัน โดยสามารถคำนวณควบคู่ไปกับการใช้ Food i eat แอพพลิเคชั่นคำนวณปริมาณอาหารที่รับประทานแต่ละวัน ช่วยสร้างสุขภาพที่ดีให้กับคนทำงานอย่างแท้จริง สุดท้ายคืองานวิจัยที่กลายมาเป็นเครื่องมือ Size Thailand/e-health มีประโยชน์อยู่ที่ใช้ตรวจและติดตามสุขภาพพนักงานโดยเครื่องวัดองค์ประกอบในร่างกาย
ดร.พันธ์ศักดิ์ กล่าวต่อด้วยว่า เนคเทคสร้างองค์กรแห่งความสุข ภายใต้แนวคิดสถานีความสุข หรือ Happy Station ซึ่งแบ่งเป็น 4 สถานี ตามหลักแฮปปี้ 8 ได้แก่ Green Station ที่มุ่งเน้นไปสู่การเป็น NECTEC Go Green เพื่อเรา เพื่อโลกมีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น โครงการสถานีผัก กิจกรรม 5 ส. สถานีที่ 2 คือ Health Station เปลี่ยนชีวิตใหม่ แข็งแรง สดใส ไร้โรคประกอบไปด้วยกิจกรรม NECTEC RACE เดิน-วิ่งประจำปี หรือ Dance a day fat away เต้นแอโรบิคทุกวันจันทร์พฤหัส สถานีที่ 3 เป็น Learning Station เปิดพื้นที่เรียนรู้ ผสานพลังสร้างสรรค์ งานลื่นไหล ใจเบิกบาน เสริมสร้างกิจกรรม ชุมชนนักปฏิบัติ Living – Learning Spaces สถานีสุดท้ายคือ Sharing Station สถานีแห่งการให้ที่เหล่าพนักงานจะสุขใจจากการได้แบ่งปัน กิจกรรมจะเป็นการแบ่งปันความสุขสู่ชุมชน มองใจ มองโลก พบธรรม ซึ่งเป็นการต่อยอดจากองค์ความรู้ "ทักษะการใช้ชีวิต" หรือ Life Skill ทั้ง 8 ประการ โดยผลจากการดำเนินงานภายใต้แนวคิดสถานีแห่งความสุข ทั้ง 4 ฐาน รวมถึงนวัตกรรมจากงานวิจัยทั้ง 4 ที่คิดค้นขึ้นนั้น ทำให้พนักงานตื่นตัวดูแลสุขภาพมากขึ้น และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้องค์กรอื่นอีกด้วย
ด้าน ดร.ศิริเชษฐ์ กล่าวถึงกระบวนการสร้างสุขภาวะให้แก่พนักงานของเนคเทคว่า เนคเทคน่าชื่นชมมากที่เข้าใจกระบวนการสร้างองค์กรแห่งความสุข และประยุกต์เข้ากับองค์กรได้อย่างดี ไม่ใช่แค่ตามกระแส ทั้งนี้ นักวิจัยควรมีสุขภาพกายและใจที่ดี มีเวลาให้ครอบครัว มีบรรยากาศการทำงานที่เหมาะสม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติได้ดียิ่งขึ้น
ส่วน นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. ผู้ริเริ่มองค์ความรู้ด้าน Happy Workplace ในประเทศไทยกล่าวว่า สสส.ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ พร้อมใจร่วมผลักดันยุทธศาสตร์ ที่มุ่งเน้นส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตและความสมดุลของชีวิตและการทำงานของบุคลากรภาครัฐ (Quality of Work Life) โดยกำหนดมาตรการที่เป็นรูปธรรม เช่น จัดสวัสดิการและสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมจากสวัสดิการภาคบังคับตามกฎหมาย นอกจากนี้ ยังร่วมกับภาคีเครือข่ายเพิ่มขีดความสามารถและบทบาทขององค์กรทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ รวมถึงเอกชน ในการพัฒนาสุขภาวะองค์กร ซึ่งตั้งเป้าให้ได้ 4,000 หน่วยงาน และมีแกนนำได้รับการพัฒนาขีดความสามารถสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิต 5,000 คน ภายในปี 2557 นี้
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์