เท่กินผัก..น่ารักกินผลไม้

          โครงการ "เท่กินผัก น่ารักกินผลไม้" เป็นโครงการที่สนับสนุนนโยบายและกรอบยุทธศาสตร์ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในเรื่องอาหารปลอดภัยในโรงเรียน ซึ่งมีเป้าหมาย 10 ปี ในการเพิ่มอัตราการบริโภคผักและผลไม้อย่างเพียงพอ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก คือ 400 กรัม หรือ 12 ช้อนโต๊ะต่อวัน หรือไม่น้อยกว่าร้อยละ 50


/data/content/24186/cms/e_cfmnpqtuwz68.jpg


          ซึ่งในปี 2557 นี้ได้เริ่มส่งเสริมให้นักเรียนในโรงเรียนได้กินผักผลไม้ที่สะอาด ปลอดภัยจากสารพิษ และถูกต้องตามโภชนาการ เพื่อให้ได้รับสารอาหารและวิตามิน ที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตทางร่างกายและสมองครอบคลุม 88 โรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขยายโอกาส ในเขตพื้นที่การประถมศึกษา ภาคอีสาน 7  จังหวัด ได้แก่สกลนคร อุดรธานี เลย ยโสธร อุบลราชธานี สุรินทร์ และบุรีรัมย์


          โครงการชื่อสุดเท่นี้จะมอบให้โรงเรียนแต่ละแห่งคิดโครงการขึ้นเอง หรือหากโรงเรียนไหนมีโครงการที่ดีๆ และใกล้เคียงเป็นทุนเดิมอยู่แล้วก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้ทันที ซึ่งกิจกรรมหลักๆ จะมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินผักและผลไม้การสร้างศักยภาพกลุ่มแกนนำตัวอย่าง การจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่เอื้อต่อการกินผักและผลไม้ และที่สำคัญคือการสร้างแกนนำผู้ปกครองและชุมชน ให้เป็นแหล่งผลิตผักและผลไม้ปลอดสารพิษสู่สถานศึกษา โดยกิจกรรมเหล่านี้จะมี "ครู" ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงหลักซึ่งในระยะแรกนี้อาจจะเหนื่อยหน่อย เพราะต้องให้ความรู้เรื่องโภชนาการแก่เด็กๆ เพื่อบอกต่อไปยังพ่อแม่ ผู้ปกครอง ส่วนปีต่อๆไปก็มุ่งสร้างความนิยมกินผักและผลไม้มากขึ้น และขยายสู่ครอบครัวของนักเรียนและชุมชน


/data/content/24186/cms/e_bcfgknvwxz28.jpg


          คุณปัทฐานันท์ จันทรพิมพ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกสะอาดศรีบูรพา อ.เมือง จ.อุดรธานี หนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ "เท่กินผัก น่ารักกินผลไม้" กล่าวว่าแต่เดิมโรงเรียนทำเศรษฐกิจพอเพียง อยู่ก่อนแล้ว เราเน้นเรื่องการปลูกผักและการเพาะเลี้ยงเห็ดและสนับสนุนให้นักเรียนกินผัก เราจึงนำมาประยุกต์ให้เข้ากับโครงการรณรงค์กินผักและผลไม้ ภายในกิจกรรมของโรงเรียนประกอบด้วย การปลูกผัก การเพาะเลี้ยงเห็ด เพื่อนำมาใช้ในโครงการอาหารกลางวันสำหรับเด็กระดับอนุบาลจนถึง ป.6 เท่านั้น


          ส่วนชั้นมัธยมจะต้องซื้อทานเองที่โรงอาหาร ซึ่งในส่วนนี้เราได้ขอความร่วมมือกับพ่อค้าแม่ค้าให้คัดเลือกวัตถุดิบที่นำมาปรุงเป็นเมนูอาหาร หรือนำผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการมาขายกับเด็กนักเรียน ทั้งยังกำชับกับครูเวรและครูประจำชั้นในการให้ความรู้เกี่ยวกับการกินผักผลไม้และทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ส่งเสริมโภชนาการทุกรูปแบบในส่วนน้ำอัดลมก็ไม่ให้มีขายในโรงเรียน


 


          ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

Shares:
QR Code :
QR Code