‘เทิดไทย’ ชุมชนต้นแบบโภชนาการยั่งยืนเพื่อ นร.

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


'เทิดไทย' ชุมชนต้นแบบโภชนาการยั่งยืนเพื่อ นร. thaihealth


'เทิดไทย' ชุมชนต้นแบบอาหาร-โภชนาการยั่งยืนเพื่อนักเรียน


ปัจจุบันเด็กไทยอยู่ในสภาวะที่มีความเสี่ยงในด้านโภชนาการและการขาดสารอาหาร โดยเฉพาะเด็กในพื้นที่ชายขอบ ซึ่งมีกลุ่มเยาวชนชนชาติพันธุ์อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญและขาดการสื่อสารที่ถูกต้อง สิ่งที่ตามมาคือปัญหาทางด้านสุขภาพและพัฒนาการที่ไม่สมวัย เนื่องจากแหล่งที่มาของอาหารไม่เพียงพอ รวมไปถึงพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ


เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้นำทีมลงพื้นที่ในโครงการ "พัฒนาตำบลต้นแบบการสร้างสุขภาวะทางอาหารและโภชนาการ" ที่ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เพื่อร่วมสนับสนุนผลักดันการสร้างตำบลต้นแบบในโรงเรียน เพื่อใช้ในศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาสุขภาวะทางโภชนาการของเด็กนักเรียน


อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. และที่ปรึกษากรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันในพื้นที่ชายขอบของประเทศไทยมีกลุ่มคนหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่จำนวนหลายกลุ่ม เช่น อาข่า ลาหู่ จีนยูนนาน ไทยใหญ่ ม้ง ลีซอ มูเซอ และลัวะ  ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ทั้งมีสัญชาติและไม่มีสัญชาติ จึงไม่มีโอกาสได้รับในเรื่องสิทธิต่างๆ ที่ควรจะได้รับ รวมไปถึงขาดความรู้ที่จะใช้ดำรงเลี้ยงชีพ ส่งผลให้มีรูปแบบชีวิตตามมีตามเกิดมาตลอด


รวมถึงยังมีปัญหาที่เกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องประโยชน์หรือโทษจากอาหารที่รับประทานเข้าไป เช่น ครอบครัวที่มีคนตั้งครรภ์ การได้รับอาหารที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะสารอาหารที่ได้รับย่อมส่งผลต่อการตั้งครรภ์และพัฒนาการของเด็กที่เกิดมาด้วย


'เทิดไทย' ชุมชนต้นแบบโภชนาการยั่งยืนเพื่อ นร. thaihealth


อาจารย์สง่า อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งทางด้านสุขภาวะทางอาหารและโภชนาการในเด็กในพื้นที่นี้ สสส.จึงได้ลงพื้นที่สนับสนุน ส่งเสริมและร่วมขับเคลื่อนร่วมกับ ต.เทิดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย มาเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยมีนโยบายดังนี้ 1.ส่งเสริมให้มีการผลิต อาหารในพื้นที่สะอาดและปลอดสารพิษ เพื่อชดเชยการนำเข้าอาหารจากที่อื่น เนื่องจากเราไม่สามารถทราบถึงแหล่งที่มาได้ชัดเจน และไม่แน่ใจว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ 2.จัดหาบุคลากรที่มีความรู้มาให้ความรู้เรื่องหลักโภชนาการและการเลือกรับประทานอาหาร เพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนของสุขภาวะที่ดี และลดปัญหาการขาดสารอาหารในเด็กได้ 3.ร่วมจัดตั้งตำบลสุขภาวะ เพื่อเป็นแหล่งความรู้ด้านโภชนาการ อันมีเป้าหมายในการเข้าไปแก้ไขปัญหาด้านอาหารและสุขภาวะที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อายุ 3-6 ปี จำนวน 18 ศูนย์ และโรงเรียนขยายโอกาส อายุ 7-14 ปี ในระดับประถมศึกษา จำนวน 5 แห่ง พร้อมทั้งน้อมนำศาสตร์พระราชา เรื่องการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ให้เกิดความยั่งยืนทางอาหาร เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี ลดปัญหาการขาดสารอาหารในเด็ก และมีภูมิคุ้มกันด้านโภชนาการที่ดีขึ้น


ด้าน อาจารย์พันธวัช ภูผาพัฒนาการ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า เรื่องโภชนาการอาหารของเด็กไม่ได้ดูแค่เรื่องที่เด็กขาดสารอาหารมากน้อยเพียงใด แต่ต้องเติมเต็มในเรื่องวิถีชีวิตชุมชน และศึกษาพฤติกรรมการจัดหาอาหารของผู้ปกครองและของชุมชน เช่น เด็กมาโรงเรียนได้รับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบ แต่เมื่อกลับไปบ้านเราจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้ปกครองจัดหาอาหารแบบไหนมาให้เด็ก หรือมื้อเช้าก่อนมาโรงเรียน เด็กรับประทานอะไร ควรให้ความสำคัญกับอาหารของเด็กด้วย และรวมไปถึงการลดหวาน เค็ม และของทอด


ที่สำคัญคือการพูดโน้มน้าวให้เด็กรับประทานผักและผลไม้ ซึ่งสิ่งที่โรงเรียนจัดหาอาหารให้นั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ดังนั้นการส่งเสริมแค่เรื่องการรับประทานอาหารคงไม่พอ ต้องส่งเสริมในด้านการประกอบอาหาร หรือตั้งแต่การหาส่วนประกอบของอาหารที่ปลอดภัยด้วย


นักวิชาการอิสระ ยังกล่าวต่อว่า สสส.จึงลงพื้นที่เพื่อศึกษาความเป็นอยู่ของนักเรียนตั้งแต่วัยก่อนอนุบาลที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อดูอาหารที่เด็กรับประทานแต่ละวันว่ามีประโยชน์และสารอาหารครบถ้วนหรือไม่ รวมไปถึงเรียนรู้เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทยใหญ่และอาข่า เพื่อค้นหาวัฒนธรรมด้านอาหารโภชนาการและสุขภาวะของชาติพันธุ์ ร่วมประชุมกับหน่วยงานและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาทางโภชนาการด้วยมิติวัฒนธรรมของชาติพันธุ์สู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งมีโอกาสได้เยี่ยมชมกิจกรรมของโรงเรียนสามัคคีพัฒนา เพื่อดูวิธีการปรุงอาหาร พร้อมทั้งดูแหล่งที่มาของอาหารในโรงเรียน เพื่อให้ถูกหลักโภชนาการและเกิดประโยชน์สูงสุด


'เทิดไทย' ชุมชนต้นแบบโภชนาการยั่งยืนเพื่อ นร. thaihealth


นายเนียร เชื้อเจียดตน ผู้อำนวยการโรงเรียนสามัคคีพัฒนา ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า โรงเรียนเป็นโรงเรียนประจำ ยกเว้นระดับชั้นอนุบาลที่ไป-กลับ มีเด็กหลายชาติพันธุ์มาศึกษา ปัจจุบันมีนักเรียนเพิ่มจำนวนมากขึ้นถึง 637 คน ซึ่งถือได้ว่าเป็นโรงเรียนขยายโอกาสขนาดกลางที่มีระดับชั้นตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 สำหรับการเดินทางมาโรงเรียนค่อนข้างลำบาก นักเรียนส่วนใหญ่เดินเท้ามา ระยะทางตั้งแต่ 2-6 กิโลเมตร นักเรียนที่เดินมาส่วนมากจะนำข้าวจากที่บ้านมาเพิ่ม เนื่องจากต้องใช้พลังงานในการเดินทางไกล และนักเรียนส่วนหนึ่งก็กินอาหารของโรงเรียนปกติ


"นักเรียนจะได้ค่าอาหารกลางวันเฉลี่ยแล้ว 20 บาท/คน ซึ่งไม่เพียงพอแน่นอน ดังนั้นทางโรงเรียนจึงศึกษาหาแนวทางการแก้ปัญหา โดยมีจุดประสงค์คือต้องการให้นักเรียนรับสารอาหารเพียงพอ และสามารถลดปัญหาด้านการขาดสารอาหารได้ โดยการหันมาใช้แนวทางตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 สิ่งแรกที่ทำคือเปลี่ยนพื้นที่รกร้างหลังโรงเรียนด้วยการตัดหญ้า ปรับระดับหน้าดิน ขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ สร้างโรงเรือนเพื่อเลี้ยงไก่, จิ้งหรีด ขุดดินทำแปลงผัก รวมถึงใช้ยางรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้วปลูกต้นเก๊กฮวย โดยให้ครูและเด็กในโรงเรียนร่วมกันรับผิดชอบตามช่วงชั้น ในระดับชั้นอนุบาลจะให้ปลูกผักง่ายๆ เช่น ผักกาดดอย รดน้ำผัก พรวนดิน"


"ส่วนระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะมีเวรสลับวันให้อาหารสัตว์ รวมถึงทำน้ำหมักชีวภาพจากเศษอาหารที่เหลือมาฉีดพ่นแทนสารเคมี ผลผลิตที่ได้จึงปลอดภัย ไร้สารพิษ ซึ่งสามารถนำมาประกอบอาหารกลางวันให้นักเรียนได้ถูกหลักอนามัย นักเรียนจะไม่มีสภาวะขาดสารอาหาร หรือเป็นโรคอ้วน เพราะไม่ใช้กระบวนการทอด และรสชาติไม่จัด ส่วนผลผลิตอีกส่วนหนึ่งนำไปขายและนำรายได้มาสมทบทุนค่าอาหารกลางวัน การทำกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ ทางโรงเรียนจะสอดแทรกวิธีการสอนเรื่องขั้นตอนการทำ และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้นักเรียนทุกครั้ง เพื่อให้เกิดความรัก ความหวงแหนในแผ่นดิน และสามารถนำไปประกอบอาชีพ เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้สืบเนื่องไป" ผู้อำนวยการโรงเรียนสามัคคีพัฒนากล่าว


เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องอาหารและโภชนาการให้กับเยาวชนในพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน และหากได้รับความสำเร็จก็จะมีการนำไปขยายเป็นโมเดลต้นแบบในพื้นที่อื่นๆ อันเป็นการเติมเต็มให้เยาวชนของชาติเป็นบุคลากรที่มีร่างกายแข็งแรงต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code